ชมปรากฏการณ์พระอาทิตย์ตก 15 ช่องปราสาทพนมรุ้ง ปี 65

ชมปรากฏการณ์พระอาทิตย์ตก 15 ช่องปราสาทพนมรุ้ง ปี 65

ปรากฏการณ์พระอาทิตย์ขึ้นและตก ตรงช่อง 15 ประตูปราสาทพนมรุ้ง เป็นความมหัศจรรย์ของผู้สร้างโบราณสถานแห่งนี้ที่เกิดขึ้นทุกปี

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง สำนักศิลปากรที่ 10 จังหวัดนครราชสีมา กรมศิลปากร ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทุกท่าน มาร่วมชม แสงสุดท้ายของวัน

ท่ามกลางบรรยากาศปลายฝนต้นหนาว ที่ ปราสาทพนมรุ้ง เทวลัยบนภูเขา ในศาสนา พราหมณ์ฮินดู ลัทธิ ไศวนิกาย ที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

 

 

  • ปรากฏการณ์พระอาทิตย์ตก ตรง 15 ช่อง ประตูปราสาทพนมรุ้ง

รอบสุดท้าย ของปี ในเดือนตุลาคมนี้ ระหว่าง วันที่ 5 - 7 ตุลาคม 2565 พระอาทิตย์ตกตรง 15 ช่องประตู เวลาประมาณ 17.55 น.

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จะเปิดให้เข้าชม ปราสาทพนมรุ้ง ถึงเวลา 18.30 น. เป็นกรณีพิเศษใน 3 วันดังกล่าว

เหตุการณ์พระอาทิตย์ตกตรง 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในแต่ละวัน หากมีฝนตก เมฆเยอะ หรือเมฆลงต่ำ จะไม่สามารถมองเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวได้

ชมปรากฏการณ์พระอาทิตย์ตก 15 ช่องปราสาทพนมรุ้ง ปี 65 Cr. อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บุรีรัมย์

ที่ผ่านมา อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้จัดกิจกรรม ปรากฏการณ์ชมพระอาทิตย์ขึ้นตรง 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง ระหว่าง วันที่ 9-11 กันยายน 2565 

ในช่วงเช้า วันที่ 8 กันยายน 2565 เวลาประมาณ 05.45 น. เห็นแสงดวงอาทิตย์ระหว่างเมฆบริเวณช่องประตู

แต่เมื่อถึงเวลา 05.57 น. เป็นช่วงเวลาที่พระอาทิตย์จะตรงกับ 15 ช่องประตู พบว่ามีกลุ่มเมฆขนาดใหญ่เคลื่อนตัวลงต่ำ จึงทำให้ขอบฟ้าด้านล่างมีเมฆหนามาบดบัง จึงไม่สามารถเห็นแสงอาทิตย์ส่องผ่านช่องประตูได้

ชมปรากฏการณ์พระอาทิตย์ตก 15 ช่องปราสาทพนมรุ้ง ปี 65 Cr. อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บุรีรัมย์

ดังนั้น นักท่องเที่ยวท่านใดสนใจชมปรากฏการณ์ดังกล่าว โปรดตรวจสอบสภาพอากาศก่อนเดินทางมาชม

สอบถามได้ที่ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บุรีรัมย์ Phanom Rung Historical Park โทร 044 666 251

ชมปรากฏการณ์พระอาทิตย์ตก 15 ช่องปราสาทพนมรุ้ง ปี 65 Cr. อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บุรีรัมย์

  • ประวัติความเป็นมา

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง : พระนางภูปตินทรลักษมี

จากการค้นพบจารึกที่ปราสาทพนมรุ้งจำนวน 14 หลัก ทำให้ทราบเรื่องราวของผู้สร้างปราสาทพนมรุ้งอันยิ่งใหญ่แห่งนี้ มีนามว่า ‘นเรนทราทิตย์’

และบุคคลที่สืบทอดปกครองดูแลปราสาทพนมรุ้งและทำหน้าที่จารึกเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของนเรนทราทิตย์ คือ ‘หิรัณยะ’ ผู้เป็นพระโอรส

ผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักในวงกว้างเช่นเดียวกับนเรนทราทิตย์ผู้สร้างปราสาทพนมรุ้งคือ ‘พระนางภูปตินลักษมี’ 

ในจารึกปราสาทพนมรุ้ง ๗ (K.๓๘๔) อักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤต พุทธศตวรรษที่ 18 ได้ปรากฏพระนาม ‘ภูปตินลักษมีเทวี’ ซึ่งเคยมีการแปลความว่า

พระนางเป็นพระมารดาของนเรนทราทิตย์ และเป็นพระธิดาของพระเจ้าสุริยะวรมันที่ ๒ แห่งราชวงศ์มหิธรปุระ กษัตริย์แห่งอาณาจักรเขมรโบราณ ผู้สร้างปราสาทนครวัดอันยิ่งใหญ่

ชมปรากฏการณ์พระอาทิตย์ตก 15 ช่องปราสาทพนมรุ้ง ปี 65 Cr. อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บุรีรัมย์

โดยเนื้อหาในจารึกระบุว่า "…ภูปตินทรลักษมีถือกำเนิดมาในราชสกุลวงศ์ นางได้รับความนับถือจากบุคคลทั้งหลายว่าเป็นภวานี (อวตาร) เป็นผู้ที่ประกอบด้วยคุณลักษณะแห่งพระบิดา คือ พระเจ้าสูริยวรมันที่ ๒ นางได้ให้กำเนิดแก่ นเรนทราทิตย์ผู้คล่องแคล่ว และเปรียบเสมือน ดวงจันทร์สำหรับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่…"

ในอีกแนวทางหนึ่งจากการศึกษาเรื่อง ‘จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง’ วิทยานิพนธ์ใน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้ความเห็นว่า

พระนางภูปตินทรลักษมีฐานะเป็นน้องของพระเจ้ากษิตีนทราทิตย์ พระบิดาของพระเจ้าสูริยะวรมันที่ ๒ ดังนั้นพระนางภูปตินทรลักษมีจึงมีศักดิ์เป็น ‘น้า’ ของพระเจ้าสูริยะวรมันที่ ๒ และนเรนทราทิตย์ผู้สร้างปราสาทพนมรุ้งก็จะเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระเจ้าสูริยะวรมันที่ ๒ นั่นเอง

ด้วยข้อจำกัดทางด้านตัวอักษรที่มีความเลือนลางและความเสียหายของจารึก จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่าแท้จริงแล้วสถานะของพระนางภูปตินทรลักษมีเป็นเช่นใดกันแน่

แต่ที่แน่ชัดคือพระนางเป็นพระมารดาของนเรนทราทิตย์ผู้ก่อร่างสร้างความยิ่งใหญ่ และสถาปนาเทวลัยปราสาทพนมรุ้งแห่งนี้เป็นเทวลัยแห่งไศวนิกาย ลัทธิปศุปติที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งในอาณาจักรเขมรโบราณ