“สองดี...ที่ชุมพร” นอกจากป่า ทะเล ยังมี “คลองหินดำ”
“สองดี...ที่ชุมพร ” เที่ยว จังหวัด “ชุมพร” ในมุมมองใหม่ ไม่ซ้ำใคร ผูกเปลนอนพักผ่อนอย่างเงียบสงบที่ ทุ่งวัวแล่น เที่ยวถ้ำหินปูน ถ้ำศาลช่างเล่น คลองหินดำ เมืองไทยเรานั้นยังมีอะไรที่น่าสนใจ รอให้เราเดินทางไปค้นหา
สองดี...ที่ชุมพร ชุมพร....สำหรับผม ถือเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ชอบมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการขับรถท่องเที่ยวในจังหวัดนี้
ชุมพร เป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวครบเครื่องทั้งป่า และทะเล ที่สามารถตอบโจทย์ของการท่องเที่ยวโดยเฉพาะในคนรักธรรมชาติได้เกือบทั้งหมด
แต่จะหาความบันเทิงเริงรมย์ในตอนกลางคืน ชุมพรคงไม่ค่อยเน้น ซึ่งตรงกับจริตของผม ที่ชอบเที่ยวธรรมชาติมากกว่า
แหล่งท่องเที่ยวของชุมพร ยังไม่ “ช้ำ”สักที่ “ช้ำ” ในที่นี้ หมายถึงมีนักท่องเที่ยวไปใช้กันมาก จนเกินเลย จนล้น แต่ที่ชุมพร ไม่ใช่
แหล่งท่องเที่ยวของชุมพร แม้จะมีชื่อเสียงมานาน อย่าง หาดทรายรี หาดทุ่งวัวแล่น แต่ก็จะยังไม่พลุกพล่านไปด้วยนักท่องเที่ยวแบบหลายๆที่
ชุมพรจึงเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวสายธรรมชาติจริงๆ
ผมเคย ไปจอดรถผูกเปลนอนดูทะเลที่ หาดทุ่งวัวแล่น ของ อ.ปะทิว อยู่ครึ่งค่อนวัน โดยไม่ถูกรบกวน สงบ เงียบ มีเวลาดื่มด่ำธรรมชาติอย่างเต็มอิ่ม
ที่ ชุมพร ยังเป็นสวรรค์ของคนรักผลไม้ไม่แพ้ทางตะวันออกทีเดียว เพียงแต่ชุมพร เขาดังเงียบ ประเภท “แอบดัง” และด้วยความเป็น “ปากใต้” ทำให้ชุมพรเป็นต้นทางที่จะต่อไปภาคใต้ทั้งทางตะวันออก ไปสุราษฎร์ฯไล่ไปจนถึงสงขลา ปัตตานี นราธิวาสนั่นเลย
หรือจะไปทางตะวันตกเลียบฝั่งอันดามัน ไล่ไป ระนอง-พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล ก็ทำได้ ถ้าจะลงสารพัดเกาะ ก็ไม่ต้องเอารถมาเพราะจะเป็นห่วงรถซะเปล่าๆ
เพราะชุมพร ท่านสามารถแบกเป้ แล้วลงเรือไปเที่ยวเกาะเต่า ต่อไปเกาะสมุย ไปหมู่เกาะอ่างทอง ไปเกาะพะงัน แล้วยังมาต่อหมู่เกาะในอำเภอขนอม ของนครศรีธรรมราชได้อีกด้วย เส้นทางนี้มีเรือโดยสารพ่วงโยงจุดหมายปลายทางกันได้
และที่ประตูของภาคใต้ที่ชุมพรนี่ไม่เคยขาดเลยคือบรรดา ถ้ำหินปูนต่างๆ
หินปูนนั้นทอดยาวตั้งแต่ภาคเหนือตะวันตกเสียส่วนมาก แล้วไล่ลงมาจนถึงภาคใต้ มีไปกระจัดกระจายทางอีสานบ้างก็ไม่มากนัก
เกาะต่างๆในทะเล ก็เป็นหินปูนซะส่วนใหญ่ แล้วอย่างที่เคยบอกไปหลายครั้งแล้วว่า หินปูนนั้นไร้รูป ไร้รอย
บันไดขึ้นไปยังโถงชั้นบนของถ้ำทิพย์ปรีดา
เพราะหินปูนมีคุณสมบัติละลายน้ำได้ หินปูนจึงมีรูปร่างไม่ตายตัว ผิดกับหินทราย ที่ภูเขาหินทรายที่เป็นหินชั้น(หรือหินตะกอน)
เวลาผุพัง ย่อยสลายก็จะไปเป็นชั้นๆ ภูเขาหินทรายจึงมักมีหลังป้าน และมีหน้าผาที่หักตกแล้วจึงเป็นไหล่เขาค่อยๆลาดลงมา
นี่คือฟอร์มของภูเขาหินทรายที่มักพบเห็น แต่หินปูนนั้น แม้จะเป็นหินชั้นเหมือนกัน แต่มันดันถูกน้ำละลายได้นี่สิที่ทำให้มันมีรูปร่างไม่ตายตัว เลยต่างจากหินทราย
ชุมพร เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ภูเขาเกือบทั้งหมด เป็นหินปูน (มีที่เป็นหินแกรนิตบ้างตามเกาะต่างๆ แต่ก็ไม่กี่แห่ง) ภูเขาเหล่านี้จึงมีถ้ำมากมายหลายแห่ง
ส่วนใหญ่จะถูกจับจองและดัดแปลงให้มาเป็นส่วนหนึ่งของวัดในพุทธศาสนา แม้แต่ธรณีสัณฐานหลายส่วนในชุมพรก็เป็นหินปูน คือถ้าเจาะดินลงไปไม่ต้องลึกมากก็เจอชั้นหินปูนแล้ว
วันนี้ผมมีสองที่ ที่เป็นผลผลิตของหินปูนที่นี่มาแนะนำพอเป็น กระสาย เพื่อให้ท่านผู้อ่าน หาเวลาตามรอยไป เพื่อจะได้เจอที่อื่นๆอีก
เริ่มจาก แยกท่าตะโก” แยกนี้อยู่ตรงไหน ก็ลงทางใต้ให้เลยตัวเมืองชุมพรไปก่อนจนเข้าเขตทุ่งตะโก จะเจอสี่แยกใหญ่ทางขวามือ(ทางตะวันตก)
สวนยางพาราที่ปลูกได้เพราะพื้นที่ดินบาง และไม่มีรากแก้ว
เรียกว่าแยกเขาปีบ ท่านก็ยูเทิร์นเลย แล้วเข้าแยกนี้ไป แยกนี้จะเป็นถนนสายท่องเที่ยวอีกสายหนึ่งของ ชุมพร ที่ผมเคยเขียนถึง
เขาทะลุ อะไรไปบ้างแล้ว ถนนสายนี้เป็นถนนหมายเลข 4139 ซึ่งสามารถออกไปบรรจบกับถนนหมายเลข 4 ที่ อ.ละอุ่นของจังหวัดระนองได้ ซึ่งระหว่างทาง มีธรรมชาติสวยงาม มากมาย ไว้ค่อยมาเล่าให้ฟังวันหลัง
ถนนสายนี้ อย่างที่บอกว่าผมแนะให้เป็นถนนสายท่องเที่ยว เหมาะขับรถเล่น เพราะสองข้างทางจะเป็นสวนปาล์ม สวนยางพาราขับชมบรรยากาศไปเรื่อย
เพิงถ้ำทิพย์ปรีดา หรือ ถ้ำศาลช้างเล่น
โดยจุดหมายแรกจะพาไปดูถ้ำทิพย์ปรีดา หรือ ถ้ำศาลช้างเล่น ผมไม่รู้จะบอกทางท่านผู้อ่านยังไง เพราะเข้าได้หลายทาง
แต่ทางนี้จะมีป้ายบอกทางเข้าครับ จะมีทางแยกทางซ้ายมือ เข้าไปตามทางเรื่อยๆ ช่วงท้ายๆก่อนจะถึงวัดจะเป็นทางลูกรัง แต่รถเก๋งก็พอไปได้ และเป็นทางลูกรังไม่ไกลก็ถึงวัดแล้ว
ผมเล่าเพิ่มนิดหน่อยคือ ผู้คนย่านนี้ ท่านผู้อ่านอย่าคิดว่าเป็นคนใต้ทั้งหมด เปล่า....มาจากทางอีสาน จากหลายจังหวัด อพยพมาตั้งถิ่นฐานกันนานแล้ว ร่วม 30-40 นอกนั้นก็มาจาก สุราษฎร์ฯ และอีกหลายจังหวัด มารวมกัน แล้วตั้งชุมชนขึ้นใหม่ เป็นวัฒนธรรมผสมผสาน ที่คนพูดใต้และพูดอีสานได้
มองจากด้านบนลงมายังโถงถ้ำด้านล่าง
ถ้ำศาลช่างเล่น นี้เป็นวัดด้วยครับ วัดที่เงียบสงบ มีถ้ำเปิดที่เป็นเวิ้งโคนภูเขาหินปูน ต่อเนื่องกัน 3-4 ถ้ำ ถูกทางวัดดัดแปลงเป็นส่วนหนึ่งของวัด
แต่มีอยู่ถ้ำหนึ่งที่มีบันไดไม้ ไต่ขึ้นไปยังเวิ้งถ้ำด้านบนได้ เคยมีการขุดค้นโดยกรมศิลปากรพบโบราณวัตถุหลายชิ้น เช่น จักรหิน เครื่องปั้นดินเผา ชิ้นส่วนของสัตว์ป่า ฯลฯ อายุ 4000-3000 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นยุคหินใหม่นั่นเอง วัดนี้บรรยากาศเงียบสงบ ร่มรื่นมาก
ผมพามาดูถ้ำนี้เพราะสามารถเชื่อมต่อเป็นทางเดียวกันกับที่จะไปที่ใหม่ได้ และให้เห็นว่าถ้ำในลักษณะแบบนี้ที่ ชุมพร เยอะมาก ต่างกันก็แค่ขนาด
สโตนเฮนท์ หน้าวัดโจน์ดำริห์
ย้อนออกไปที่ถนน 4139 อีกครั้ง เข้าไปจะมีทางแยกใหญ่ที่ขวามือจะไปโรงกาแฟเขาช่อง ชุมพร ไปถ้ำน้ำมุด
แล้วด้านหน้าท่านผู้อ่านจะเห็นภูเขาหินปูนขวางกั้น เป็นหน้าผาสูงใหญ่ และ..มีรูทะลุ ให้เลี้ยวซ้าย ไปตามทางเรื่อยๆ จะมีช่วงขึ้นเนินเขา (ก็แนวเขาทะลุนี่แหละ) พอเริ่มลงเขาให้ชลอรถ ทางซ้ายมือจะเห็นป้ายวัดโรจน์ดำริห์ และป้าย คลองหินดำ วัดอยู่ตรงหัวโค้งพอดี เลี้ยวเข้าไปจอดได้เลย
หน้าวัดจะมีกองหินปูน โดดเด่นเป็นแลนด์มาร์คของพื้นที่ บางคนให้ฉายาเก๋ๆว่าเป็นสโตนเฮนท์แห่งชุมพร ให้เข้าไปในวัดจะมีป้ายไป คลองหินดำ ซึ่งเริ่มแรกด้วยความสีดำนี่เองที่คนเข้าใจว่าเป็นหินอัคนี แต่ไปดูแล้วไม่ใช่ เป็นหินปูนนี่เอง
ส่วน คลองหินดำ ด้านหลังวัด เป็นลักษณะของร่องน้ำที่กัดเซาะหินปูน ลุกลงไปราว 3-4 เมตร โค้งคด เป็นระยะทางราว 100 เมตร มีบันไดเหล็กพาดจากด้านบนลงไปจนถึงพื้นล่างได้ด้วย
คลองหินดำ นี้ เป็นผลมาจากการกระทำของน้ำล้วนๆ คือน้ำจากผิวดินซึ่งอาจจะมาจากน้ำฝนนี่แหละ ค่อยๆไหลชะดินลงไปจนถึงชั้นหินปูน
จากนั้น น้ำก็ค่อยๆละลายหินปูน บนพื้นผิวหินปูนจึงไม่เรียบ เป็นหนามแหลมๆ แล้วก็ไหลชะส่วนที่อยู่ต่ำสุด ไหลชะ ละลาย เป็นพัน หมื่น แสนปี
จนเป็นร่องลึกดังกล่าว ลักษณะก็เหมือนที่ออบหลวง ออบขานนั่นเอง เพียงแต่ที่นั่นเป็นหินทราย
เมื่อได้ลงไปอยู่ในร่องหินลึก ก็จะดูลึกลับหน่อย เพราะช่องหินมันแคบ ไม่กว้าง มีลานทรายในบางส่วน และธารน้ำที่ไหลผ่านช่องแคบมาเท่านั้น
สวยไหม? เราไม่ได้พูดถึงความสวย แต่นี่เป็นปรากฏการณ์ทางธรณีแบบหนึ่ง ที่ทำให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นมา
บ้านไทยเมืองเรานั้น ยังมีอะไรที่น่าสนใจ ควรค่าแก่การไปพบเห็นอีกมาก โดยเฉพาะที่ชุมพร ถ้าท่านผู้อ่านมีเวลา อยากพักผ่อน
ผมเชิญมาที่ชุมพรเลยครับ ปากใต้ แห่งนี้ เป็นประตูที่ดีที่จะนำพาท่านไป ปักษ์ใต้ ที่สวยงามได้อีกทั้งภาค.....