เรียนรู้เขียน 'ตั๋วเมือง' สานไม้ไผ่ทำ ‘ตาแหลว’ ที่ จ.น่าน
การเดินทางเพื่อพักผ่อนหย่อนใจและเรียนรู้ผ่านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่ทำได้ง่ายๆ ไปกับภูมิปัญญาท้องถิ่น
จังหวัด น่าน เป็นจังหวัดที่มีธรรมชาติสวยงาม และสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย อีกทั้งยังมีภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ได้รับการถ่ายทอดส่งต่อมายังคนรุ่นหลังอีกมาก
การเดินทางท่องเที่ยวของเราทริปนี้ เป็นการ ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์
ใช้เวลาไม่นาน เครื่องบินของเราก็ลงจอดที่สนามบินจังหวัดน่าน จากนั้นก็นั่งรถตู้เดินทางต่อไปที่ ชุมชนจักสานบ้านต้าม ตำบลสวก อำเภอเมือง จังหวัดน่าน
เพื่อมาทดลองทำของที่ระลึกชิ้นเล็ก ๆ ให้กับตัวเอง ในรูปแบบจักสานงานประยุกต์ ที่เรียกว่า ‘ตาแหลว’
- ชุมชนจักสานบ้านต้าม
เมื่อไปถึง แม่ศรีพรรณ จันตาง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานบ้านต้าม ก็ออกมาต้อนรับ แล้วเล่าให้ฟังว่า กลุ่มจักสานบ้านต้าม เติบโตขึ้นมาจากคนในพื้นที่ 4-5 คน ช่วยกันทำและขับเคลื่อนกันมาเรื่อย ๆ อย่างไม่ยอมหยุด
"ต่อมา อพท. หรือ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) เข้ามาช่วยเหลือด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์
แม่ทำมา 14 ปีแล้ว เพิ่งมาทำท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ได้ 5-6 ปี ทำให้เรามีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมามากมาย
ถ้ามีสินค้าอะไรที่ลูกค้าอยากให้เราทำ ถ้าเราทำได้เราก็จะทำ นอกจากแม่แล้วก็มีแม่สมจิตร, แม่สมพร, แม่สาคร มาช่วยกันทำ
- ตาแหลว กันผี
แม่ศรีพรรณ หยิบไม้ไผ่ที่สานเป็นวงห้าวงขึ้นมาบอกว่า นี่คือ ตาแหลวกันผี เป็นความเชื่อที่สืบเนื่องมาจากในอดีต ที่พวกผู้ชายออกไปหาของป่า แล้วไปนอนค้างคืน
เขาจะเอาไม่ไผ่มาถักเป็น ตาแหลว เครื่องหมายของพระเจ้าห้าพระองค์ คือ นะ โม พุท ธา ยะ ปักไว้ที่หัวนอน
ก่อนนอนก็ตั้งจิตอธิษฐาน อย่าให้มีอันตรายใด ๆ มากล้ำกราย ให้อยู่รอดปลอดภัย หรือเวลาเดินทางไปไหนก็พกไปด้วยเพื่อให้พระเจ้าห้าพระองค์ช่วยปกปักรักษา
นอกจาก ‘ตาแหลวกันผี’ แล้ว ยังมี ‘ตาแหลวหมายนา’ สมัยก่อนเวลาควายไถนา ดำนาเสร็จก็ทำพิธีบายศรีสู่ขวัญควาย พอเสร็จแล้วก็เอา ตาแหลว ไปปักกลางทุ่งนา ป้องกันเพลี้ย กันแมลง และโรคพืชต่าง ๆ เพราะสมัยก่อนไม่มียาฆ่าแมลง
วิธีการทำ ใช้ไม้ไผ่เส้นเดียว พัน สานไปเรื่อย ๆ จนเป็นวงกลมห้าวง เราลองทำแล้ว แข็งไปก็หัก ต้องเลือกเส้นตอกที่ไม่แข็งมากนัก จะพันง่ายกว่า
ที่นี่มีผลิตภัณฑ์จักสานมากมาย ตั้งแต่ ตระกร้าใบใหญ่, หวดใส่ข้าวเหนียว, กระด้ง, กระติ๊บ, ไซ, ข้องใส่ปลา, กระเป๋า, หมวก, พาน, พุ่ม
เอาไว้ตกแต่ง หรือโชว์หน้าพระ หรือใส่ผลไม้ต้อนรับแขก แล้วก็มี ดอกไม้, ดอกพิกุล, ช่อดอกไม้, ดาว ชุมชนเรามีไผ่เยอะ เป็นไผ่แฮ้ กับไผ่บงป่า
สิ่งที่ขายดีที่สุดคือ ถาดเบรคขนม เอาไว้ใส่ขนมไทยเวลามีนักท่องเที่ยวหรือจัดงาน ขายดีมากสั่งเข้ามาเป็นพัน ๆ ชิ้น
เคยมีคนสั่งทำพุ่มหลายขนาด 25, 35, 45 เซนติเมตร เอาไปทำเป็นโคมไฟ
- ต่อยอดจากสิ่งที่มีในชุมชน
ในช่วงแรกที่นี่จะทำของใช้ในครัวเรือน ตระกร้า, กระด้ง, กระติ๊บ หลังจากมี อพท.เข้ามาสนับสนุน ก็ขยับขยายหาลายใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามา เพื่อให้ถูกใจลูกค้ามากขึ้น
"เรามี ตาแหลวมงคล ที่ผ่านการปลุกเสกแล้วจากอำเภอนาน้อย ไว้พกติดตัวเดินทางไปไหนก็จะพ้นภัยอันตราย และของเล่นเด็กโบราณ เช่น ม้า กระต่าย นก กบ ม้าลาย ยีราฟ
เอามาทำเป็นโมบาย ห้อยเพื่อความสวยงาม หรือเอาไปคั่นหนังสือก็ได้ ใครสนใจยินดีสอนและถ่ายทอดให้ อยากให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้และทำต่อ
ไม่รู้ว่าแม่จะอยู่ไปอีกแค่ไหน อยากให้รุ่นหลานทำต่อไปเรื่อย ๆ ปู่ย่าทำไว้ให้เราก็ต้องทำต่อไปเรื่อย ๆ สนใจติดต่อมาได้นะคะ ถ้าเป็นของยาก ๆ ก็ใช้เวลาหลายวัน”
รายละเอียดเพิ่มเติม : กลุ่มชุมชนจักสานบ้านต้าม ตำบลสวก อำเภอเมือง จังหวัดน่าน โทร.094 234 4770
- เขียนตั๋วเมือง กับปราชญ์ชุมชน
เราเดินทางต่อไปยังแหล่งเรียนรู้ อักษรล้านนา ของ ‘หนานโชติ’ หรือ บุญโชติ สลีอ่อน ปราชญ์ชุมชน ศิลปินวาดภาพ
ที่สนใจการเขียนอักษรล้านนา ศึกษาจนเข้าใจ นำมาเปิดคอร์สสอนให้แก่นักท่องเที่ยวและคนรุ่นต่อ ๆ ไป
ที่นี่มีผลงานศิลปะมากมาย ตั้งแต่ตัวหุ่นยักษ์หน้าบ้าน และห้องเรียนที่มีบรรยากาศเหมือนในโรงเรียน หนานโชติ กล่าวว่า
"ตั๋วเมือง คืออะไร ตั๋ว คืออักษร เมือง คือคนเมืองเหนือ มีมาตั้งแต่ 600-700 ปีมาแล้ว
ตั๋วเมือง ก็คือ อักษรล้านนา หรือ อักษรธรรม พบอยู่ในคัมภีร์ต่าง ๆ ในอาณาจักรล้านนา 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน
เมื่อก่อน หนังสือราชการ จะใช้ตัวอักษรแบบนี้ กฏหมาย ก็บันทึกด้วยตัวอักษรนี้
มีการบันทึกเหตุการณ์ลงในคัมภีร์ใบลานด้วยตัวอักษรนี้ เพื่อบอกเล่าเรื่องราว ปีนั้นน้ำท่วม ปีนี้มีโรคห่า มีคนตายเยอะแยะ เขาบันทึกไว้หมดเลย
แล้วเก็บรวบรวมเอาไว้ในหีบ สามารถคัดแยกได้ถึง 21 หมวด เช่น บทสวดมนต์, ตำรายา, กฎหมายต่าง ๆ
มีคนเอา อักษรล้านนา มาสกรีนเสื้อขาย เขียนคำว่า น่าน แต่ไม่มีความรู้จริง ก็เลยเขียนผิด ไม่อ่านว่า น่าน แต่อ่านว่า น่านนะ
เมื่อก่อนผมไปวาดภาพในโบสถ์ แล้วเห็นใบลานกระจัดกระจายอยู่ เกิดความสนใจ เลยไปศึกษาเรียนรู้ เมื่อ อพท. เข้ามาเสนอเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์
ผมก็เลยคิดกิจกรรมวัฒนธรรมทางเหนือ ด้วยการเอา ตั๋วเมือง มาเผยแพร่ให้คนที่สนใจหรือนักท่องเที่ยวได้เรียนรู้
ไม่ต้องรู้ให้หมดก็ได้ แค่เขียนชื่อตัวเองได้ก็พอ เป็นอักษรมงคล ไม่ได้มีทั่วไป จ.น่านอาจจะมีที่นี่ที่เดียว เพราะผมยังไม่เห็นที่ไหนเขาทำ
ในสมัยก่อนมีการอบรมเรียนรู้เพิ่มเติม ที่ วัดพระธาตุแช่แห้ง อักษรล้านนา เป็นคำที่มีความหมายหลากหลาย บางครั้งเขาเขียนมาไม่เต็ม คำไม่ครบ
ต้องเทียบกับบริบทข้างหน้าหรือข้างหลังว่าคำนี้อ่านว่ายังไง มีความหมายว่ายังไง ต้องศึกษาเรียนรู้ บางคนก็ใช้ในทางพุทธศาสนา บทสวดมนต์ ยันต์ และคาถาต่าง ๆ
เราไม่อยากให้หายไป เป็นการสืบสานให้ลูกหลาน โรงเรียนต่าง ๆ ก็มาเรียนได้ ต้องมีใจรัก อยากเรียนรู้ อยากให้เยาวชนมาเรียนกันเยอะ ๆ ผมใกล้จะหกสิบแล้ว อยากให้อักษรล้านนาอยู่ต่อไป
ปัจจุบัน ตั๋วเมือง มีหน่วยงานราชการบางแห่ง เขียนไว้ที่หน้าห้อง ทั้งภาษาไทย ภาษาล้านนา บางโรงเรียน บางวัด ก็เริ่มมีตัวเมืองกำกับไว้ จะได้ไม่หายไป
นักท่องเที่ยวสามารถมาทำกิจกรรมเขียนอักษรล้านนาได้ที่นี่ ลองเขียนชื่อตัวเองลงบนย่ามลายไทลื้อ หรือย่ามธรรมดา แล้วเอากลับไปเป็นของที่ระลึก
เรามีกิจกรรมแป้งปั้น ปั้นเป็นชื่อของเรา หรือคำมงคล เอาไปตกแต่งได้ ทำได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ พ่อช่วยปั้นทำเป็นเส้น ลูกออกแบบลวดลาย เป็นการฝึกสมาธิและได้เรียนรู้ภาษาด้วย"
รายละเอียดเพิ่มเติม : ตั๋วเมือง คุ้ม ๙ เลขที่ 9 ซอย 5 ถนนสุมนเทวราช ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน โทร. 089 852 5457