ใช้ ‘ปัญญา’ ประดิษฐ์ สมดุลชีวิต ไปกับ ‘แท็ป-รวิศ หาญอุตสาหะ’

คอลัมน์ "The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด" ชวนพูดคุยกับ แท็ป-รวิศ หาญอุตสาหะ ผู้บริหารจากศรีจันทร์และ Mission To The Moon ผู้ที่มีมุมมองเฉียบคมและเป็นที่ยอมรับในแวดวงธุรกิจ เกี่ยวกับการบริหารทีม การสร้างสมดุลในการทำงาน และการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทคโนโลยีเอไอเข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้น
ในยุคที่ "เส้นแบ่ง" ระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงานเริ่มเลือนราง คำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง "ผู้บังคับบัญชา" และ "ผู้ใต้บังคับบัญชา" กลายเป็นประเด็นร้อนที่หลายคนกำลังพยายามคำตอบ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งงานในวันหยุด การใช้แอปพลิเคชันไลน์ในที่ทำงาน หรือแม้แต่คำถามใหม่ล่าสุดที่ว่า เมื่อเอไอเข้ามาเป็นผู้ช่วยในการทำงาน หัวหน้าควรคาดหวัง "ปริมาณงาน" ที่มากขึ้นจากพนักงานหรือไม่?
เพื่อหาคำตอบให้กับข้อสงสัยเหล่านี้ คอลัมน์ "The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด" ได้พูดคุยกับ แท็ป-รวิศ หาญอุตสาหะ ผู้บริหารจากศรีจันทร์และ Mission To The Moon ผู้ที่มีมุมมองเฉียบคมและเป็นที่ยอมรับในแวดวงธุรกิจ เกี่ยวกับการบริหารทีม การสร้างสมดุลในการทำงาน และการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทคโนโลยีเอไอเข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้น
เล่าให้ฟังได้ไหมว่าตั้งแต่เช้าจรดเย็นทำอะไรบ้าง กิจวัตรประจำวันเป็นอย่างไร
ตื่นเช้ามาพยายามออกกำลังกาย ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก แม้บางวันจะขี้เกียจ แต่ส่วนใหญ่พยายามทำให้ได้นิดหน่อย อีกอย่างตอนเช้ามักจะทำงานที่ต้องใช้สมาธิเยอะหรืองานยากๆ เพราะหัวสมองยังใสอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านสัญญา หรืออ่านเอกสารที่จำเป็นต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้ง รวมถึงการคุยกับคนสำคัญๆ หรือเรื่องยากๆ ก็จะพยายามจัดไว้ตอนเช้า
หลังเที่ยงเป็นธรรมชาติที่พลังงานจะลดลง ก็จะทำงานที่มีความสำคัญน้อยกว่า เช่น ประชุมเรื่องทั่วไป คุยเรื่องที่ไม่หนักมาก อ่านอีเมล หรืออัดรายการ ซึ่งไม่ได้ใช้พลังงานมาก ผมคิดว่าอัดรายการช่วงบ่ายๆ มีแขกมาร่วมรายการไม่เหนื่อยเลย สนุกสนานด้วยซ้ำ
ตอนเย็นถ้าไม่มีอะไรก็พักผ่อน แต่ส่วนใหญ่มีกินข้าวเย็นเกือบทุกวัน เป็นช่วงเวลาที่ได้คุยกับคนที่อยากเจอ พออายุมากขึ้น เป็นธรรมดาที่เราต้องรักษาเน็ตเวิร์ค มีคนจำนวนมากที่เราจำเป็นต้องพบเพื่อรักษาความสัมพันธ์ เรื่องบางเรื่องต้องพบเจอคุยกันต่อหน้า ไม่เจอก็ไม่ได้ ในหนึ่งสัปดาห์ วันธรรมดา 5 วัน มีดินเนอร์ธุรกิจอย่างน้อย 3 วัน
แล้วในฐานะผู้บริหารมองว่าตัวเองเป็นผู้นำแบบไหน
ถ้าถามถึงสไตล์การบริหาร ผมเป็นคนที่พยายามคุยกับทีมงานเพื่อหามุมมองร่วมกันว่าช่วงนี้เราควรทำอะไรกับองค์กร แล้วก็หาจุดร่วมที่ทุกคนแฮปปี้ พออยู่กันได้ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะแฮปปี้หรอก มันก็มีคนไม่แฮปปี้ด้วย แต่พออยู่ร่วมกันได้ (ยิ้ม)
ในมุมมองของพี่แท็ป คุณสมบัติอะไรสามอย่างที่จำเป็นสำหรับผู้นำในยุคนี้
อย่างแรกคือต้องมี empathy ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำยากมาก เราต้องเข้าอกเข้าใจคนอื่น รวมถึงเข้าใจตัวเอง รู้จักตัวเองว่าเป็นอย่างไร ต้องมี empathy กับตัวเองด้วย ยอมรับว่าเรามีจุดอ่อนตรงไหน การยอมรับจุดอ่อนเป็นจุดเริ่มต้นของการพยายามจัดการกับมัน
นี่เป็นข้อแรกที่ผมคิดว่าสำคัญ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว เราต้องพยายามทำความเข้าใจคนอื่นมากๆ มนุษย์เรายากที่จะมองจากมุมคนอื่น เพราะเป็นทักษะที่ต้องฝึก แต่พยายามฝึกบ่อยๆ มันก็จะดีขึ้น
อย่างที่สอง ผู้นำยุคนี้ต้องทำให้การเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงาน การเรียนรู้สิ่งใหม่ เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเยอะ ผู้นำมีหน้าที่คิดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงและจินตนาการว่าความเปลี่ยนแปลงนี้จะนำมาซึ่งอะไรในอนาคต เราจะไปอยู่ตรงนั้นได้อย่างไร เราจะขายของให้ใคร ลูกค้าเราจะเป็นอย่างไร มันเป็นจินตนาการชนิดหนึ่ง แต่เราต้องเชื่อเรื่องนี้ก่อน มันถึงจะเกิดขั้นตอนพวกนี้ขึ้นได้
ข้อสุดท้ายผมคิดว่าผู้นำต้องบริหารจัดการตัวเองได้ดี ในที่นี้คือบริหารจัดการอีโก้ของตัวเอง จุดบอดของตัวเอง ความเครียดต่างๆ ให้ได้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว มันจะเป็นสิ่งที่มากระทบกับทุกคน ยิ่งเราอยู่บนพีระมิดสูงเท่าไหร่ ผลกระทบของการกระทำหนึ่งของเรา จะกว้างมากขึ้นเท่านั้น
ในทางตรงกันข้าม แล้วลูกน้องในอุดมคติของพี่แท็ปต้องมีลักษณะอย่างไร
ผมมักใช้คำว่าเขาต้องเป็นคนที่มีความกระตือรือร้น อยากเรียนรู้ เป็นคนที่ยกมือขอทำงาน คนกระตือรือร้นทำงานสำเร็จเสมอ ซึ่งแนวคิดนี้มาจากพี่โจ้ (ธนา เธียรอัจฉริยะ) และผมก็เห็นด้วย
มีคน 2 แบบบนโลกนี้ คนที่ทำงานเสร็จคือทำตามที่สั่ง สมมติบอกให้ส่งอีเมลแจ้งลูกค้า เขาก็ส่งอีเมลแล้วบอกว่าเสร็จแล้ว จบ แต่คนที่ทำงานสำเร็จจะส่งอีเมลแล้วโทรไปหาลูกค้าด้วยว่าได้รับอีเมลหรือยัง เข้าใจหรือไม่ว่าต้องทำอะไรบ้าง ถ้าไม่เข้าใจก็อธิบายให้ฟัง นี่คือคนที่ทำงานสำเร็จ
ลูกน้องเก่งไม่เก่ง อันนี้ผมไม่รู้ แต่ผมคิดว่าเรื่องทำงานเสร็จกับทำงานสำเร็จสำคัญมาก ต้องเป็นคนแบบนี้ งานจะเดินไปในแบบที่ควรจะเดิน สองคนนี้ไม่ได้ใช้เวลาทำงานต่างกันมาก แต่มันคือ mindset หรือ mentality ของคน
ลักษณะลูกน้องแบบไหนที่เป็น red flag ไม่ควรรับทำงาน
เป็นตัวอย่างเฉยๆ นะ ผมคิดว่า คนที่ดูพูดเยอะเกินไป เล่าอะไรยาวเกินไปแต่ฝีมือดีอาจจะเป็น red flag
เรื่องพูดเยอะเป็นปัญหาใหญ่ไหม บางคนอาจตอบว่าไม่เป็นไร แค่ต้องทนฟังเยอะหน่อย ในขณะที่ผู้บริหารบางท่านอาจมองว่า คนพูดยาวเกินไปแปลว่าเรียบเรียงความคิดไม่ได้ การตัดสินใจงานสำคัญอาจจะลำบาก
มองเรื่องการสั่งงานลูกน้องในวันหยุดผ่านไลน์ยังไงบ้าง
เรื่องนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อน (นิ่งคิด...)
อย่างแรกต้องบอกว่า ผมไม่ใช้ไลน์ทำงาน เพราะไลน์เป็นเรื่องส่วนตัว เราใช้เครื่องมืออื่น เช่นไมโครซอฟท์ ทีม ซึ่งตั้งเวลาได้ ถ้าผมนึกออกหรือไม่ลืม ก็จะพิมพ์แล้วตั้งเวลาให้ส่งไปเช้าวันจันทร์ นอกจากบางคนที่ผมรู้ว่าไม่เป็นไร ก็จะส่งเลย แต่ส่วนใหญ่จะตั้งเวลาและส่งไปเช้าวันจันทร์
ส่วนอีเมล ผมถือว่าใครไม่อยากเปิดก็ไม่ต้องเปิด บางครั้งผมเองก็ไม่ได้เช็คอีเมล 2-3 วันเพราะงานยุ่งมาก จำเป็นต้องเช็คอีเมลในวันเสาร์อาทิตย์ ก็จะส่งอีเมลในวันเสาร์อาทิตย์บ้าง แต่เราตกลงกันแล้วว่าอีเมลวันเสาร์อาทิตย์ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว มันคืองานของบริษัท ดังนั้นจะเปิดอ่านวันจันทร์ก็ได้
แน่นอนว่ามีคนที่อ่านแล้วตอบกลับมา ซึ่งแล้วแต่เขา ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมจะให้ฝ่ายบุคคล คอยเช็คฟีดแบคของพนักงานอยู่เสมอว่ารู้สึกหนักไปหรือไม่เพราะผมรู้ตัวว่าต้องทำงานทุกวัน จึงไม่รู้สึกถึงเรื่องนี้ แต่คนอื่นไม่ได้เป็นแบบนั้น ผมต้องพยายามเข้าใจในมุมนี้ของคนที่ทำงานด้วย
ทุกวันนี้หลายแอปฯ สามารถตั้งเวลาได้ ผมเข้าใจเรื่องพื้นที่ส่วนตัว ถ้าเป็นไปได้ ก็ควรเคารพพื้นที่ส่วนตัวของน้องๆ โดยเฉพาะวันหยุดเสาร์อาทิตย์ จะทำให้อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจกันมากขึ้น
แต่หัวหน้าบางคนชอบไลน์เพราะเข้าถึงพนักงานตลอดเวลา มองเรื่องนี้ยังไง
เรื่องเข้าถึงพนักงงานได้ง่ายเดี๋ยวผมจะพูดถึง แต่อย่างแรกผมมองว่า ควรเลิกใช้ไลน์ในการทำงานอย่างมาก
มี 2 เหตุผล หนึ่งคือเรื่องความปลอดภัย เวลาทำงานในไลน์ ไม่มีแอดมิน เราไม่สามารถเป็นแอดมินได้ สมมติใครลาออกไปเขายังอยู่ในกรุ๊ป เราอาจไม่รู้ถ้ากรุ๊ปใหญ่ แต่ถ้าเป็นเครื่องมืออื่นที่มีแอดมิน ทันทีที่คนลาออก เราปิดการใช้งานเขา เขาก็หายจากทุกกรุ๊ปหมด ไม่สามารถเข้าถึงได้
สองคือเรื่องไฟล์ ถ้าเป็นเครื่องมืออื่น ไฟล์จะเก็บได้นานและสามารถกลับมาเข้าถึงได้ เปิดไฟล์ได้ ฟังก์ชันค้นหาได้ เป็นเรื่องความปลอดภัย ซึ่งสำหรับผมแค่เรื่องนี้ก็คุ้มค่ากับการลงทุนแล้ว เพราะความปลอดภัยเป็นเรื่องใหญ่มาก
ส่วนเรื่องความเป็นส่วนตัวของพนักงาน ไลน์ใช้สำหรับเรื่องส่วนตัว เวลาไลน์งานเด้ง มันอดไม่ได้ที่จะกดดูเพราะอยู่ติดกัน ทำให้คนรู้สึกไม่ได้พัก ซึ่งไม่ค่อยดีต่อสุขภาพและคุณภาพของงานในระยะยาว
ถ้าใช้เครื่องมืออื่น วันไหนไม่อยากดูเพราะเป็นวันหยุด ก็สามารถปิดและไม่ดูเลย ปิดการแจ้งเตือน ไว้ดูวันจันทร์ ผมรู้สึกว่ามันช่วยให้คนสร้างสมดุลได้ง่ายกว่าในยุคที่การสร้างสมดุลยากขึ้นทุกที เราคุ้นเคยจากช่วงโควิดที่ทุกคนทำงานออนไลน์ สิ่งนี้ช่วยได้สำหรับองค์กรที่คำนึงถึงเรื่องนี้
เวลามีคนถามเรื่องใช้ไลน์ในการทำงาน ผมตอบเสมอว่าไม่ควรใช้ แม้กระทั่งต่อหน้าผู้บริหารไลน์ ผมก็พูดเลยว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้ไลน์ทำงาน เพราะรู้สึกว่ามันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการทำงาน เครื่องมืออื่นถูกออกแบบมาเพื่อการทำงานมากกว่า และแค่เรื่องความปลอดภัยอย่างเดียวก็เป็นเหตุผลที่ควรเปลี่ยนแล้ว
อยากให้ผู้บริหารทุกท่านมองว่า เราควรเข้าถึงพนักงานได้ในเวลาที่เหมาะสมคือเวลาทำงาน ไม่ใช่ใช้ไลน์เพราะทักไปหาลูกน้องได้ตลอดเวลา ถ้าด่วนจริงๆ เรายังมีโทรศัพท์
ผมคิดว่ากฎกติกาควรเป็นแบบนี้ อีเมลมีระยะเวลาตอบในเวลาทำงาน คือภายใน 24 ชั่วโมง ถ้าอีเมลถึงเรา 9 โมงเช้า ตอบภายใน 9 โมงเช้าวันพรุ่งนี้ถือว่ายังไม่ช้า แต่ถ้าเว้นไป 3 วันแล้วตอบ ถือว่าช้าไป
ส่วนแชท ไม่ใช่ไลน์นะ คือแชทอื่นๆ ให้เวลา 3 ชั่วโมง สมมติเราส่งหาใครสักคน อย่าคาดหวังว่าเขาจะตอบทันที ให้เวลาเขาได้เต็มที่ 3 ชั่วโมง นี่คือมารยาทคนทั่วไป ไม่มีใครบอกชัดเจน แต่เป็นสิ่งที่คนปฏิบัติกัน 3 ชั่วโมงหมายความว่าถ้าเขาตอบภายในเวลานี้ ถือว่าเขาอยู่ และถ้าหัวหน้ามีเรื่องด่วนจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเวลาไหน เรามีโทรศัพท์ซึ่งใช้ได้ บางคนลืมไปแล้วว่าเรามีเบอร์โทรศัพท์กัน และสามารถโทรหาได้ เวลามีคนโทรมาหาผม ผมจะรู้ทักทีว่านี่เป็นเรื่องด่วน
ผมว่าถ้าเรารักษาขอบเขตเรื่องแบบนี้ได้ เราก็จะทำงานสบายใจ น้องเราก็จะรู้ว่าถ้าเจ้านายยังไม่โทรมา แปลว่ายังไม่ด่วนมาก เดี๋ยวค่อยตอบแชทได้ การทำงานของคนไม่จำเป็นต้องวัดที่เวลา ขอให้ในเวลาที่เขาต้องทำงาน เขาทำให้ดี ผมว่าแค่นั้นก็พอแล้ว
ช่วงนี้เห็นพี่แท็ปโพสต์เรื่องเอไอเยอะมาก มันเข้ามาเปลี่ยนชีวิตการทำงานเรายังไงบ้าง
ตอนแรกๆ รู้สึกว่ามันน่าตื่นเต้นดี ตอนนี้เริ่มกลัวแล้ว (หัวเราะ)
กลัวในที่นี้คือใช้คำว่ากังวลแล้วกัน มันเก่งขึ้นเยอะจริงๆ วันนี้บอกได้เลยว่าเอไอหลายๆ ตัว อย่างผมใช้ Claude เยอะ Claude 3.7 เวอร์ชั่นใหม่เพิ่งปล่อยออกมาให้ใช้ไม่กี่วันก่อน
ถ้าจะรายการ ผมคิดว่าความสามารถในการทำสคริปต์เก่งกว่าคนแล้ว เก่งกว่าผมทำเองแล้ว ไม่พูดถึงคนอื่นนะ เทียบกับตัวเอง เวลาผมทำสคริปต์เรื่องยาวๆ เช่นเมื่อวันก่อนทำสคริปต์เรื่องเครื่องบิน ต้องหาข้อมูลจาก 3 แหล่งมาอ่าน ขีดเขียน จับมารวมกัน แล้วสรุปเป็นภาษาตัวเอง แต่ตอนนี้เราสามารถโยนไฟล์ทั้ง 3 อันนั้นเข้าไปให้มันเขียนสคริปต์ใหม่ แปลเป็นไทยเสร็จ ทำมาร์กเกอร์เวลาให้เลย ซึ่งเนียบกว่าคนทำแล้ว
ใช้คำว่า "แล้ว" เพราะก่อนหน้านี้ยังไม่เป็น เวอร์ชันนี้เนียบกว่าคนทำ เนียบมาก เนียบจริงๆ ถ้าเราตกใจและกลับไปตรวจสอบว่ามั่วหรือเปล่า ก็พบว่าไม่มั่ว ทุกอย่างมีที่มาที่ไป อ้างแหล่งข้อมูลเท่าที่เราโยนเข้าไปจริงๆ ไม่คิดเอง ไม่โผล่ขึ้นมาเอง
ถ้าพูดในเชิงแนวคิด ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มนุษย์สร้างสิ่งที่ฉลาดกว่าเราและส่งมอบให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ ก่อนหน้านี้ สิ่งที่เราสร้างเป็นเครื่องทุ่นแรงทั้งหมด เช่นรถยนต์ ซึ่งไม่ได้ฉลาดกว่าเรา แต่เป็นเครื่องทุ่นแรง เพราะเราวิ่งไม่เร็ว ยกของหนักมากไม่ได้ มีรถยนต์ก็ใส่ของได้ นั่นคือเทคโนโลยีในอดีต
แต่เอไอเป็นครั้งแรกที่มาอยู่ในพื้นที่ของเรา ทำให้เราคุ้นเคยว่ามันมีสมองที่ดีกว่าเราอย่างน้อยในบางเรื่อง จึงน่าเป็นห่วงว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ตอนนี้ผมคิดว่างานไหนที่เอไอทำได้ดีแล้ว อย่าไปแข่ง เพราะสู้ไม่ได้แน่ๆ
อย่างในงานของผม ไม่ใช่แค่การเขียนสคริปต์ มีเยอะมากที่อยู่ในงานที่เราทำทุกวันที่เอไอจะเข้ามาทำแทนเราแน่นอน ผมยกตัวอย่างงานที่เกิดขึ้นเยอะในองค์กรคือการอนุมัติ เช่น การสั่งซื้อของ บางทีต้องลงชื่อกัน 4-5 คน เพราะต้องตรวจสอบหลายอย่าง ตรวจเงื่อนไขต่างๆ อย่างนี้เอไอทำได้แน่นอนในอนาคต เพราะเป็นลอจิกที่ชัดเจน ต้องเช็คว่ามีการประมูล เทียบราคาหรือไม่ ผู้ขายเป็นอย่างไร มีตัวตนจริงไหม เอไอทำได้หมดในไม่ช้า
จริงๆ ทุกวันนี้มันทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่มนุษย์ที่นั่งกันอยู่ไม่ไว้ใจว่าจะทำถูกหรือไม่ วันหนึ่งถ้าเราไว้ใจเอไอมากพอ เหมือนเราไว้ใจเครื่องคิดเลข ไม่เคยมีใครตรวจสอบว่าเครื่องคิดเลขคำนวณถูกหรือไม่ วันหนึ่งถ้าเราไว้ใจเอไอเหมือนที่เราไว้ใจเครื่องคิดเลข งานพวกนี้จะหายไปหมด ไม่จำเป็นต้องให้คนทำแล้วเพราะเร็วกว่า ถูกกว่า ไม่ต้องเสียแรงคน
แล้วจะมีงานลักษณะไหนอีกที่โดนเอไอแทนที่
คำถามนี้น่าสนใจมาก (นิ่งคิด...)
ผมมานั่งคิดถึงงานของผม มีงานแบบนี้เยอะเหมือนกัน เช่น การอ่านสัญญา งานหนึ่งที่ผมใช้เวลาทำเยอะคือการนั่งอ่านสัญญาหรือเอกสารที่มีลักษณะแบบนี้ อีกหน่อยไม่ต้องอ่านแล้ว ให้เอไออ่านเพราะมันเก่งเหมือนจบปริญญาเอกไม่รู้กี่ใบ (หัวเราะ) ในขณะที่เราอาจไม่ได้จบกฎหมาย ต้องมานั่งทำความเข้าใจ งานนี้หายไปหนึ่งอย่าง
งานอนุมัติทุกอย่างไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะเอไออ่านตรวจสอบได้ การนั่งอ่านรายงานต่างๆ ก็อาจหายไปด้วย ต้องถามแล้วจะเหลืออะไร งานเช่น coaching อาจไม่ใช่คนทำงาน งานที่เกี่ยวกับมนุษย์อีกคนหนึ่งนี่ อาจจะยังต้องให้คนทำอยู่
ผมคิดว่าดีมากที่วันนี้เราต้องนั่งคิดถึงงานของเราในอนาคต เราเห็นศักยภาพเอไอแล้ว ทุกคนเห็นด้วยตัวเองในมุมของตัวเอง แต่ละคนใช้ไม่เหมือนกัน คนทำกราฟิก ผมเชื่อว่าก็ต้องรู้สึกกังวลพอสมควร ผมไม่เป็นจึงไม่รู้สึกอะไร แต่คนทำกราฟิกคงจะตกใจเหมือนกัน ส่วนผมทำคอนเทนต์ ก็รู้สึกว่ามันเก่งและน่ากังวลในระดับหนึ่ง
เราต้องมานั่งคิดว่าในอนาคตเราจะมีบทบาทตรงไหน เรื่องนี้สำคัญ ต้องคิดว่าเราเห็นศักยภาพมันประมาณนี้แล้ว มันจะเก่งขึ้นทุกวัน อนาคตอีก 5 ปี จะเป็นอย่างไร แล้วเราออกแบบตัวเองไปตรงนั้น ผมตอบไม่ได้ว่าแต่ละคนจะเป็นอย่างไร เพราะขึ้นอยู่กับตัวเอง แต่สิ่งหนึ่งที่รู้คืองานที่มันเก่ง อย่าไปแข่ง ให้ทำงานที่มันไม่เก่งดีกว่า
สมมติทำอย่างไรให้ลูกค้าชอบเรา เรื่องนี้สำคัญ เวลาเราซื้อของกับใคร เราไม่ได้ซื้อของไปกับคนที่ทำราคาถูกที่สุด บางทีเราซื้อของจากคนที่ทำแพงกว่าแต่เราไว้ใจเขา ชอบเขา รู้สึกว่าไว้เนื้อเชื่อใจได้ ทำอย่างไรลูกน้องจะไว้ใจเรา ทำอย่างไรหัวหน้าจะไว้ใจเรา อาจจะเอาเวลาไปเน้นเรื่องพวกนี้มากขึ้นดีกว่า
ไม่ได้แปลว่าทักษะจะหายไป ผมคิดว่าทักษะบางอย่างอาจจะมีความสำคัญมากขึ้น เช่น การแยกของจริงกับของปลอม การอ่านข่าวแล้วรู้ว่าเป็นข่าวปลอมหรือไม่ เรื่องนี้ยาก เพราะเอไอเขียนอะไรไปเรื่อยๆ ได้ คนอ่านจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นข่าวปลอม ถ้ามีอะไรที่เราจะฝึกก็อาจจะเป็นเรื่องพวกนี้
ผมเชื่อว่าในอนาคต เราจะต้องการคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมากขึ้นไม่ใช่น้อยลง คนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นจริงๆ รู้ลึกมากๆ เราต้องการมากขึ้น บางคนอาจถามว่า แล้วเอไอทำได้ไหม ผมเชื่อว่าต่อให้มันทำได้ เราก็ยังต้องการคนที่รู้จริงๆ เพื่อตอบว่าสิ่งที่เอไอทำมานั้นถูกหรือไม่
ยกตัวอย่างกฎหมาย เอไอสามารถอ่านสัญญาได้ไหม ได้ แต่คุณแน่ใจหรือว่ามันจะอ่านถูกต้อง ต้องมีคนตรวจสอบไหม หรือจะออกแบบกระบวนการอย่างไร ผมตอบไม่ได้ว่าอีก 10 ปีจะเป็นอย่างไร ไม่มีใครรู้ แต่ระยะใกล้ๆ นี้ผมคิดว่าเป็นประมาณนี้ แต่เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงว่าวิธีการทำงานของเรา หรือการที่เรามองโลกต่อจากนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
สุดท้าย ในฐานะหัวหน้า พอมีเอไอเข้ามาช่วยทำงานแล้ว เราต้องการปริมาณงานจากลูกน้องมากกว่าเดิมไหม
ผมมองว่าไม่ต้องให้ใครเรียกร้องจากใคร ตลาดจะเรียกร้องเอง นึกถึงบริษัททั้งบริษัท ไม่ใช่แค่คน บริษัทเคยใช้เวลา 8 ชั่วโมงในการทำงานหนึ่งชิ้น ก็โอเค พอใจที่ได้หนึ่งชิ้น ทีนี้บริษัทมีเอไอ เหลือแค่ 2 ชั่วโมงทำงานหนึ่งชิ้นเสร็จ ถามว่าบริษัทควรหยุดเลยไหม
คำตอบคือคุณจะหยุดก็ได้ แต่คู่แข่งคุณก็มีเอไอเช่นกัน ไม่ใช่คุณมีคนเดียว ถ้าคุณมีคนเดียว มันเป็นอีกเรื่อง แต่คู่แข่งคุณก็มี คู่แข่งคุณก็เหลือ 2 ชั่วโมงทำงานหนึ่งชิ้น แต่เขาทำ 8 ชั่วโมง เขาได้ 4 ชิ้น คุณจะทำงานหนึ่งชิ้นก็ได้ มันตอบด้วยตัวมันเองว่าในที่สุดตลาดจะบังคับให้เรากลับมาทำงานเหมือนเดิมนี่แหละ
ในอนาคตมีคนบอกว่าเราอาจจะว่างขึ้นหรือไม่ ก็เป็นไปได้ แต่ยังไม่ใช่เร็วๆ นี้ ผมเชื่ออย่างนั้น
สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไป มันจะเป็นแบบนี้ คุณมีเวลาว่างมากขึ้น แต่ตลาดบังคับ เพราะคนอื่นเขาทำงาน แต่ถ้าทุกคนสร้างบรรทัดฐานเดียวกัน มีความเห็นเหมือนกันว่าเราจะทำงาน 4 วัน แบบนี้ก็โอเค เราอาจจะว่างมากขึ้น แต่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้