ชมความคิวท์แบบแทบจะ All New ของ “รถไฟ KIHA 183” ที่แปลงโฉมพร้อมลงราง
หลังจากถูกพูดถึงอย่างถล่มทลายตั้งแต่ปลายปีก่อนที่ยังเดินทางมาไม่ถึงไทยด้วยซ้ำ ด้วยคำถามถึงอายุการใช้งานตั้งแต่ปี 1979 พอ "รถไฟ KIHA 183" ปลดระวางแล้วจะยังไปต่อในฐานะรถไฟขบวนใหม่ของไทยได้หรือไม่
มาวันนี้ รถไฟ KIHA 183 (คิฮะ 183) รถไฟดีเซลรางที่ไทยรับช่วงต่อมาจากประเทศญี่ปุ่น แปลงโฉมเสร็จแล้ว และจะพร้อมให้บริการในประเทศไทยเร็วๆ นี้
จากรถไฟมือสองญี่ปุ่น ได้รับการรีโนเวทใหม่ และล่าสุดที่การรถไฟแห่งประเทศเผยโฉม KIHA 183 ฉบับปรับปรุง หลายคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “น่ารักเกินปุยมุ้ย”
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ พาชมความคาวาอี้และประสิทธิภาพที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าหน้าตา แม้จะผ่านกาลเวลามาร่วม 43 ปี
1.ปรับขนาดล้อใหม่
ถึงรางรถไฟของไทยและญี่ปุ่นจะเป็นแบบ Narrow Guage เหมือนกัน แต่มีความกว้างไม่เท่ากัน พอเจ้า "รถไฟ KIHA 183" ย้ายสำมะโนครัวมาไทยก็ต้องปรับขนาดตัวล้อโดยการบีบอัดด้วย Pressing Machine ให้เล็กลงข้างละ 3 เซนติเมตร ต่อด้วยกลึงให้ระนาบเอียงเข้ากับความลาดเอียงของรางรถไฟในประเทศไทย
2.ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ปรับใหม่หมด
นอกจากทีมช่างและวิศวกรของการรถไฟจะตรวจสอบและซ่อมบำรุงเครื่องยนต์และชิ้นส่วนต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานพร้อมใช้งาน ยังมีการเปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่ของเครื่องยนต์, Compressor, เครื่องห้ามล้อ และสายพานในการขับเคลื่อน รวมถึงทำความสะอาดทั้งระบบเพื่อให้ "รถไฟ KIHA 183" โลดแล่นได้เต็มสมรรถนะแม้จะอยู่ในสภาพอากาศร้อนของประเทศไทย
3.ระบบปรับอากาศใหญ่ท้าแดด
เดิมที "KIHA 183" เป็นรถไฟที่ใช้งานในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวและมีหิมะ หลายฟังก์ชันจึงไม่ได้สร้างมาเพื่อรับมือกับอากาศร้อน แต่เมื่อมาท้าทายแดดเมืองไทยที่ได้ชื่อว่าไม่แพ้ชาติใดในโลก ระบบปรับอากาศจึงต้องจัดหนักจัดเต็ม ให้มีขนาดใหญ่ถึง 8 ตัน เพิ่มประสิทธิภาพการทำความเย็นทั้งในห้องขับ, ห้องโดยสาร ที่จะมั่นใจได้ว่าขึ้นรถไฟขบวนนี้แล้วจะเย็นฉ่ำชื่นใจ
4.เตี้ยลง KIHA เตี้ยลง
เมื่อบางส่วนของรถไฟถูกลดขนาดลง ในแง่วิศวกรจึงต้องลดมิติของ "รถไฟ KIHA 183" ลง เช่นการทำให้เป็นไปตามมาตรฐานโครงสร้างบรรทุกของรถไฟ Loading Gauge จึงต้องปรับความสูงของตัวรถให้ไม่สูงเกิน 4.05 เมตร แล้วย้ายโคมไฟจากด้านบนมาติดตั้งด้านหน้ารถ ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้หลายคนโดน KIHA 183 ตกเพราะความน่ารัก รวมถึงประตูขึ้น-ลงก็ปรับให้ใช้งานกับชานต่ำได้
5.สีเดิม OG
เพื่อรักษาเอกลักษณ์ของรถไฟ "KIHA 183" เอาไว้ การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงยังทำสีเดิมคือ ขาว-ม่วง และตัดด้วยแถบเส้นสีเขียว แต่เพิ่มสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยบนพื้นหลังลายภูเขาและทะเลติดอยู่บริเวณหน้ารถ
6.ภายในสะดวกสบายตามสไตล์ญี่ปุ่น
ภายในห้องโดยสารถือเป็นจุดหนึ่งที่ตั้งแต่การรถไฟฯ ได้รับขบวน "รถไฟ KIHA 183" มาแล้วต้องยอมรับว่าสภาพดีมาก อาจด้วยการดูแลรักษาสมบัติสาธารณะของคนญี่ปุ่นหรือการดูแลอย่างดีจาก JR Hokkaido ก็ตาม ทำให้การรีโนเวทภายในขบวนรถค่อนข้างง่าย โดยซ่อมส่วนที่สึกหรอ เพิ่มตัวหนังสือภาษาอังกฤษ เบาะกำมะหยี่ผิวเนียนนุ่มปรับหมุนได้ 360 องศา มีถาดวางอาหารที่ด้านหลังเบาะสำหรับผู้โดยสารที่นั่งด้านหลัง
จากจำนวนรถไฟ KIHA 183 ทั้งหมด 17 คันที่ไทยได้รับมา ตอนนี้มีที่ปรับปรุงแบบแทบจะ All New จนพร้อมใช้ทั้งสิ้น 4 คัน เป็นรถที่มีห้องขับ 2 คัน และรถที่ไม่มีห้องขับ 2 คัน หลังจากนี้จะได้ออกไปทดลองแล่นบนราง โดยเป็นการเก็บข้อมูลสถิติโดยวิศวกร เพื่อจะทำหน้าที่เป็นรถไฟโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวระยะสั้นในระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตร ภายในปีนี้
เตรียมตัวให้พร้อมรับแรงกระแทกจากความน่ารักของรถไฟสุดคาวาอี้KIHA 183 เร็วๆ นี้