ไหว้ศาลหลักเมืองกรุงเทพ เสริมสิริมงคลในวันปีใหม่ 2566 

ไหว้ศาลหลักเมืองกรุงเทพ เสริมสิริมงคลในวันปีใหม่ 2566 

ครั้นเมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีพิธียกเสาหลักเมือง และบรรจุดวงเมือง เพื่อตั้ง"ศาลหลักเมืองกรุงเทพ" อีกสถานที่ควรไปกราบไหว้ เพื่อเป็นสิริมงคลในช่วงวันปีใหม่ และอย่าลืมของไหว้ไปให้พร้อม

ตอนที่ตั้ง กรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีพิธีการยกเสาหลักเมือง ตามความเชื่อที่ปฎิบัติมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยประเพณีการตั้งเสาหลักเมืองเป็นไปตามพิธีพราหมณ์ เพื่อเป็นสิริมงคลสำหรับผู้อยู่อาศัยในการตั้งเมืองใหม่

ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร ที่กล่าวถึง ตั้งอยู่ที่บริเวณหัวมุมข้างพระบรมมหาราชวัง ถนนหลักเมือง เขตพระนคร เป็นอีกสถานที่ศักดิ์สิทธิของประเทศไทย ในช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ ปี 2566 การไปสักการะเคารพ ก็ถือว่าเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

 

พิธียกเสาหลักเมืองสมัยร.1 และร.4

การทำพิธียกหลักเมือง เกิดขึ้นในครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เวลา 6.54 น. จากวันนั้นถึงวันนี้กว่า 240 ปี

ในอดีตการฝังเสาหลักเมืองทำตามตำนานพระราชพิธีนครถาน โดยเอาไม้ไชยพฤษ์มาทำเสาหลักเมือง และไม้แก่นประดับด้านนอก กำหนดความสูงเสาเมื่อพ้นดินแล้ว 108 นิ้ว ฝังลงไปใต้ดิน 79 นิ้วมีเม็ดยอดรูปบัวตูมสวมลงบนเสาหลัก ลงรักปิดทอง มีช่องสำหรับบรรจุดวงชาตาเมือง

เมื่อผ่านมาหลายยุคสมัย เสาหลักเมืองชำรุดลงมาก ในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯให้ทำขึ้นใหม่อีกเสา โดยบรรจุดวงพระชาตาใหม่ เนื่องจากพระองค์ทางชำนาญวิชาโหรศาสตร์ ทรงคิดที่จะแก้ดวงเมืองใหม่ และได้มีพิธีสมโภชฉลองในการบรรจุดวงพระชาตาในครั้งนั้น โดยโปรดฯให้สร้างศาลาขึ้นใหม่ สร้างยอดปรางค์ตามแบบศาลาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ไหว้ศาลหลักเมืองกรุงเทพ เสริมสิริมงคลในวันปีใหม่ 2566 

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2518 กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานศาลหลักเมือง นอกจากจะมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย

ว่ากันว่าศาลหลักเมืองได้รับการปฏิสังขรณ์อีกหลายครั้ง ในปี พ.ศ. 2523 ได้มีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมการเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 200 ปี พ.ศ. 2525

ศาลหลักเมืองได้รับการบูรณะอย่างสวยงาม ด้านทิศเหนือจัดสร้างซุ้มสำหรับประดิษฐานเทพารักษ์ทั้ง 5 คือเจ้าหอกลอง เจ้าเจตคุปต์ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง และพระกาฬไชยศรี

ไหว้ศาลหลักเมืองกรุงเทพ เสริมสิริมงคลในวันปีใหม่ 2566 

เทพารักษ์ทั้ง 5 ที่ศาลหลักเมือง

  • พระเสื้อเมือง

รูปหล่อสัมริดปิดทอง ทรงยืนบนฐานสิงห์ พระเศียรทรงมกุฏยอดชัย พระหัตถ์ซ้ายท้าวที่บั้นพระองค์ทรงคฑาวุธ (กระบอง) พระหัตถ์ขวาทรงจักราวุธ

พระเสื้อเมือง เป็นเทพารักษ์คุ้มครองป้องกันทั้งทางบก ทางน้ำ คุมกำลังไพร่พลแสนยากร รักษาบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขปราศจากศัตรูมารุกราน

  • พระทรงเมือง

รูปหล่อสำริดปิดทอง ทรงยืนบนฐานปัทม์ ยอดทรงมกุฏท่อนบนเป็นแบบเดินหน ซึ่งหมายถึงเสด็จจรไปตรวจตราปกป้องคุ้มครองภัยทั่วประเทศ พระหัตถ์ซ้ายท้าวที่บั้นพระองค์ทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ขวาทรงสังข์

พระทรงเมือง มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเปรียบได้กับฝ่ายปกครอง เปี่ยมด้วยพระคุณ คือ ความเมตตาละมุนละม่อมเป็นแนวทางปฏิบัติ เสมือนสังข์ที่ทรง ซึ่งมีความหมายไปในทางคุณธรรม

  • พระกาฬไชยศรี

รูปหล่อสำริดปิดทอง มีสี่กร ประทับบนหลังนกแสก ซึ่งเกาะอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมปิดทอง พระเศียรทรงมกุฏยอดชัย พระหัตถ์ขวาบน ยกเสมอพระอังสาถือชวาลา คือดวงวิญญาณ เปรียบดังธาตุไฟในร่างกายคนเรา ซึ่งหากแตกดับลงเมื่อใดก็เท่ากับสิ้นชีวิตดวงวิญญาณออกจากร่างแล้วนั่นเอง และที่เห็นเป็นรูป 3 แฉกมีความหมายถึงความตายนั้นย่อมเกิดขึ้นได้โดยไม่กำหนดว่าจะเป็นปฐมวัย มัชฌิมวัย หรือปัจฉิมวัยก็ตาม

  • เจ้าเจตคุปต์

รูปแกะสลักด้วยไม้ ประทับยืนบนแท่นสี่เหลี่ยม พระเศียรทรงมกุฏยอดชัย พระหัตถ์ประดับทองพระกร โดยพระหัตถ์ขวาทรงจักราวุธเทพคือเหล็กจาร พระหัตถ์ซ้ายถือใบลานอัครสันธานา สำหรับจดความชั่วร้ายของชาวเมืองที่ตายไป ตำนานมีว่า เจ้าเจตคุปต์เป็นบริวารพระยม และมีหน้าที่อ่านประวัติผู้ตายเสนอพระยม

  • เจ้าหอกลอง

รูปหล่อสำริดปิดทองพระเศียรทรงมกุฏยอดชัย ทรงยืนบนแท่นแปดเหลี่ยมพระหัตถ์ยกชูขึ้นเสมอพระอุระ พระหัตถ์ขวาถือดอกบัว ซึ่งแทนความหมายของธรณี (แผ่นดิน) พระหัตถ์ซ้ายถือเขาสัตว์สำหรับใช้เป่าเป็นสัญญาณเรียกไพร่พลให้เข้ามาประจำหน้าที่ตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติในสมัยโบราณเจ้าหอกลอง

 เป็นเทพารักษ์ประจำหอกลอง มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเหตุการณ์ต่างๆ อันเกิดขึ้นในแผ่นดิน เช่น คอยรักษาเวลา ย่ำรุ่ง ย่ำค่ำ และเที่ยงคืน เกิดเหตุอัคคีภัย หรือมีอริราชศัตรูยกมาประชิดพระนคร

การไหว้ศาลหลักเมือง

เตรียม: -ธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม , ทองคำเปลว ดอกบัว 2 ดอก ,ผ้าแพร 3 สี 5สี และ 7 สี และพวงมาลัย 2 พวง

ไหว้ศาลหลักเมืองกรุงเทพ เสริมสิริมงคลในวันปีใหม่ 2566 

  • ขั้นตอนที่1

อาคารหอพระพุทธรูป นำดอกบัวขึ้นไปสักการะพระพุทธรูป จากนั้นทำบุญใส่บาตรพระประจำวันเกิด ซึ่งเชื่อว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ และช่วยหนุนดวงเสริมความมั่นคงในชีวิต

  • ขั้นตอนที่ 2

ศาลาจำลอง ถวายธูปและเทียน กล่าวคำอธิษฐาน เสร็จแล้วนำผ้าแพรสีทั้ง 3 ผืน ผูกที่องค์หลักเมืองจำลองหลักใดหลักหนึ่ง และปิดทอง

  • ขั้นตอนที่ 3

อาคารศาลหลักเมือง นำพวงมาลัยถวายองค์พระหลักเมือง โดยเสาหลักเมือง รัชกาลที่ 1มียอดเสาเป็นรูปบัวตูม ส่วนเสาหลักเมือง รัชกาลที่4 ยอดเสาเป็นยอดเม็ดทรงมัณฑ์

  • ขั้นตอนที่ 4

 อาคารศาลเทพารักษ์ทั้ง 5 นำพวงมาลัยถวายเทพารักษ์ทั้ง 5 ประกอบด้วย พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ และเจ้าหอกลอง ซึ่งเทพารักษ์ทั้ง5 ดูแลปกป้องบ้านเมืองในด้านการเมือง การปกครอง อริราชศัตรู และเหตุเภทภัยที่เกิดกับบ้านเมืองให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุขสงบร่มเย็น

  • ขั้นตอนที่ 5

 จุดเติมน้ำมันตะเกียงพระประจำวันเกิด ธรรมเนียมปฏิบัติของศาลหลักเมือง คือ ให้เติมน้ำมันตะเกียงพระประจำวันเกิดครึ่งขวด เพื่อความสว่างไสวในชีวิต มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ส่วนที่เหลือให้นำไปเติมที่ตะเกียงสะเดาะเคราะห์ เพื่อให้สิ่งที่ไม่ดีทุกข์โศกโรคภัยออกไปจากตัวเรา การเติมน้ำมันตะเกียงพระประจำวันเกิด เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการเข้ามาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในศาลหลักเมืองแห่งนี้

 ศาลหลักเมือง เปิดตั้งแต่เวลา 06.30– 18.30 น. ทุกวัน และเปิดบริการตลอดคืนในเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่

  

 

.........

อ้างอิง : เล่าเรื่องบางกอก เล่ม 1 (ส.พลายน้อย) ,วิกีพีเดีย และสำนักงานกิจการศาลหลักเมือง