“ท่องเที่ยว” แก่งตะนะ....ในสายฝน สวยไปอีกแบบ
"แก่งตะนะ" ถึงจะเป็นอุทยานฯเก่าแก่ แต่คุณไปมาทั่วหรือยัง ถ้ายัง ลองไป “ท่องเที่ยว” ที่ แก่งตะนะอีกที แล้วจะรู้ว่า ที่นี่มีดี นอกจากแก่ง...
สำหรับใครบางคน อาจจะมีความสุขอยู่เพียงการได้มองแม่น้ำโขงที่กว้างใหญ่นำพามวลน้ำมากมายมหาศาลไหลล่องเป็นระยะทางที่ยาวไกล
หิมะที่ละลายจากที่ราบสูงในจีน ไหลล่องลงมาผ่านดินแดนหลายประเทศก่อนออกทะเลที่เวียตนาม จากน้ำหิมะที่ละลายเป็นสีขาวใสสะอาด
ถูกสายน้ำระหว่างเดินทางไหลรวมเป็นสีขุ่นข้น แม่น้ำมูล ก่อเกิดมาจากป่าในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน
แล้วไหลไปรวมตามความลาดเอียงของแอ่งโคราชไปบรรจบกับแม่น้ำโขงที่ อ.โขงเจียม ว่ากันว่า แม่น้ำโขงนั้นจะมีสีขุ่นตลอดปีตลอดชาติ
แต่แม่น้ำมูลนั้น ในฤดูแล้งที่ปริมาณน้ำน้อย น้ำจะออกใส เป็นสีคราม ตรงบริเวณที่แม่น้ำมูลไปบรรจบกับแม่น้ำโขง
จึงเป็นที่มาของแม่น้ำสองสีที่ไหลมาบรรจบกัน เป็นคำคล้องจองบ่งบอกลักษณะเด่นของพื้นที่ว่า “โขงสีปูน มูลสีคราม”
สำหรับช่วงที่มรสุมกำลังโหมเข้าประเทศไทย เช่นขณะที่ผมเดินทาง “ท่องเที่ยว” อีสานตอนล่าง อย่างช่วงต้นเดือนกันยายน ปี 2565 นั้น
ทั้งโขงทั้งมูลล้วนแล้วเป็นสีน้ำป่า ขุ่นข้นและมีปริมาณมหาศาลทั้งสิ้น
แก่งตะนะที่จมหายไปในฤดูน้ำหลาก
ตลอดการเดินทางของแม่น้ำมูล ไหลผ่านแก่งหินทรายหลายแห่ง แต่ที่ดูจะใหญ่โตบริเวณที่เรียกว่า แก่งตะนะ ก่อนที่จะไหลลงแม่น้ำโขงนั่นเอง
ในฤดูแล้งที่ปริมาณน้ำน้อยลง จะปรากฏโขดหินกลางแม่น้ำมูลโผล่พ้นสายน้ำ เมื่อสายน้ำมูลไหลผ่าน "แก่งตะนะ"
จึงเกิดเสียงโครมครามของสายน้ำจนอาจจะหนวกหูสำหรับคนไม่คุ้นชิน แต่ในฤดูน้ำหลากแบบนี้ น้ำมหาศาลกลับท่วมแก่งตะนะจนหมดสิ้น
ใครไม่เคยมา ท่องเที่ยว ที่แก่งตะนะมาก่อน ได้มาครั้งแรกในฤดูฝน จะดูแทบไม่รู้เลยว่าแก่งตะนะรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะจมใต้น้ำไปหมด
บริเวณที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ อ.โขงจียม จ.อุบลราชธานี จะเป็นบริเวณที่ชม "แก่งตะนะ" ได้สวยที่สุดในฤดูแล้ง
และจะตื่นเต้นกับปริมาณน้ำมหาศาลในฤดูฝน ที่สายน้ำมูลตีโอบอ้อมเนินดินที่จนเป็นเกาะกลางแม่น้ำขนาดใหญ่ จนทางอุทยานฯ
ทำสะพานแขวนขนาดใหญ่ ที่ว่ากันว่าเป็นสะพานแขวนที่ยาวที่สุดในบ้านเราเชื่อมสองแผ่นดินให้สัญจรไปมาเหนือแม่น้ำมูลนี้ได้
ความร่มรื่น และมีทัศนียภาพที่สวยงาม ทำให้บริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ
จึงเป็นจุดกางเต็นท์พักแรมที่ชาวเกษียณอายุหรือคนไม่มีภาระทางการงาน น่ามาจอดรถบ้าน พักชมธรรมชาติได้นานๆอีกที่หนึ่ง
ปริมาณน้ำมหาศาลในฤดูฝนที่ท่วมแก่งตะนะจนสิ้น
จุดหมายปลายทาง ณ ถ้ำพระ-ผาผึ้ง
แต่เป้าหมายในการเดินทางไป แก่งตะนะในฤดูฝน ของผมคราวนี้ คือการไปเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ถ้ำพระ-ผาผึ้ง
ซึ่งเมื่อมาช่วงอื่น หรือฤดูกาลอื่นก็ได้ แต่ผมอยากมาเห็นสายน้ำที่ไหลรินซึมแผ่นดินที่เป็นดินทราย แล้วไหลตกลงหน้าผาหินทรายที่ตั้งตระหง่าน
บริเวณ "ผาผึ้ง"
ตัดตรงแบบ 90 องศา เป็นระยะทางยาวร่วม 100 เมตร ถ้าไม่มาช่วงฝนแล้วจะมาช่วงไหนถึงจะเห็น
เส้นทางที่ว่านี้ เริ่มต้นจากลานจอดรถของศูนย์บริการนักท่องเที่ยว จะมีทางสำลอง ที่สามารถนำรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อเข้าไปได้
หรือเดินเล่นๆ ก็ยังได้ ระยะทางถึงผาผึ้ง ที่ไกลสุดไม่เกิน 1.3 กม. ส่วนถ้ำพระนั้นจะถึงก่อน เดินไปราว 800 เมตร ก็ถึงทางแยกลง
ดงดอกเทียนน้อย ระหว่างทาง
สองข้างทางจะเป็นป่าเต็งรัง ป่าไผ่ และลานหิน ในฤดูฝนแบบนี้จะมีดอกไม้ เช่น พวกเทียนน้อย ขึ้นบนลานหินระหว่างทางให้ได้พอแวะถ่ายรูปเล่น
"บีโกเนีย" ที่ขึ้นบนหน้าผา
ถ้ำพระ นั้น เมื่อถึงทางแยกที่มีป้ายหินบอกทางเราจะต้องเดินลงทางปูน ตามขั้นบันไดลงไปราว 30 เมตร พอเลี้ยวขวามือ
ก็จะเห็นหน้าผาหินทรายขนาดใหญ่ ที่มีรากไทรเกาะกุมจนแน่นหน้าผา และมีน้ำหยดอยู่ตลอดเวลา จนทำให้บริเวณนั้นชุ่มฉ่ำ
พืชพรรณนานาชนิดขึ้นกันจนดูเขียวไปหมด เดินลงต่อไปไม่ถึง 10 เมตร ก็จะถึงบริเวณที่เรียกว่า...ถ้ำพระ
หน้าผาหินทรายขนาดใหญ่ที่ตัดตรงอย่างราบเรียบ
"ถ้ำพระ" หรือ ถ้ำภูหมาใน หรือ "ภูปราสาท" เป็นเพิงถ้ำหินทรายขนาดใหญ่ กว้างราว 10x10 ตารางเมตร สูงราว 2 เมตร
ด้านหน้ามีรากไทรและสายน้ำตกลงมา เคยมีการขุดค้นเจอจารึกสมัยโบราณที่นี่ ซึ่งประมาณการว่าคงมีอายุพอๆกับจารึกที่ขุดค้นพบได้
ในบริเวณใกล้หัวเขื่อนปากมูลคือราวพุทธศตวรรษที่ 12 นั่นเอง ที่ ถ้ำพระ นี้กรมศิลปากร โดยสำนักงานโบราณคดีภาค 9 อุบลราชธานี
รากไทรย้อย จุดเริ่มต้นของหน้าผาถ้ำพระ
เคยมาขุดค้น นอกจากจารึกที่ว่าแล้วยังพบพระพุทธรูปทอง พระพุทธรูปเงิน และพระพุทธรูปไม้เป็นจำนวนมาก ทั้งเจอฐานรูปเคารพอีกด้วย
ถ้ำมีร่องรอยการดัดแปลงเป็นโบราณสถานมาก่อน ในถ้ำกรมศิลปากรติดป้ายบอกข้อมูลไว้ ส่วนจารึกนั้น
เดี๋ยวนี้เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์วัดสุปัฏนาราม ในตัวเมืองอุบลฯ ใครสนใจก็ตามไปดูได้
"โต๊ะหินที่ยาวที่สุด"
แล้วก็จะมีทางเดินเลียบเพิงถ้ำไปยังส่วนอื่นได้ ซึ่งอย่างที่บอกว่าเพิงถ้ำนี้เป็นหน้าผาหินทรายขนาดใหญ่ที่ตัดตรงลงมาอย่างราบเรียบ
ทิ้งไว้แต่ร่องรอยของสายน้ำที่เคยกระทำให้ปรากฏร่องรอยบนหิน เพื่อยืนยันว่าหินทรายเป็นหินตะกอนหรือหินชั้นชนิดหนึ่ง ที่มีสายน้ำเป็นตัวกระทำแค่นั้นเอง
น้ำตกตาดโตนที่อยู่ริมทาง ระหว่างอุทยานฯไปเขื่อนสิรินธร
มีสายน้ำหยดย้อยลงมาแทบตลอดแนวหน้าผา บางช่วงมีสายน้ำเล็กๆไหลตกลงมาเป็นน้ำตกเล็กๆ
จึงทำให้บริเวณนี้ร่มรื่น และต้นไม้พืชพรรณขึ้นกันหนาแน่นไปหมด ทั่วบริเวณจะสงบเงียบ นั่งเฉยๆ ก็จะได้ยินแต่เสียงน้ำที่ตกกระทบใบไม้ด้านล่างเท่านั้น
น้ำตกห้วยกว้าง ริมทางจากโขงเจียมไปอุทยานฯแก่งตะนะ
ย้อนกลับขึ้นมาที่ทางแยกก่อนลงบันไดไปถ้ำพระ ถ้าเดินต่อไปตามทางอีกราว 500 เมตร ก็จะถึงบริเวณผาผึ้ง ซึ่งเป็นลานหินทรายกว้าง
ด้านหลังเป็นชายป่าเต็งรัง ที่ในช่วงปลายฝนจะมีทุ่งดอกไม้ดินออกดอกมาให้สวยงาม แต่เป็นทุ่งเล็กๆ ตัวหน้าผาหินนั้นสูงราว 3 เมตรเศษ
สะพานแขวนที่ยาวที่สุด
บนหน้าผาจะมองเห็นป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะได้กว้างไกลตา วันที่ผมไปบรรยากาศไม่น่าอยู่กลางแจ้งนาน เพราะฝนพรำตลอด เลยต้องรีบกลับ
นอกจานั้น ในฤดูฝนแบบนี้ ทั้งน้ำตกตาดโตน น้ำตกห้วยกว้าง ของอุทยานฯ แก่งตะนะ ก็จะมีน้ำไหลอย่างสวยงาม
บริเวณแก่งตะนะในฤดูฝน
ซึ่งน้ำตกทั้งสองแห่งเป็นน้ำตกเล็กๆ สูงไม่มาก เดินทางง่าย สะดวก ไม่ห่างขากที่ทำการอุทยานฯมากนัก และมีน้ำในฤดูฝนเท่านั้น
"ปากถ้ำพระ"
การมาเยือนแก่งตะนะในฤดูฝน จึงเป็นการมาดูน้ำตก ไม่ใช่มาดูแก่ง แต่ไม่ว่าจะมาช่วงไหน ฤดูไหน แก่งตะนะก็มีอะไรให้ดูตลอดเช่นกัน
แก่งตะนะ ถึงจะเป็นอุทยานฯเก่าแก่ แต่คุณไปมาทั่วหรือยัง ถ้ายัง ลองไปแก่งตะนะอีกที แล้วจะรู้ว่า ที่นี่มีดี นอกจากแก่ง...