ชวนเที่ยว ‘โฮงเจ้าฟองคำ’ จ.น่าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีชีวิต
เรือนไทยล้านนาโบราณ ‘โฮงเจ้าฟองคำ’อายุกว่า 100 ปี เปิดให้เข้าชม เป็นการต่ออายุสร้างชีวิตชีวาให้เรื่องราวในอดีตได้กลับมาสู่ปัจจุบันอีกครั้ง
‘โฮงเจ้าฟองคำ’ จ.น่าน เป็นเรือนไทยล้านนาที่อยู่อาศัยกันมาตั้งแต่รุ่นทวด ตกทอดมาถึงรุ่นปัจจุบัน
ได้รับการดูแลรักษาซ่อมแซมอย่างดี เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ ‘โฮง’ เป็นคำพื้นเมือง หมายถึงที่อยู่อาศัยของเจ้านายล้านนาไทย
สร้างขึ้นที่ค่ายสุริยพงษ์ในปี พ.ศ.2368 แล้วย้ายมาสร้างที่บ้านพระเกิดปี พ.ศ.2454 เป็นเรือนไม้สัก 3 หลังติดต่อกัน
เป็นบ้านพักของเจ้าศรีตุมมากับเจ้ามะโน เจ้าศรีตุมมาเป็นหลานของเจ้ามหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 11 ส่วนเจ้ามะโนเป็นน้องของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช
Cr. Kanok Shokjaratkul
ต่อมารัฐบาลต้องการสถานที่สร้างค่ายทหาร เจ้าบุญยืน ธิดาของเจ้าศรีตุมมากับเจ้ามโน จึงย้ายตัวโฮงมาสร้างในที่ปัจจุบัน
ตกทอดสืบมายัง ‘เจ้าฟองคำ’ ธิดาของเจ้าบุญยืนกับเจ้าอินต๊ะ
Cr. Kanok Shokjaratkul
ทายาทคนปัจจุบัน ภัทราภรณ์ ปราบริปู บุตรสาวของเจ้าฟองคำ เล่าว่า เจ้าฟองคำสมรสกับนายถวิล คงกระจ่าง มีลูกด้วยกัน 7 คน เสียชีวิตไป 4 คน เหลือ 3 คน
"เจ้าฟองคำเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2533 ขณะอายุ 81 ปี มีเจตนารมณ์อนุรักษ์เรือนล้านนาไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาต่อไป"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- เรือนไม้สักแบบล้านนา
โฮงเจ้าฟองคำ เป็นเรือนไม้สัก ยกใต้ถุนสูง หลังคาทรงจั่ว มุงด้วยแป้นเกล็ด ต่อมาเป็นกระเบื้องดินขอ
เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาแบบเรือนคู่ มีนอกชาน แบ่งเป็นห้องนอน, ห้องรับแขก, ห้องครัว บันไดทางขึ้นบ้านด้านหน้ามีหลังคาคลุม
ชั้นบนเป็นที่พักอาศัย เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น จัดแสดงวิถีชีวิตในอดีต สิ่งของเครื่องใช้โบราณที่มีคุณค่า ชั้นล่างเป็นใต้ถุนโล่ง สาธิตการทอผ้า การปั่นฝ้าย
หำยนต์ Cr. Kanok Shokjaratkul
"บ้านหลังนี้สร้างด้วยไม้สัก ถากเสาและไม้กระดานด้วยขวาน เจาะร่องไม้เข้าลิ่ม ใส่ไม้เล็ก ๆ แทนน็อต บูรณะครั้งสุดท้ายปี พ.ศ. 2548 เพื่อทาสี ซ่อมเปลี่ยนไม้ที่ผุพัง
ห้องใหญ่ที่สุดคือ หน้าโฮง หรือ คุ้ม มี ‘หำยนต์’ อยู่เหนือประตูทางเข้า ลงอักขระป้องกันสิ่งไม่ดีเข้าสู่ตัวเรือน สลักลายดอกหงส์โค่ง บอกว่าเรือนนี้มีเจ้าปกครอง
Cr. Kanok Shokjaratkul
หมอนฝายของเจ้ามะโน ปักผ้าหน้าหมอน ด้วยดิ้นเงินดิ้นทอง ช้างหมายถึงความยิ่งใหญ่ ม้าหมายถึงชัยชนะ นกกินน้ำร่วมต้นไม้หมายถึงความอุดมสมบูรณ์
ห้องนอนทางซ้าย มีผ้าห่มโบราณที่มีดอกไม่เท่ากัน ที่นอนทำด้วยดอกนุ่นดอกงิ้ว มีที่เก็บของด้านบนเพื่อประหยัดพื้นที่ เรียกว่า ควั่น
Cr. Kanok Shokjaratkul
ผู้หญิงในอดีตต้องทำเครื่องนุ่งห่มเป็นถึงจะออกเรือนได้ จึงมีเครื่องทอผ้า จัดแสดงผ้าจ.น่าน 7 ลายให้ชม
ผ้าลายน้ำไหล การสอดไหมให้น้ำเชี่ยวต้องมีเทคนิค ใส่สีเขียวเพกา ดำลูกมะเกลือ แดงไม้ประดู่
ส่วนซิ่นตีนจก จะจกลายข้างล่างด้วยขนเม่น เจ้านายเมืองน่าน จะใส่ลายยกดอกกะไหล่ทองใส่ มีวิธีเก็บลายยังไงให้สวยทั้งสองด้าน
Cr. Kanok Shokjaratkul
ด้านหลังเป็นห้องครัวไฟ ทำอาหารด้วยฟืน มีที่แขวนด้านบนเหนือเตาเรียกว่า ‘หิ่ง’ เพื่อใช้ควันไฟถนอมอาหาร
ที่ไม่เหมือนใครคือ ที่ขูดมะพร้าว คนเมืองน่านจะไม่ใช้กระต่าย แต่ใช้เป็นแมวเรียบร้อยหุบหางขูดมะพร้าวแทน
แมวขูดมะพร้าว Cr. Kanok Shokjaratkul
สมัยก่อนไม่มีตู้เย็น มีหม้อดินเก็บน้ำฝนไว้ ชุดหนึ่งอยู่บนบ้าน อีกชุดหนึ่งอยู่ข้างล่างบ้านหลังนี้คุณตาเคยเป็นผู้ใหญ่บ้าน เลยมีเกราะแขวนไว้ เพื่อตีกะลก
ส่วนห้องด้านหน้า จัดแสดง สตางค์แดง, สตางค์หู, เบี้ยหอย (800 เบี้ยมีค่าเท่ากับ 1 เฟื้อง) เงินเชียงใหม่, เงินสยาม เหรียญ ร.5, เงินจีน, เงินลาว, เงินแถบ, เครื่องเงิน, เข็มขัดอินเดีย, มีดเจียนหมาก, พานเมืองลาว พม่า กัมพูชา น่าน
Cr. Kanok Shokjaratkul
เครื่องเงินของน่าน จะมีลายดอกชัดเจน ขันใบใหญ่เรียกว่า สลุง มีกลองมโหระทึกทำด้วยทองสำริด ไว้ทำพิธีขอฝน เรียกว่า โอก หนัก 21 กิโล ส่วนด้านล่างใต้ถุนบ้านเป็นวิถีชีวิตการทอผ้า"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ไข่งามงอน
ทายาทของเจ้าฟองคำเล่าว่า สมัยเด็ก ๆ ที่บ้านชอบทำอาหารชนิดหนึ่งทานกัน เป็นเมนูโปรดของครอบครัว
"เมนูนี้เจ้าฟองคำทำมาตั้งแต่เด็ก ๆ คนที่เคยทานจะเรียกว่า ไข่คว่ำ เพราะเวลาทอดต้องคว่ำหน้าลง
คุณพ่อถวิล คงกระจ่าง บอกว่า เรียกไข่คว่ำ มันไม่เพราะ เวลาทอดแล้วมันงาม แต่เวลาทำ ลูก ๆ จะหน้างอน เลยตั้งชื่อใหม่ว่า ไข่งามงอน
Cr. Kanok Shokjaratkul
ขั้นตอนการทำ อันดับแรก ต้องมีวัตถุดิบเป็นไข่เป็ดไล่ทุ่ง นำไปต้มให้สุกจนแข็ง
ไม่ใช้ไข่ไก่ เพราะว่าไข่ไก่ต้มแล้วไข่ขาวไม่มันไม่สวย แต่ถ้าเป็นไข่เป็ด ต้มแล้วไข่ขาวจะใสแข็งเหมือนวุ้น
ต้มเสร็จแล้วก็เอามาผ่าทั้งเปลือก ต้องใช้ความพยายาม กดมีดลงไปบนเปลือก
ถ้าใครผ่าไม่เป็น เปลือกจะแตก ไม่สวย ลูก ๆ ไม่ชอบ มันทำยาก กว่าจะได้ต้องฝึกทำฝึกผ่าไข่อยู่นาน
Cr. Kanok Shokjaratkul
เมื่อผ่าไข่เสร็จแล้ว ก็เอาเนื้อไข่ต้มสุกออกมาสับ เอาเปลือกไข่ไปล้าง คว่ำให้แห้ง
นำไข่ต้มที่สับแล้วผสมกับน้ำพริกหนุ่ม สัดส่วน พริก 1 ไข่ 4 ไม่ต้องปรุงอะไร ใส่ลงไปในเปลือกไข่ นำไปทอด ก่อนทอด ก็ต้องชุบไข่ก่อน
ใช้ไฟปานกลาง เวลาทอด ทอดครั้งละน้อย ๆ ทอดไป 2-3 กระทะ น้ำมันต้องเททิ้ง เพราะจะมีกลิ่นไม่ดี ทอดเสร็จแล้วนำมากินกับเครื่องเคียง คือ ขิงอ่อนดอง"
Cr. Kanok Shokjaratkul
โฮงเจ้าฟองคำ ได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2559 ประเภทเคหะสถานและบ้านเรือนเอกชน จากสมาคมสถาปนิกสยาม
เป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์เรือนไม้เก่า นำมาใช้ประโยชน์ เปิดให้เข้าชม เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีชีวิต รักษามรดกวัฒนธรรมทรงคุณค่าไว้ให้คนรุ่นหลังได้เข้าชม
ตั้งอยู่ที่ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน 55000
เปิดทุกวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.00 – 17.00 น. หยุดวันจันทร์-อังคาร
ค่าเข้าชม 20 บาท สอบถามเพิ่มเติม โทร 054 710 537, 089-560-6988