จัดประกวด "มะขามหวาน" พันธุ์เพชรอัมพรจากหล่มเก่าคว้ารางวัลชนะเลิศ 3 ปีซ้อน
เกษตรเพชรบูรณ์จัดประกวด "มะขามหวาน" ประจำปี 2566 โดยผลการประกวดมะขามหวานพันธุ์เพชรอัมพรจากหล่มเก่า คว้ารางวัลชนะเลิศ 3 ปีซ้อน
สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้จัดการประกวด "มะขามหวาน" ในงาน มะขามหวานนครบาลเพชรบูรณ์ ประจำปี 2566 เพื่อเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงของมะขามหวานจังหวัดเพชรบูรณ์ รวมทั้งเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรผู้ปลูกมะขามหวาน พัฒนาปรับปรุงคุณภาพให้มีความสม่ำเสมอ ได้มาตรฐานสินค้า ตรงกับความต้องการของตลาด ตลอดจนให้เกษตรกรตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี
การจัด "ประกวดมะขามหวาน" ประจำปี 2566 ในครั้งนี้ มีการประกวดมะขามหวานจำนวน 5 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ศรีชมภู , พันธุ์ขันตี , พันธุ์สีทอง , พันธุ์ประกายทอง และพันธุ์อื่นๆ โดยผู้ชนะเลิศการประกวดแต่ละสายพันธุ์จะได้รับโล่และเงินรางวัล 10,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัล 5,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล 3,000 บาท และรางวัลชมเชยอีก 2 รางวัล รางวัลละ 1,000 บาท
โดย "ผลการประกวดมะขามหวาน" พันธุ์ศรีชมภู ผู้ชนะเลิศ คือ นางปอ โคตรสุวรรณ ชาวบ้านหมู่ที่ 7 ต.ซับเปิบ อ.วังโป่ง , พันธุ์ขันตี ผู้ชนะเลิศ ได้แก่ นางสร้อยประสิทธิ์ บุญกิจ ชาวบ้านหมู่ที่ 13 ต.วังบาล อ.หล่มเก่า , พันธุ์สีทอง ผู้ชนะเลิศ คือ นายอภิวรรธน์ ขีดวัน ชาวบ้านหมู่ที่ 12 ต.ห้วยใหญ่ อ.เมืองเพชรบูรณ์ , พันธุ์ประกายทอง ผู้ชนะเลิศ คือ นางเสริม กันหา ชาวบ้านหมู่ที่ 3 ต.ซับเปิบ อ.วังโป่ง และสายพันธุ์อื่นๆ ผู้ชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวภิญญาพัชญ์ คำแว่น (พันธุ์เพชรอัมพร) ชาวบ้านหมู่ที่ 3 ต.ตาดกลอย อ.หล่มเก่า
นายสุภาร อภัยนอก หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและและพัฒนาเกษตรกร รักษาการเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า ในปีนี้มีเกษตรกรผู้ปลูกมะขามที่สนใจร่วมส่งมะขามคุณภาพดีเข้าประกวด จำนวน 494 ตัวอย่าง โดยเป็นพันธุ์ศรีชมภู 152 ตัวอย่าง พันธุ์ประกายทอง 124 ตัวอย่าง พันธุ์สีทอง 93 ตัวอย่าง พันธุ์ขันตี 75 ตัวอย่าง และพันธุ์อื่นๆ 50 ตัวอย่าง และได้นำตัวอย่างมาจัดเรียงให้คณะกรรมการพิจารณา
รอบแรกในแต่ละสายพันธุ์จะคัดให้เหลือ 20 ตัวอย่าง โดยพิจารณาจากลักษณะภายนอก เช่น รูปร่างฝัก สีของฝัก ความสมบูรณ์ของฝัก เป็นต้น จากนั้นก็จะคัดเลือกให้เหลือสายพันธุ์ละ 10 ตัวอย่าง โดยการแกะและพิจารณาดูเนื้อว่ามีความสวยงาม ตรงตามสายพันธุ์และเป็นราหรือไม่ และก็จะคัดให้เหลือสายพันธุ์ละ 5 ตัวอย่าง สุดท้ายก็จะเป็นการตัดสินหาผู้ชนะโดยจะพิจารณาคุณสมบัติโดยรวมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นความสวยงามและความสมบูรณ์ของฝัก เนื้อ ความหวาน และจะต้องมีมติเป็นเอกฉันท์จากคณกรรมการ
และสำหรับผู้ชนะเลิศแต่ในแต่ละสายพันธุ์ คณะกรรมการจะได้ลงพื้นที่เพื่อดูการบริหารจัดการสวนมะขามหวานดังกล่าวเพื่อพิจารณาหาผู้ชนะเป็นสุดยอดมะขามหวาน ซึ่งจะได้รับถ้วยพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมรางวัลเงินสดอีก 10,000 บาท ซึ่งจะมีการมอบถ้วยพระราชทานรวมทั้งรางวัลต่างๆในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 นี้ ณ เวทีกลาง หน้าศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์
ข่าวโดย อารีย์ สีแก้ว จ.เพชรบูรณ์