ท่องเที่ยวเรียนรู้ ‘ภูเก็ต’ ฉบับย่อ ที่ ‘มิวเซียมภูเก็ต’

ชวนท่องเที่ยวย้อนอดีตไปชมเมืองภูเก็ต ที่ ‘มิวเซียมภูเก็ต’ แหล่งเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน เมืองที่คนทั่วโลกอยากจะมาท่องเที่ยว
‘มิวเซียมภูเก็ต’ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจ ตั้งอยู่ที่สี่แยกชาร์เตอร์ ใจกลางเมืองภูเก็ต เป็นอาคารสองชั้น สีเหลืองสดใส
จอมนาง คงรัตน์ หัวหน้าพิพิธภัณฑ์ มิวเซียมภูเก็ต กล่าวว่า มิวเซียมภูเก็ต พัฒนามาจากพิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์ (Peranakannitat)
แหล่งเรียนรู้ของเทศบาลนครภูเก็ต สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ได้เข้ามาบริหารจัดการทำเป็น มิวเซียมภูเก็ต
ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์สองส่วน คือ ภูเก็ตนครา และ เพอรานากันนิทัศน์ เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองและวัฒนธรรม มีนิทรรศการหมุนเวียนเกี่ยวกับประเพณีของภูเก็ต"
- ป่า-เหมือง-เมือง-ท่องเที่ยว
ขวัญชนก ตายัง เจ้าหน้าที่บริการความรู้ภาษาต่างประเทศ ผู้นำชมในพิพิธภัณฑ์ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองภูเก็ต มีคำจำกัดความอยู่ใน 4 คำ
ยุคแรกคือ ‘ป่า’ ในอดีต ผู้คนทำเกษตร ทำประมง ต่อมาเป็นยุค ‘เหมือง’ มีการทำเหมืองแร่ดีบุก ดึงดูดให้ผู้คนต่างภาษา ต่างวัฒนธรรมเข้ามา เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง
เกิดเป็นยุค ‘เมือง’ มีการก่อสร้างสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานหลายวัฒนธรรม เมื่อการทำเหมืองแร่ถดถอยลง ก็เกิดยุค ‘ท่องเที่ยว’ ในเวลาต่อมา
ด้านล่างของอาคารเป็นนิทรรศการ ภูเก็ตนครา มีแผนที่ พ.ศ. 2453 สมัยรัชกาลที่ 5 แสดงให้เห็นว่า ถนนถลางมีความหนาแน่น เต็มไปด้วยอาคารสองชั้น เป็นย่านการค้าหลักของเมือง
จัดแสดงโมเดลการทำเหมืองแร่ ทั้งเหมืองแร่เชิงเขา, เหมืองฉีด, เหมืองสูบ ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวถูกเปลี่ยนเป็นโรงแรมหรือสถานที่ท่องเที่ยวหมดแล้ว
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง การทำเหมืองแร่ถดถอย เปลี่ยนไปโปรโมทท่องเที่ยวทางทะเลแทน มีเปิดสนามบินพาณิชย์ แล้วมีสึนามิ การท่องเที่ยวก็หยุดชะงักลง
ปี 2548 เปลี่ยนมาโปรโมทการท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองเก่า ตลาดโบราณ ตลาดน้ำต่าง ๆ นักท่องเที่ยวก็เข้ามามากขึ้น มีทั้งกลุ่มท่องเที่ยวทางทะเลและกลุ่มท่องเที่ยวในเมือง"
- ชาวภูเก็ตคือชาวเพอรานากัน ?
บนชั้นสองจัดแสดง เพอรานากันนิทัศน์ มีห้องแสดงวิดีทัศน์ เล่าเรื่องราวการเข้ามาของชาวจีนฮกเกี้ยน
"ในช่วงนั้นประเทศจีน มีสงครามฝิ่น มีปฏิวัติราชวงศ์ชิง ราชวงศ์หมิง ทำให้คนจีนระส่ำระสาย อยากอพยพย้ายถิ่น
ที่ออกมา 80-90 เปอร์เซ็นต์ เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน จากมณฑลฟูเจี้ยน เมื่อมาถึงภูเก็ตก็เป็นกุลีแบกหาม ที่เหมืองแร่กับท่าเรือ
สักพักก็แต่งงานกับคนพื้นถิ่น สภาพแวดล้อมตอนนั้นมีทั้งชาวตะวันตก, อินเดีย และชาติต่าง ๆ ที่เข้ามาซื้อขาย
มีการผสมผสานวัฒนธรรม เกิดเป็นกลุ่มวัฒนธรรมใหม่เรียกว่า ‘เพอรานากัน’ ภาษามลายู แปลว่า เด็กลูกผสม แต่พวกเขาเรียกตัวเองว่า บ้าบ๋า-ย่าหยา"
- นิทรรศการ 3 อ.
เดินต่อไปด้านในเราได้พบกับนิทรรศการมากมาย
"ห้องแรก 'อาภรณ์' จัดแสดงเสื้อผ้าเครื่องประดับ ที่ผสมผสานจากหลายวัฒนธรรม มีชุดผู้หญิงเป็นหลัก
เพราะชุดผู้ชายมีแค่สองแบบ คือ แบบจีนกับแบบฝรั่ง ถ้าไม่ใส่สูทก็ใส่ผ้าฝ้าย แต่ของผู้หญิง นำเสื้อผ้าพื้นถิ่นมลายู มาผสมกับคติจีน
เป็นเสื้อคอตั้งแบบจีน แขนจีบแบบตะวันตก และมีเสื้อแขนกระบอก ซึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วมในเซาท์อีสท์เอเชีย
แพทเทิร์นเป็นมลายู ลวดลายอิงความหมายจีน (ดอกไม้มงคล, สัตว์มงคล) ลายผ้าปาเต๊ะที่ภูเก็ตจะต่างจากลายผ้าในจังหวัดที่มีมุสลิม
มีใส่บราเซีย เสื้อชั้นในเต็มตัวแบบตะวันตก ส่วนชายเสื้อก็ตัดสั้นเหนือสะโพก ขณะที่จังหวัดที่มีมุสลิมชายเสื้อจะยาวกว่า
มีแสดงเครื่องประดับ เช่น ตะปิ้ง, ไข่ทอง, ปิ่นปักผม, สร้อยเจ้าสาว, เสื้อเคบาย่า เสื้อคลุมไม่มีกระดุม แล้วมีเสื้อคลุมอีกตัว เรียกว่าชุดนายหัวหญิง
ห้องที่สอง 'อาคาร' จำลองบ้านทรงร้านค้า ของชาวจีนฮกเกี้ยนภูเก็ต จะมีหิ้งอยู่หน้าบ้าน
เทียบได้กับตี่จูเอี๊ยของชาวจีนแต้จิ๋ว (ที่วางกับดินเพราะเป็นเทพดิน) แต่ทีกงแซเป็นเทพฟ้า วางด้านบนแหงนหน้าออกฟ้า
มีช่องแสงตรงกลางบ้าน แหล่งรวมฮวงจุ้ยที่ดี ครบ 4 ธาตุ (ดินน้ำลมไฟ) ไฟมาจากเตาในครัว มีบ่อน้ำ มีดินในบ่อน้ำ มีลมจากแสงข้างบน
แบ่งบ้านออกเป็นสามส่วน หัวบ้านเป็นปากมังกร เปิดประตูบ้านอ้าปากรับทรัพย์ กลางบ้านเป็นท้องมังกร แหล่งอุดมสมบูรณ์ ท้ายบ้านเป็นหางมังกร จะไม่สร้างห้องน้ำในบ้าน
ห้องที่สาม 'อาหาร' มีเมนูอาหารที่แจกจ่ายให้เพื่อนบ้านเพื่อบอกกล่าวว่า ลูกอายุครบหนึ่งเดือนแล้ว
ถ้าเป็นเพศชายจะมีไข่ต้มทาสีแดง ถ้าเป็นเพศหญิงจะเป็นขนมมงคล เพื่อนบ้านก็จะให้อาหารกลับมา
Cr. Kanok Shokjaratkul
ถ้าเป็นหมูสามชั้นอวยพรให้มั่งมีอุดมสมบูรณ์ ถ้าให้เส้นหมี่ให้อายุยืนยาว เป็นประเพณี
มุมหนึ่งจัดแสดง 'หมี่ฮกเกี้ยน' อาหารประจำจังหวัดภูเก็ต มีวิธีการผัดแบบจีน ใช้วัตถุดิบท้องถิ่น สูตรและเครื่องเทศตามแต่ละพื้นที่ มีแนะนำร้านหมี่ฮกเกี้ยนโดยคนท้องถิ่น 18 ร้าน
ต่อด้วย 'อาหารงานศพ' การเลี้ยงอาหารในงานศพ บ่งบอกถึงวัฒนธรรมในครอบครัว หรือพื้นที่นั้น ๆ ว่ามีรากฐานมาจากไหน
อย่างภาคกลางจะทานแยกของใครของมัน เป็นถ้วยเล็ก ๆ หลังฟังสวดเสร็จ แต่ของภาคใต้ มาถึงไม่ต้องไปไหว้ศพ มากินกันก่อนเลย
มีมุมจำลอง 'พิธียกน้ำชา' ของชาวเพอรานากัน ยกน้ำชาแบบจีน แต่ใช้ขนมในพื้นที่คือ กาละแม, ขนมชั้น, ข้าวเหนียว ส่วนพิธีการก็ปรับให้เข้ากับท้องถิ่นมากขึ้น
ห้องสุดท้ายจำลอง 'ประเพณีเทกระจาด' คนภูเก็ตไม่มีคติว่าเป็นวิญญาณเร่ร่อน ถือว่าเป็นเพื่อนที่อพยพมาด้วยกัน แต่มาตายนอกมาตุภูมิ จะตั้งโต๊ะกลางไว้ตามชุมชนหรือศาลเจ้า ถ้าเราเลี้ยงดูเขาดีก็จะไม่มารบกวนกัน"
................
มิวเซียมภูเก็ต
อาคารชาร์เตอร์แบงค์ ถนนภูเก็ต ตำบลตลาดใหญ่ เทศบาลนครภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต 83000 โทร 094 807 7873
เปิดทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 9:00-16:30 น. ปิดทุกวันจันทร์