“ท่องเที่ยว” ตาคลี จ.นครสวรรค์ ชม “ถ้ำเพชร-ถ้ำทอง” และถ้ำสวยๆ อีกหลายถ้ำ
“ท่องเที่ยว” แนวผจญภัย “ถ้ำเพชร-ถ้ำทอง” ที่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ มีซากฟอสซิลให้เห็นมากมาย เหมือนย้อนอดีตกลับไปสู่โลกยุคที่เมื่อ 4,600 ล้านปี
ผมรู้จักชื่อ ตาคลี นครสวรรค์ ก็จากเรื่องสงครามเวียตนาม เป็นที่ที่ทหารอเมริกันมาพักผ่อนเพราะเป็นที่ตั้งของฐานบิน
ที่ทหารอเมริกันมาใช้สมัยสงครามเวียตนาม และก็จากชื่อเสียงของโรงเรียนตาคลีประชาสรรค์ ซึ่งเป็นโรงเรียนดังของนครสวรรค์
นอกนั้นตาคลีก็ไม่มีอะไรที่จะคุ้นหูอีก แต่....คิดผิดถนัด เพราะตาคลีมีที่เที่ยวแนวผจญภัย ที่ชื่อว่า ถ้ำเพชร-ถ้ำทอง มาท้าทายให้ไปเยือน
ในเมื่อมีแบบนี้ มีหรือที่ผมจะรั้งรอ
ถ้ำเพชร-ถ้ำทอง เป็นวนอุทยาน ขึ้นกับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) อยู่ห่างจากตัวอำเภอตาคลีไปราว 14 กิโลเมตร
ในเส้นทางสายตาคลี-ตากฟ้า ตัว วนอุทยานถ้ำเพชร-ถ้ำทอง อยู่ติดถนนสายย่อยที่แยกจากเส้นทางตาคลี-ตากฟ้าไปแค่ 1 กม. แค่นั้นเอง
เป็นวนอุทยานเล็กๆ ที่คลุมภูเขาหินปูนสองฝั่งฟากของถนนสายตาคลี-ตากฟ้า แต่อย่างที่บอกว่าถ้าเป็นภูเขาหินปูน
ก็ย่อมจะมีถ้ำให้ไปสำรวจเที่ยวชมมากมาย และที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ ที่นี่มี ฟอสซิล
อย่างที่เรารู้กันนั่นแหละครับว่า หินปูนนั้น เกิดจากการทับถมกันของสิ่งมีชีวิตและตะกอนสารพัดในทะเล เกิดขึ้นในยุคที่น้ำมีมากกว่าแผ่นดิน
เป็นยุคแรกๆที่สิ่งทีชีวิตเริ่มก่อตัว ไปดูในตารางธรณีกาล ก็จะเป็นช่วงที่เรียกว่า มหายุคพรีแคมเบรียน เมื่อ 4,600 ล้านปีก่อน
ที่เริ่มมีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ซึ่งว่ากันว่า สาหร่ายชนิดนี้แหละที่ช่วยสร้างออกซิเจนให้โลกเรา ฟอสซิล ของสิ่งมีชีวิตในทะเล
มีป้ายบอกทางตลอด แต่สองถ้ำนี้ต้องใช้เจ้าหน้าที่นำทางมิเช่นนั้นอาจหลงได้
ในยุคของมหายุคพาลิโอโซอิก โดยเฉพาะในยุคของแคมเบรียน มาจนถึงยุคไซลูเรียน ( 542-416 ล้านปี) ซึ่งเป็นยุคที่สิ่งมีชีวิต
ที่มีเปลือกแข็ง พวกแกรปโตไลต์ ไทรไลไบต์ ไครนอยส์ หอยต่างๆ ปะการัง นอติลอยด์ ฯลฯ พวกนี้ พอตาย ก็จะทับถมกัน พอเป็นหิน
ก็จะมีซากพวกสิ่งมีชีวิตพวกนี้ติดอยู่ด้วย พอแผ่นเปลือกโลกมันชนกัน ก็จะดันเอาแผ่นหินที่เคยอยู่ใต้ทะเลขึ้นมาเป็นภูเขา แล้วโลกก็ยังมีการปรับเปลี่ยนอีกไม่รู้กี่ครั้ง กว่าจะมาถึงทุกวันนี้
และที่ วนอุทยานถ้ำเพชร-ถ้ำทอง นี่ มีซากฟอสซิลสัตว์เหล่านั้นมากจริงๆ มากชนิดที่ว่าตามเส้นทางเดินที่เราไปเดินเที่ยวถ้ำ
ให้สังเกตตามก้อนหินก็จะเห็นซากฟอสซิลไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งปรากฏให้เห็น ส่วนสวนหย่อมด้านหน้าสำนักงาน ก็จะมีก้อนหินที่มีฟอสซิล
ฟอสซิลปะการัง
ถูกนำมาวางตกแต่งสวนให้ได้ดูกัน ส่วนภายในอาคารก็จะมีพิพิธภัณฑ์น้อยๆ นำหินที่เป็นฟอสซิลที่พบในพื้นที่มาจัดแสดงพอให้เป็นตัวอย่าง
การมาเที่ยวถ้ำที่นี่จึงเหมือนย้อนยุคไปสู่โลกยุคที่เมื่อ 4,600 ล้านปี ล่วงมาเลยทีเดียว
วนอุทยานถ้ำเพชร-ถ้ำทอง และกล้วยผา พืชเด่นในพื้นที่
น่าตื่นเต้นดีไหมละ...!
ทีนี้มาเที่ยวถ้ำต่างๆกันบ้าง ถ้ำที่นี่ แบ่งเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มทางด้านซ้ายของทางเดินศึกษาธรรมชาติเขาชอนเดื่อ
ทางลงไปถ้ำวังไข่มุก
กลุ่มแรกนี้มี 2 ถ้ำ คือ ถ้ำวังไข่มุกกับ ถ้ำเจ้าแม่สายทอง
กลุ่มที่สอง นี่จะมี 3 ถ้ำ คือ ถ้ำประดับเพชร เป็นถ้ำแรก ถ้ำมรกต แล้วมีแยกไปยังจุดชมวิว และสุดท้าย ถ้ำประดับเพชร
ระหว่าง ทั้ง 5 ถ้ำนี้ จะมืด ไม่มีไฟส่องสว่างด้านใน นักท่องเที่ยว จะเช่าไฟฉายแล้วเดินเที่ยวเอง หรือจะให้เจ้าหน้าที่เขาพาเที่ยวก็ได้
บันไดลงสู่ถ้ำมรกต
กลุ่มที่ 3 มี 2 ถ้ำ คือ ถ้ำเพชรคิงคอง กับ ถ้ำวิมานลอย ซึ่งทางไปจะอยู่ระหว่าง ถ้ำประดับเพชร กับ ถ้ำมรกต และทางเดินไม่มีการทำเป็นทางเดินปูน
มีขั้นบันไดไปแบบถ้ำอื่นๆ เป็นทางธรรมชาติ ต้องป่ายปีน ค่อนข้างไปไกล และต้องใช้เจ้าหน้าที่นำทาง ไม่เช่นนั้นหลงกันแน่
ดังนั้น ถ้ำกลุ่มที่ 3 นี้เราจะไม่เอ่ยถึง เราจะว่ากันแค่ 5 ถ้ำ ที่เที่ยวได้ง่ายก็พอ คือ ถ้ำวังไข่มุก ถ้ำจ้าแม่สายทอง ถ้ำประดับเพชร
ถ้ำมรกตและถ้ำประกายเพชร แต่ละถ้ำไม่ไกลกันนักห่างกัน 100 เมตรบ้าง 20-30 เมตรบ้าง ทั้งหมดนี้ มีถ้ำประกายเพชรไกลจากที่ทำการมากที่สุดคือ 350 เมตร เท่านั้น
ปากถ้ำเจ้าแม่สายบัว
ถ้ำทั้งหมดนี้ ส่วนใหญ่จะมีลักษณะคล้ายๆกัน 4 ถ้ำ มี ถ้ำเจ้าแม่สายบัว ที่เดียวที่ต่างจากเพื่อนทุกถ้ำที่ว่าจะมีทางเดินปูน หรือบันไดเหล็กให้ลงไปกันได้สะดวก
ถ้ำทั้ง 5 จะมีตัวถ้ำ ต่ำกว่าปากถ้ำ ต้องเดินลงไปด้านล่างถึงจะเจอโถงถ้ำ พูดง่ายๆคือ ปากถ้ำอยู่สูงกว่าโถงถ้ำ ลงไปไม่ลึกมากก็ถึงโถงแล้ว
ภายในถ้ำประดับเพชร
บางถ้ำมีโถงกว้าง มีโถงซอยย่อย โถงเล็ก โถงน้อย ตรงไหนมีหลุมยุบในถ้ำเขาก็จะทำราวกั้นไว้ ยกเว้น ถ้ำมรกต ที่จะมีบันเหล็กพาดลงไปลึกราว ๑๐ เมตร
แล้วลงไปถึงจะเจอโถงถ้ำกว้าง จะมีทางเดินปูน เดินในถ้ำได้ ภายในมีแสงพอส่องถึง จึงได้เป็นตะไคร่เกาะตามหิน ตามผนังถ้ำเป็นสีเขียวๆ เขาถึงเรียกถ้ำมรกต
ในบรรดา 5 ถ้ำนี้ จะมีเพียงถ้ำเดียว ที่พื้นในโถงถ้ำลงไปไม่ลึก แทบจะเสมอกับทางเดิน คือ ถ้ำเจ้าแม่สายบัว คือจะเป็นเหมือนถ้ำหินปูนทั่วไป
ภายในถ้ำประดับเพชร
คือเป็นเพิงเว้าเข้าไปใต้ภูเขา แสงสว่างจากปากถ้ำส่องถึงหมด มีการเทพื้นปูนในถ้ำ และประดิษฐานพระพุทธรูป รวมทั้งมีเจดีบรรจุอัฐิ
แสดงว่าเคยมีการใช้งานในทางศาสนาและประเพณีมาก่อน อาจจะก่อนประกาศเป็นวนอุทยานก็ได้
ถ้ำนี้จะมีรากไม้ที่ชอนไชลงมาจากหลังคาถ้ำระโยงระยาง ผนังถ้ำบางส่วนมีตะไคร่น้ำขึ้นจนเขียวไปหมด
ในบรรดาถ้ำที่ว่านี้ เป็นถ้ำตายแล้วบางส่วน แต่บางส่วนก็ยังเป็น ยังมีน้ำหยดอยู่ มีการเอาอ่างดินเผาไปรองรับน้ำหยดจากหินย้อย แล้วบอกว่าเป็นน้ำศักดิสิทธิ์
ทางลงสู่ถ้ำมรกต
ซึ่งใครขืนเอาไปดื่มกินระวังเป็นนิ่ว เพราะมันคือน้ำละลายหินปูนนี่เอง และการทำแบบนี้ ก็ไปรบกวนการเกิดหินงอก
เพราะน้ำที่หยดลงแทนที่จะไปสะสมกันจนเป็นหินงอก ดันไปหยดลงในอ่าง แล้วความเชื่อผิดๆ ที่อาจจะจากไหนก็ตาม
ที่ว่าหินงอกหรือหินย้อยจะสะสมกันเพิ่มขึ้นปีละ 1 เซนติเมตร ก็ไม่เป็นความจริง เพราะถ้าเป็นแบบนั้นจริง บ้านเรา
บรรยากาศภายในบริเวณวนอุทยานถ้ำเพชร-ถ้ำทอง
จะมีเสาถ้ำ(หินงอกและหินย้อย ที่มาต่อติดกันจนเป็นเสา) มากมายไปหมดแล้ว เพราะถ้ำมีมาเป็นร้อยๆปี ในขณะที่เพดานถ้ำมันก็ไม่ได้สูงอะไรมาก
ถ้าถ้ำมีอายุ 100 ปี หินงอกหินย้อยก็ต้องมี 100 ซม. ซึ่งจริงๆแล้วถ้ำอาจจะมีอายุมากกว่า 100 ปี ก็ได้ คำกว่าที่ว่าจึงไม่จริงเสมอไป มันมีองค์ประกอบอีกเยอะกว่าที่จะมากำหนดตายตัวแบบนั้น
เวลาเที่ยวถ้ำ ทั้งเจ้าหน้าที่และไกด์นำเที่ยว มักจะนำเสนอบอกว่าตรงนั้นเหมือนอะไร ตรงนี้เหมือนอะไร แทนที่จะอธิบายว่า
การเกิดหินงอกหรือหินย้อยแต่ละรูปแบบเกิดจากสิ่งแวดล้อมแบบไหน คือแทนที่จะอธิบายทางวิทยาศาสตร์ กลับไปชี้ชวนทางจินตนาการไปซะนี่
จุดชมวิวในเส้นทางศึกษาธรรมชาติเขาชอนเดื่อ
แม้ ถ้ำเพชร-ถ้ำทอง จะไม่ได้สวยงามเท่าถ้ำอีกหลายแห่งในบ้านเรา แต่ก็ถือเป็นถ้ำที่เอามาท่องเที่ยวแนว แอดแวนเจอร์ได้
เป็นถ้ำที่เดินทางสะดวก มาง่าย จะมากางเต็นท์พักแรมก็ยังได้
เส้นทางเดิน เป็นทางปูน ทำให้เดินได้สะดวก
ตาคลี แม้จะพ้นยุคสมัยรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจมาหลายสิบปีก็ตาม แต่ความบันเทิงในการท่องเที่ยวถ้ำก็พอจะมาทดแทนได้บ้าง
...เชิญชวนเลยก็แล้วกันครับ ตาคลีแค่นี้ ไม่ไกลเลย...