100 ปี“วังพญาไท” : จากวัง ผันมาเป็นโรงแรมหรู(โฮเต็ลพญาไท)และสถานพยาบาล
เสาร์อาทิตย์ไม่รู้จะไปไหน ไปเดินเที่ยววังพญาไท ถนนราชวิถี เป็นวังเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 จากนั้นผันมาเป็นโรงแรมระดับอินเตอร์ และปัจจุบันคือสถานพยาบาล
ขอย้อนเรื่องเก่า สมัยรัชกาลที่ 5 กับเรื่องราวพระราชวังพญาไท หรือวังพญาไท อาคารโบราณเก่าแก่ ก่อสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นพระตำหนักที่ประทับหลังเล็ก
สืบเนื่องมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ถวายเป็นที่ประทับในสมเด็จพระราชมารดา(สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เคยเสด็จพระราชดำเนินมาประทับที่พระตำหนักพญาไท พร้อมด้วยพระประยูรญาติที่ใกล้ชิดตลอดจนพระชนมายุ เป็นเวลาเกือบ 10 ปี
ครั้งเมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 6 ทรงรับสั่งให้ย้ายพระตำหนักเดิมบางส่วน และสร้างพระราชวังพญาไทขึ้นมา เมื่อองค์พระที่นั่งต่างๆ สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ทรงจัดให้มีการพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร(ครั้งที่ 2)ในปี 2465
วังพญาไทอายุ 100 ปี
เรื่องเล่าวังเก่า หนึ่งในกิจกรรมของ CU Alumni Connex คอมมูนิตี้เล็กๆ ของศิษย์เก่าจุฬาฯ เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 65 พาไปชมและศึกษาสถาปัตยกรรมบ้านพิษณุโลกและวังพญาไท โดยเชิญ ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร
วังพญาไท สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินจำนวน 100 ไร่เศษซึ่งเดิมเป็นทุ่งนา เพื่อใช้ทดลองปลูกธัญพืชและเป็นที่พักผ่อนพระราชอิริยบท เพื่อเป็นสถานที่เสด็จแปรพระราชฐาน และที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เรียกว่า “โรงนาพญาไท”
ด้านหน้าวังพญาไท ก่อนเข้าไปชมในตึก
ทางเดินไปสู่สวนโรมัน จะมีประติมากรรมกึ่งลอยตัว ปีนักษัตร มะโรง ปีประสูติ ร. 6
หลังจากเสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระพันปียังคงประทับต่อ โดยปัจจุบันพระที่นั่งเทวราชสภารมย์ ซึ่งทรงใช้เป็นท้องพระโรงในยุคนั้นยังได้รับการอนุรักษ์ดูแลเป็นอย่างดี
พระองค์ประทับอยู่ที่นั่นราว 10 ปี เมื่อสวรรคตแล้วมีการย้ายอาคารบางส่วนไปไว้ที่วชิราวุธวิทยาลัยและวัดราชาธิวาสวรวิหาร หลังจากนั้นพระมงกุฎเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดให้สร้างพระที่นั่งขึ้น 5 หลัง คือพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน พระที่นั่งพิมานจักรี พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ และพระที่นั่งอุดมวนาภรณ์
โดยใช้คลองพญาไทเป็นเส้นแบ่งเขตพระราชฐานเป็นฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ทรงประทับอยู่ที่พระตำหนักเมขลารูจี (เดิมชื่อพระตำหนักอุดมวนาภรณ์) ริมคลองพญาไท ระหว่างทรงงานวางโครงสร้างพระราชมณเฑียรสถาน หลังจากแล้วเสร็จจึงทรงย้ายไปประทับที่พระที่นั่งพิมานจักรี
ท้องพระโรงกลาง ในพระที่นั่งพิมานจักรี
สระสรง ใช้เป็นที่สรงน้ำ
จากวังพญาไทเป็นโฮเต็ลพญาไท
หลังจากรัชกาลที่ 6 สวรรคต พระราชวังพญาไทเปลี่ยนบทบาทเป็น“โฮเต็ลพญาไท”จัดเป็นโรงแรมที่หรูหราและได้รับการยกย่องว่า ยอดเยี่ยมที่สุดในภาคพื้นตะวันออกไกล มีวงดนตรีสากลชนิดออเคสตร้า 20 คน ใช้นักดนตรีจากกองดุริยางค์ทหารบก บรรเลงให้เต้นรำในวันสุดสัปดาห์ สลับกับคณะโชว์นักร้อง นักแสดงจากยุโรป และเมื่อหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ จบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกากลับมา ก็ได้นำวงดนตรีแจ็สมาบรรเลงที่โฮเต็ลแห่งนี้
โฮเต็ลพญาไท ใช้เป็นสถานที่รองรับแขกต่างประเทศ ครั้งนั้นห้องพักที่หรูที่สุดคือ ห้องสวีท ที่ชั้น 3 ของพระที่นั่งกูณฐเทพยสถาน ราคาคืนละ 120 บาท เทียบกับยุคนี้ตกประมาณ 1 แสนกว่าบาท ปัจจุบันยังหลงเหลือร่องรอยเมื่อยุคเป็นโรงแรมให้เห็นคือ เลขห้องพักหมายเลข 10
ห้องหมายเลข 10 ตอนเป็นโรงแรม
นอกจากนี้ก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่นี่ยังเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียง โดยใช้ห้องพระบรรทมที่ชั้น 3 เป็นที่ส่งกระจายพระสุรเสียงของรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นครั้งแรก
หลังจากนั้นได้มีการปรับเปลี่ยนบทบาทของพระราชวังแห่งนี้เป็นกองเสนารักษ์ โดยใช้เป็นสถานรักษาพยาบาล ก่อนจะกลายเป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎในปัจจุบัน
ผศ.ดร.พีรศรี เล่าว่า พระราชวังพญาไท เป็นงานช่วงท้ายของตามาญโญ มีลักษณะโดยรวมคือ เป็นอาคารที่ทันสมัยมากขึ้นในลักษณะแง่ของโครงสร้าง ใช้คอนกรีต มีความมั่นคงในเชิงการใช้วัสดุโครงสร้าง เนื่องจากที่นี่เป็นราชสำนัก มีคนพักอาศัยจำนวนมาก ต่างจากบ้านบรรทมสินธุ์ (บ้านพิษณุโลก) ซึ่งเป็นบ้านพักอาศัย
ในห้องหลักๆ พื้นจะเป็นไม้ทั้งหมด ห้องบรรทมก็มีความประณีต พื้นผนังเพดานมีการเขียนผนังเป็นลวดลายประณีต เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิกแต่ลดทอนให้เรียบลงฃ
จิตรกรรมบนเพดาน ศิลปะอาร์ตนูโว ภายในห้องพระที่นั่งศรีสุทธนิวาส
ห้องพระบรรทม ชั้น 3 พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน
“ผมว่าตรงนี้เป็นความแข็งแรงมั่นคงของตึกของตามาญโญ คือเปลี่ยนจากพระที่ประทับเป็นโรงพยาบาลก็ยังได้ เพราะวัสดุยังแข็งแรง และพัฒนาเป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎ โดยงานจิตรกรรมก็ยังอยู่ครบ แม้บางห้องจะมีการทาทับด้วยสีขาว แต่ในช่วง5 ปีที่ผ่านมามีการลอกออกก็ยังเจองานจิตรกรรมอยู่ข้างใต้”
วังพญาไท ผสมผสานทั้งแบบโบราณและสมัยใหม่
หากใครเข้าไปเที่ยววังพญาไท ที่พลาดไม่ได้เลยคือ พระตำหนักเทวราชสภารมย์ นอกจากบทบาทของการเป็นท้องพระโรงในสมัยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
สิ่งที่น่าสนใจในเชิงสถาปัตยกรรมคือ การผสมผสานของรูปแบบโบราณและเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว ฝีมือสถาปนิกทีมเดียวกับที่ทำที่บ้านบรรทมสินธุ์ รูปแบบคล้าย ๆ กับตึกธารกำนัล ในแง่ความเป็นอาหรับมุสลิม (แขกมัวร์) เป็นมุสลิมทางใต้ของสเปน
“ความอัศจรรย์ของงานตามาญโญคือ จะมีการผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างที่พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ มีการทำเสาเล็กๆ รับพื้นที่ชั้นลอยและแตกตัวขึ้นเป็นชุดเสาเล็กสำหรับรับโครงสร้างหลังคาเพดานทั้งหมด ซึ่งทั้งหมดเป็นคอนกรีต ต่างจากรูปแบบดั้งเดิมในสเปนจะเป็นเสาหิน เป็นการนำรูปแบบโบราณและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ทำเป็นท้องพระโรง”
พระที่นั่งเทวราชสภารมย์
คุณค่าของวังพญาไทในแง่สถาปัตยกรรม คือ ตัวอย่างของการผสมผสานระหว่างรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกกับเทคโนโลยีการก่อสร้างสมัยใหม่กับแบบแผนพระราชฐานของไทย อย่างร้านนรสิงห์ จากเดิมที่เป็นลานโล่งๆ เป็นฟังก์ชั่นสมัยใหม่ที่เติมเข้ามาเป็นห้องเล่นบิลเลียด เป็นงานสถาปัตยกรรมในช่วงปลายสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือเริ่มเรียบลงในเชิงวัสดุโครงสร้าง
การเลือกพาชม “วังพญาไท” อาจารย์พีรศรี บอกว่าเป็นการศึกษาผลงานของทีมอิตาเลียนในหลายรูปแบบ มีความหลากหลายของรูปแบบ ที่นี่เป็นสไตล์แขกมุสลิม สวนโรมันก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง
"ที่สำคัญวังพญาไท เล่าประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนของทั้งการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์ในปลายรัชกาลที่ 5 จนถึงสิ้นรัชกาลที่ 6 ต่อมาถึงรัชกาลที่ 7 และพัฒนาการในรูปแบบของสถาปัตยกรรม"
กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระราชวังพญาไท เป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติ ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2522
.............
หมายเหตุ : วังพญาไท เปิดให้ชมทุกวันเสาร์อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เช็ควันเปิดปิดได้ที่เฟซบุ๊คพระราชวังพญาไท Phyathai Palace ปกติจะมีวิทยากรนำชม
สถาปัตยกรรมในพระที่นั่งเทวราชสภารมย์
สวนโรมัน วังพญาไท
รัตนาวลี โลหารชุน ประธานกิจกรรม CU Alumni Connex และผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง คณะสถาปัตยกรรม จุฬาฯ (วิทยากร)