เที่ยวเยาวพานิช เยาวราช ย่านเก่าร้านยาจีนและแหล่งการค้าดั้งเดิม
เยาวราช นอกจากอาหารอร่อย ยังเป็นแหล่งธุรกิจการค้าดั้งเดิม โดยเฉพาะบนถนนเยาวพานิช ถ้าจะซื้อทอง ยาจีน ไหว้เจ้า เพื่อเป็นสิริมงคล ต้องมาย่านเก่าแถวนี้
การเดินท่องถนนเยาวพานิช ได้ค้นพบว่าในตรอก ซอก ซอย มีร้านเก่าแก่อยู่ไม่น้อย แต่ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะเดินแค่ถนนสายหลักคือ ถนนเยาวราช หรือถนนมังกร ที่มีระยะทางประมาณ 1,510 เมตร โดยเริ่มที่บริเวณวงเวียนโอเดียน เปรียบเสมือนท้องมังกรจะไปสิ้นสุดปลายหางมังกรที่สุดถนน แหล่งที่อยู่ของชุมชนชาวจีนที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทย
ว่ากันว่าเยาวราชไม่เคยหลับใหล ไม่ว่ายามวิกาลหรือช่วงใดก็ตาม เนื่องจากเส้นทางเดินรถทางเดียวจากหัวมังกรไปถึงหางมังกร เต็มไปด้วยรถและผู้คนคล้ายมังกรที่มีชีวิต
เมื่อเร็วๆ นี้มีโอกาสไปเดินช่วงจัดงาน บางกอก ดีไซน์ วีค 2023 (Bangkok Design Week 2023) ตามรอย Walking Tour ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ชุมชนย่านเยาวพานิช เรื่องราวผู้คน ถิ่นฐานบ้านเรือนหลายแง่มุมที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก สถาปัตยกรรมบ้านเรือนที่ซ่อนอยู่ท่ามกลางความจอแจแหล่งค้าขายของย่านสำเพ็ง-เยาวราช
อาคารร้านทองฮั่วเซ่งเฮง เคยเป็นโรงหนังเก่า
กิจกรรมครั้งนี้ ทางนักศึกษาสาขาวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พาทัวร์และให้ข้อมูลทั้งเรื่องวัฒนธรรมจีน ความเชื่อ อาหาร ศาลเจ้า โรงงิ้วเก่า ร้านยาแผนโบราณ น้ำสมุนไพร ย่านธุรกิจรองเท้า วัดญวน
โดยพาไปรู้จักเรื่องราว ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง, ศิริภัณฑ์โอสถ เชี่ยงอันตึ๊ง,ตรอกโพธิ์, อาคารเทียนกัวเทียน(ห้างขายทองฮั่วเซ่งเฮง) และวัดชัยภูมิการาม
ย่านธุรกิจเยาวราช
นอกจากถนนสายหลักเยาวราช ยังมีตรอก ซอก ซอยเชื่อมต่อถึงกัน ไม่ว่าย่านสำเพ็ง ถ.วานิช 1 ตรอกโรงโคม ถนนเยาวพานิช ถนนมังกร แหล่งรวมธุรกิจที่มีเอกลักษณ์แต่ละย่าน มีทั้งเทปซีดีสวดมนต์ เพลงจีน, ของเล่นเด็ก, โคมไฟและผ้าแดงมงคล,เครื่องประดับ,ร้านขายยาจีน, ปฏิทิน, อาหารแห้ง และห้างทอง รวมไปถึงโฮลเทลดีๆ ราคาไม่แพง
เยาวราชในอดีตเป็นแหล่งรวมความบันเทิง ทั้งโรงภาพยนตร์ โรงงิ้วจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันได้เลิกกิจการหมดแล้ว นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งรวมธุรกิจผิดกฎหมาย พวกบ่อนการพนัน ซ่องโสเภณีย่านตรอกเต๊า (ซอยเยาวราช 8 ในปัจจุบัน)
เยาวราชไม่เคยหลับใหล
ย่านเก่าต้อง'เยาวพานิช'
ย่านเก่าที่เรียกว่า 'เยาวพานิช' ถนนเส้นนี้สร้างมากว่าร้อยปี เพื่อเชื่อมต่อเยาวราชและถนนทรงวาดในอดีต ในสมัยรัชกาลที่ 5 เคยเป็นคลองเล็กๆ แต่มีความตื้นเขิน จึงมีการถมคลองตัดถนนเล็กๆ
เยาวพานิช ย่านสำคัญของเยาวราช นอกจากร้านขายยาจีน ยังเฟื่องฟูเรื่องธุรกิจรองเท้า อาหารแห้ง และร้านอาหาร ร้านขนมอร่อย
ในตรอกแคบๆ ที่เรียกว่า ตรอกโพธิ์ หรือตรอกแขวนคอ นอกจากคนจีนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนทำมาหากินจนกลายเป็นเจ้าสัว ยังมีกลุ่มแรงงานจีนที่ทำงานหนัก แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงเข้าไปเกี่ยวพันกับการสูบฝิ่น เพื่อบรรเทาความปวดเมื่อย
ฝิ่นจึงเข้ามาพร้อมแรงงานจีนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ผ่านมาจนถึงยุครัชกาลที่ 6 เมื่อมีคนสูบฝิ่นมากขึ้นกลายเป็นปัญหาของชาติ
ด้านหลังโฮลเทลย่านเยาวพานิช
เหมือนเช่นที่กล่าวมา คนจีนที่อพยพมาย่านเยาวราชและสำเพ็งในยุคแรกๆ รัตนโกสินทร์ ที่ไม่อาจสร้างเนื้อสร้างตัว เมื่อติดฝิ่นและชีวิตล้มเหลวจึงผูกคอตายที่ต้นโพธิ์ในตรอกเล็กๆ ใกล้กับถนนเยาวพานิช สมัยก่อนตรอกแห่งนี้ทั้งเงียบและวังเวง โดยเฉพาะช่วงพลบค่ำ ภาพโคมแดงจำนวนมากที่แขวนบนกิ่งต้นโพธิ์ทำให้คนเดินผ่านมารู้จักขยาดๆ
"แท้จริงแล้วบรรยากาศดังกล่าวเกิดจากประเพณีของคนจีน เมื่อมีคนในครอบครัวเสียชีวิตและทำพิธีศพแล้ว ญาติจะนำโคมแดงกลับมาที่บ้าน แต่สำหรับตรอกผูกคอตาย (ตรอกโพธิ์) นั้นเป็นที่ฝากร่างของคนจีนที่ผิดหวังจากการมาเผชิญโชคในแผ่นดินไทย บางคนไม่มีญาติ เมื่อทำพิธีแล้ว จึงเอาโคมแดงแขวนไว้ที่ต้นโพธิ์ แต่ต่อมาไม่มีใครคิดสั้นมาแขวนคออีก โคมแดงก็ค่อยๆ หายไป"
พื้นที่เยาวพานิช ส่วนใหญ่เป็นอาคารพาณิชย์ โกดังธุรกิจขายส่งรองเท้าและร้านรองเท้า เมิร์จ โฮสเทล ที่สร้างขึ้นใหม่ก็มาจากโกดังรองเท้า ปัจจุบันกลายเป็นที่พักยอดนิยมสำหรับชาวต่างชาติ
ร้านโพทงของเชฟแพม
ย่านเก่าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองและร้านยาจีน
ศาลเจ้ามักจะของคู่กันกับการตั้งชุมชนชาวจีน ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เซี้ยอึ้งกง ย่านเยาวพานิช สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เคยบูรณะในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ในศาลเจ้ามีเทพองค์ประธานคือ เทพเจ้าเซี้งอึ้งกง และมีเทพผู้รับใช้ด้านซ้ายและขวา เพื่อรักษาความสงบสุข ชาวบ้านนิยมมาขอพร ถ้าคำอธิษฐานประสบความสำเร็จ ก็จะนำฝิ่นมาถวาย
เดิมทีพื้นที่ที่ตัดกันระหว่างถนนเยาวพานิชและสำเพ็ง มีร้านขายยาจีนหลายสิบแห่ง หลายร้านหายไปตามกาลเวลา มีเพียงร้านศิริภัณฑ์โอสถ (เปิดมากว่า 60 ปี) หลงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวนับตั้งแต่จดทะเบียนการค้าปี 2504 ก่อตั้งโดยอากงฮุยจั๊วที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการแพทย์แผนจีนจากเมืองจีน
ปัจจุบันผู้สืบทอดกิจการเป็นทายาทรุ่นที่ 3 เภสัชกรหญิงมุกดา หงไพศาล ยังจำหน่ายสมุนไพรจีนนำเข้าจากจีนและฮ่องกง และยังได้รับความนิยมจากกลุ่มคนอายุ 40 ปีขึ้นไป
ส่วนร้านยาจีนเก่าแก่อีกแห่ง โพทง ก่อตั้งโดยปอคุนเอี๊ยะบ๊อ ชาวจีนฮกเกี้ยน ในอดีตอาคาร 5 ชั้น เป็นทั้งร้านขายยาและสถานที่ผลิตยาจีน
ปัจจุบันทายาทรุ่นที่ 5 เชฟแพม พิชญา อุทารธรรม ได้ปรับปรุงตึกโดยเก็บโครงสร้างเดิมไว้ทั้งหมด และสร้างสิ่งใหม่ให้สอดคล้องกัน กลายเป็นร้านโพทง ร้านอาหารไฟน์ไดน์นิ่ง บาร์คอมบูฉะ จุดชมวิวย่านเยาวพานิช แหล่งท่องเที่ยวกลิ่นอายร้านขายยาเก่า เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก (ต้องจองล่วงหน้า)
ตรอกโพธิ์ เส้นทางเล็กๆ ย่านเยาวพานิช
จากโรงหนังเป็นร้านขายทองฮั่วเซ่งเฮง
ในอดีตร้านขายทองหัวมุมถนนเยาวพานิช ฮั่วเซ่งเฮง เคยเป็นโรงหนังชื่อเทียนกัวเทียน ศูนย์กลางความบันเทิงของกรุงเทพฯ ในช่วง 50-70 ปีที่แล้ว รอบๆ โรงหนังมีโรงงิ้ว 3-4 ค่าตั๋วชมภาพยนตร์ยุคนั้นราคา 5-10 บาท ส่วนการชมงิ้วราคา 3-5 บาท
นอกจากนี้บนถนนเยาวพานิช ยังมีร้านน้ำคั้นจากเนื้อของเมล็ดอัลมอนด์จีน (เมล็ดแอปริคอต) ช่วยแก้ไอ บำรุงปอด มีรสซ่าๆ ขายในช่วงบ่ายๆ เป็นร้านดั้งเดิมที่ยังเหลืออยู่ ตั้งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับภัตตาคารชื่อดังตั้งใจอยู่
วัดชัยภูมิการาม ใกล้กับร้านทองฮั่วเซ่งเฮง
วัดญวนแห่งนี้หรือวัดลอยฟ้า ตั้งอยู่บนชั้น 7 แต่เดิมวัดชัยภูมิการามเป็นอาคารไม้คล้ายศาลเจ้า กระทั่งบูรณะเป็นอาคาร 7 ชั้น สร้างในปีพ.ศ. 2543 เสร็จในปี 2563 โดยชั้นอื่นๆ ในอาคารเป็นลานจอดรถ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ฆราวาสที่เดินทางมากราบไหว้สักการะ
เทศกาลใหญ่ประจำปีของวัดญวณแห่งนี้ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ ขึ้น 1 ค่ำ ถึง 8 ค่ำ จะมีประเพณีบูชาดาวนพเคราะห์ เพื่อเป็นสิริมงคล จัดปีละ 2 วันจะมีคนสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก
ทั้งหมดคือเรื่องราวคร่าวๆ ของตรอก ซอก ซอย ถนนเยาวพานิช ที่อยากชักชวนไปเดินเที่ยวเล่น
อุโบสถ ชั้น 7 วัดชัยภูมิการาม ถ.เยาวพานิช
.....................
อ้างอิง : ข้อมูลสาขาวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร