สั่งด่วนภัยแล้ง! กว๊านพะเยาแห้งสุดรอบ 80 ปี
ผู้ว่าฯพะเยา สั่งการด่วน กว้านพะเยาแห้งจนเหลือเพียง 3 ล้าน ลบ.ม. ด้านชาวบ้านใจชื้น อบจ.พะเยาเข้าช่วยเหลือแหล่งทำมาหากิน เผยรอบนี้แห้งที่สุดในรอบ 80 ปี
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปยังบริเวณกว้านพะเยา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา หลังสถานการณ์น้ำในกว้านเริ่มที่จะเลวร้ายลงไปทุกที ทั้งนี้จากการสำรวจรอบ ๆ บริเวณกว้านนั้นในหลายจดพื้นดินเริ่มโผล่และมีหญ้าขึ้นเป็นแนวให้เห็นชัดเจน
รวมทั้งในส่วนของวัดติโลกอารามซึ่งถือว่าเป็นวัดกลางกว้านแห่งเดียวของ จ.พะเยา วิวทิวทัศน์เริ่มที่จะดูไม่สวยงามเพราะระดับน้ำแห้งลงไปจนชาวบ้านที่พายเรือและนักท่องเที่ยวเกือบที่จะไม่สามารถเดินทางไปไหว้พระในวัดแห่งนี้ได้
ล่าสุด นายอัครา พรหมเผ่า นายก อบจ.พะเยา ได้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่นำรถแบคโฮแบบเรือไปเปิดร่องน้ำให้สามารถสัญจรทางน้ำได้ และอีกด้าน
ว่าที่ ร.ต.ณรงค์ โรจนโสทร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาได้มีการประชุมและสั่งการอย่างเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาน้ำกว้านแห้งในครั้งนี้ด้วย
ว่าที่ ร.ต.ณรงค์ กล่าวว่า ขณะนี้ระดับน้ำที่วัดได้ในกว้านอยู่ที่ 3 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งพบว่าการใช้น้ำในช่วงก่อนที่เป็นฤดูน้ำหลากการเก็บกักจะอยู่ที่ประมาณ 50 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งต้องมีการปล่อยน้ำออกกว้านเป็นระยะทำให้ชาวบ้านท้ายกว้านและนาข้าวได้รับความเสียหายจากการปล่อยน้ำในช่วงนั้นซึ่งในการดูแลช่วงนั้นตนเองได้ให้ชาวบ้านปลูกข้าววิธีแบบนาปรังในรูปแบบช่วงฤดูแล้งและได้มีการปล่อยน้ำให้เป็นระยะด้วยเพื่อแก้ไขปัญหาช่วงที่ปลูกข้าวนาปีแต่เจอน้ำกว้านเข้าท่วม
อีกทั้งในช่วงนี้เห็นว่าเป็นปรากฏการณ์เอลนีโญ่ทำให้ตกไม่ตกต้องตามฤดูกาลและส่งผลให้กว้านพะเยาน้ำแห้งในเวลาต่อมาด้วย ทั้งนี้ในส่วนของกองบัญชาการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของ จ.พะเยา เองนั้นได้มีการประชุมวางแผนเพื่อเตรียมการแก้ไขปัญหาน้ำกว้านแห้งนี้ และเมื่อตอนต้นเดือน เม.ย.66 ช่วงที่น้ำกว้านแห้งเหลือประมาณ 5 ล้าน ลบ.ม.
ตนได้สั่งการให้มีการกระจายน้ำจากอ่างแม่ต๋ำเข้าสู่กว้านพะเยาแห่งนี้ประมาณ 2 ล้าน ลบ.ม.จนทำให้ช่วงนั้นสามารถจัดงานสงกรานต์ได้ และหลังจากนั้นช่วงปลายเดือน เม.ย.66 ตนได้เรียกประชุมกันอีกครั้งเพื่อจัดเตรียมแผนการกระจายน้ำจำนวน 4 จุดด้วยกัน โดยจุดแรกที่จะผันน้ำเข้ากว้านนั้นคือในส่วนของอ่างเก็บน้ำแม่ต๋ำซึ่งได้มีการเปิดประตูน้ำร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำจำนวน 2 ล้าน ลบ.ม.
ต่อมา ในช่วงบ่ายทาง ปภ.เขต 15 ร่วมกับชลประทานพะเยาได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เพื่อที่จะผันในพื้นที่สันหนองเหนียวน้ำเข้าสู่กว้านพะเยาอีกประมาณ 5 แสน ลบ.ม.รวมทั้งในส่วนของอ่างเก็บน้ำแม่ปืมก็ได้ผันน้ำเข้ามาอีกประมาณ 4.5 ล้าน ลบ.ม.รวม ๆ แล้วน้ำในกว้านในขณะนี้จะอยู่ที่ประมาณ 7 ล้าน ลบ.ม.
ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่จะให้ประชาชนในพื้นที่รอบกว้านพะเยารวมถึงผู้ใช้น้ำทุกรายได้มีความมั่นใจในเรื่องของการแก้ไขปัญหาน้ำแห้งในครั้งนี้ ทั้งนี้ตนเองยังสั่งการให้ทางประมงและชลประทานพะเยาทำการสำรวจประตูท้ายน้ำว่ามีการรั่วซึมหรือไม่ซึ่งถ้าหากพบก็ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาทันทีเพื่อที่จะได้ระบายน้ำได้อย่างปกติต่อไปเช่นกัน
ด้านนายทองดี หมุนวงศ์ ชาว จ.เชียงราย ซึ่งเดินทางมาไหว้พระที่วัดติโลกอารามกับครอบครัวได้กล่าวว่า ตนเองเดินทางมาจากพื้นที่ ต.นางแล เมืองเชียงราย เพื่อที่จะพาครอบครัวมาเที่ยวช่วงปิดเทอมซึ่งเมื่อมาเห็นกว้านพะเยาแห้งขนาดนี้ตนเองก็ตกใจเป็นอย่างมากเพราะหลายครั้งที่มาก็ไม่เคยพบเห็นว่าน้ำในกว้านจะแห้งแบบนี้
หญิงสาวรายหนึ่งซึ่งมีอาชีพขายบายศรีไว้พระบริเวณจุดท่าเรือของวัดติโลกอารามได้เปิดเผยว่า วันนี้ถือว่าเป็นวันแรกในการเปิดท่าเรือหลังทางจังหวัดมีคำสั่งให้ปิดมาประมาณ 14 วัน ซึ่งช่วงที่ปิดนี้ไม่มีการดูแลหรือเยียวยาจากภาครัฐแม้แต่น้อย
ทั้งนี้ในช่วงแรกมีการขอทดลองให้ปิดก่อน 5 วัน ปรากฏว่าชาวบ้านที่พายเรือข้ามฟากซึ่งส่วนใหญ่เคยมีอาชีพหาปลาบริเวณกว้านพะเยานี้ต่างได้รับความเดือดร้อนจากการขาดรายได้เป็นอย่างมากด้วยเพราะสถานการณ์น้ำกว้านแห้งและยังถูกสั่งปิดท่าเรือจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐอีก ในส่วนของคันดินที่หลายคนเห็นนี้นั้นเมื่อตอนที่ถูกปิดท่าเรือช่วงแรกทางกลุ่มของตนได้มีการประชุมหารือเกี่ยวกับว่าจะขอเจ้าหน้าที่เข้ามาแก้ไขปัญหาในช่วงนี้ทั้งนี้จึงได้มีการประสานขอความช่วยเหลือไปยังนายอัครา พรหมเผ่า นายก อบจ.พะเยา ซึ่งทางนายก อบจ.พะเยาก็ได้มีการตอบรับในการช่วยเหลือเป็นอย่างดี
โดยการส่งเรือแบคโฮแบบเขนยาวเข้ามาทำการขุดเปิดทางน้ำเพื่อเป็นการที่จะให้ชาวบ้านได้มีรายได้จากการเรือพายเรือข้ามฟากไหว้พระกลางน้ำอีกครั้ง ส่วนดินที่ขุดแล้วมากองจนกลายเป็นคันดินนั้นยังถือว่าเป็นการสร้างเพื่อชะลอน้ำไม่ให้ไหลออกไปอีกเพราะเวลานี้น้ำกว้านคือแห้งที่สุดแล้วและหากผู้ว่าฯพะเยาได้ทำการประสานขอน้ำไม่ว่าจากอ่างเก็บน้ำแม่ปืมหรือหนองเล็งทรายตรงคันดินนี้ก็จะเป็นเหมือนฝายชะลอน้ำไปในตัวด้วย อีกทั้งหากถึงปลายเดือน พ.ค.66 พบว่าฝนยังไม่ตกตรงคันดินก็จะกลายเป็นทางสัญจรให้เดินข้ามไปไหว้พระได้อีกทาง
ชาวบ้านอีกรายได้ให้สัมภาษณ์เพียงสั้น ๆ ว่า วิกฤตกว้านพะเยาที่แห้งในปีนี้พบว่าแห้งที่สุดในรอบ 82 ปี ด้วย แต่ตอนปี 59 ก็พบว่าแห้งแต่ไม่มากโดยผู้ว่ายุคนั้นได้มีการประสานงานรณรงค์ในการใช้น้ำและการแก้ไขเรื่องน้ำจนตอนนั้นปริมาณน้ำมีขึ้นมาประมาณเกือบ 10 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวกลุ่มชาวบ้านส่วนหนึ่งได้เคยไปถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในเรื่องน้ำกว้านแห้งนี้ ซึ่งตอบสั้น ๆ ให้กับพวกตนมาว่า “เรื่องน้ำเป็นเรื่องของชาวบ้าน” ทำให้หลายคนเกิดความไม่พอใจด้วย