ท่องเที่ยว ‘พระนคร’ เส้นทางใหม่ 4 ชุมชน รอบ ‘ภูเขาทอง’
วันเดย์ทริปไปกับการท่องเที่ยวเส้นทางใหม่ ที่ยังไม่เคยมีใครจัดมาก่อนใน ‘พระนคร’ สัมผัสภูมิปัญญาท้องถิ่นใน 4 ชุมชน รอบ ‘ภูเขาทอง’
วันดี ๆ ที่แสงแดดสดใส เราได้ไป ร่วมงาน กิจกรรมท่องเที่ยวสร้างสรรค์ ‘กินเที่ยวข้ามภพ (อย่างมี) ภูมิ’ จัดโดย โครงการวิจัย 'การยกระดับภูมิปัญญาชุมชนสู่ย่านท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์' มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ร่วมกับ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้กองทุน ววน.
เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เชื่อมโยงเครือข่ายภูมิปัญญา ใน 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนนางเลิ้ง, ชุมชนบ้านบาตร, ชุมชนวัดสระเกศ, ชุมชนสิตาราม (วัดคอกหมู) เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2566
เป็นครั้งแรกที่ได้มีการออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวย่านรอบ ๆ ภูเขาทอง โดยปราชญ์ท้องถิ่น นำเสนอภูมิปัญญาที่ได้สืบทอดต่อกันมา ที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ชุมชนบ้านบาตร
พวกเราคือนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกของเส้นทางนี้ ออกเดินทางจากจุดนัดหมาย Old Town Gallery เวลา 9:00 น. จากถนนจักรพรรดิพงษ์ไปยัง ชุมชนบ้านบาตร แหล่งรวมช่างฝีมือพุทธศิลป์
สง่า เสือศรีเสริม ไกด์ท้องถิ่นในชุมชนบ้านบาตร นำพวกเราชมการทำบาตรพระทั้ง 8 ขั้นตอนอย่างละเอียด เริ่มจากการตีขอบบาตรก่อน
Cr. Kanok Shokjaratkul
"การทำบาตรพระตามหลักศาสนาจะมี 8 ชิ้น นำมาขึ้นรูปเชื่อมติดกัน ต่อบาตรให้เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัส แล้วตะไบออกให้เรียบเนียนจนเป็นเนื้อเดียวกัน
ถ้าพระบางรูปขอเพิ่มน้ำหนัก เราก็จะสั่งทำเหล็กหนาขึ้น เช่น ปกติเราใช้เบอร์ 20 ก็ลดเบอร์ลงเป็น 19 หรือ 18
สำหรับช่างมืออาชีพ 1วัน ได้ 3 ใบ ซึ่งก่อนใช้ พระจะนำไป 'บ่ม' ด้วยความร้อนก่อน คือการก่อไฟรอบนอก บาตรอยู่ตรงกลาง ไอร้อนจะเข้าไปเคลือบ ทำให้ไม่เป็นสนิม กลายเป็นสีปีกแมงทับ อมดำอมเขียวอมเทา
Cr. Kanok Shokjaratkul
เขาซื้อเรา 2500 บาท เสียค่าบ่มอีก 5000-7000 แพงกว่าค่าบาตร เพราะใช้เวลา 13 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น บาตรรมดำ สนิมจะไม่กิน"
พวกเราแวะพักที่ลานกลางชุมชน ดื่มน้ำมะตูม ข้าวมธุปายาศ ฟังดนตรีระนาดเอกโหมโรง และร่วมรำวงกับคณะรำวงบ้านบาตร
- ชุมชนวัดสระเกศ
จากนั้น เดินทางต่อไปยัง ชุมชนวัดสระเกศ ผ่านเขตสังฆาวาส เดินทะลุไปด้านหลังวัด มองเห็นคลองที่เคยเป็นเส้นทางการขนส่งไม้ในอดีต ที่มาจากคลองผดุงกรุงเกษม
กิจการค้า แปรรูปไม้ โรงเลื่อย โรงผลิต งานช่างไม้ กระจายอยู่รอบ ๆ ย่านภูเขาทอง คนส่วนมากที่มาวัดสระเกศ มักคิดว่ามีแต่ภูเขาทอง แต่จริง ๆ แล้วมีชุมชนที่น่าสนใจอีกมาก
วัดสระเกศ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เดิมตั้งใจสร้างเป็นพระปรางค์องค์ใหญ่เหมือนวัดอรุณ แต่ดินในพื้นที่พระนครเป็นดินเลน ดินทะเลตม เป็นที่ลุ่มชุ่มชื้น ทำให้ฐานรากพระปรางค์ทรุดลงมา
รัชกาลที่ 4 จึงเอาสิ่งสลักหักพักมาทำเป็นฐานรูปภูเขาแล้วสร้างพระเจดีย์ทรงลังกาไว้บนยอดสูงสุด มาเสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่อุปราชจากอินเดียมาทูลเกล้าถวาย
เราเดินผ่านลานจอดรถของวัดสระเกศ ตรงไปยัง ตรอกเซียงไฮ้ ตรอกโลงผี มองเห็นสตรีทอาร์ต Life after death exhibition
ที่ ป๋าเอ็กซ์-อรรถกฤตย์ จีนมหนันต์ แฟนพันธุ์แท้การ์ตูนเล่มละบาท ร่วมกับ อาจารย์โต๊ด โกสุมพิสัย นักวาดการ์ตูนเล่มละบาทสร้างสรรค์ไว้ ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย
Cr. Kanok Shokjaratkul
โจ้-ฐกฤตธรณ์ พิพัฒน์คฌากุล เจ้าของร้าน 'ประธาน' หีบศพ เล่าว่า สมัยก่อนตรงที่จอดรถที่เราเดินผ่านมานั้นเป็นที่เก็บศพคนตายมากมายจากโรคห่า (อหิวาห์ตกโรค) เพราะวัดในพระนครไม่มีเมรุเผาศพ แร้งเป็นร้อยก็ลงมากิน
"ซอยที่ผมอยู่แห่งนี้เดิมไม่มีชื่อ มีช่างฝีมือทำเฟอร์นิเจอร์ชาวจีนเซียงไฮ้มาอาศัยอยู่ เมื่อ 50 ปีที่แล้ว คนก็จะมาซื้อโต๊ะตู้เตียง Hand Made กันแถวนี้ สวนมะลิ วรจักร บ้านบาตร คนเลยเลยเรียกว่า ตรอกเซียงไฮ้
แล้วในซอยก็มีคนทำโลงศพอยู่ 2-3 เจ้า วางโลงระเกะระกะ คนก็เลยเรียกว่า ซอยโลงผี
ผมเป็นรุ่นที่สาม สินค้ามี 3 อย่าง โลงไทย, โลงจีน, โลงคริสต์ โลงไทย 3-7 วันเผา โลงจีน เป็นโลงจำปา เอาไปฝังในสุสาน ส่วนโลงคริสต์ หรือ โลงฝรั่ง พิธีกรรมจะเรียบง่ายมาก
ร้านทำโลงส่วนใหญ่จะใช้ไม้เหมือนกัน คือ ปาร์ติเกิลบอร์ด หรือไม้สัก ความแตกต่างจะอยู่ที่หนึ่ง.รายละเอียดวิธีการทำ สอง.การบริการของแต่ละร้าน
อย่างร้านผมใช้ ‘ชัน’ คุณภาพสูง หายากมาก ราคาแพงมาก เพราะมันเข้ากับเนื้อไม้มากกว่าซิลิโคน ใช้ยาแนวตามรอยต่อ นี่คือเสน่ห์ของร้านผม ปกติเขาใช้ชันเรือ ไม่ให้รั่ว
โลงมาตรฐานจะยาว 190 ซ.ม. ไซส์กลาง 22 นิ้ว เวลามีคนติดต่อมา เราจะถามว่า น้ำหนักเท่าไร เรามีหมด ตั้งแต่ 22-30 นิ้ว แล้วส่งให้ช่างประกอบ, ช่างสี, ช่างขึ้นลาย, ช่างตกแต่ง
ผมและพ่อไม่เคยห้อยพระ ไม่เคยเห็นผี ไม่มีไสยศาสตร์ เราจุดธูปไหว้แล้วทำให้ดีที่สุด
มีคนถามว่า ซื้อโลงห้ามต่อจริงหรือ นั่นเพราะเขากลัวคำว่า 'ต่อ' หมายถึงจะมีต่อศพที่ 2-3 ตามมา มากกว่า ผมว่านะ ไม่ว่าเราจะซื้ออะไร ถ้าราคาสูงเกินไป ต่อได้ครับ
ผมมีลูกค้าตามวัด ไม่ได้มีตามโรงพยาบาล เรามีอัลบั้ม อยากได้ราคาเท่าไร หลักพันหลักหมื่น ก็ว่าไปตามโบชัวร์ แล้วแต่ชอบแพงชอบถูก"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ชุมชนสิตาราม
คณะท่องเที่ยวของเราเดินเท้าต่อไปยัง ชุมชนสิตาราม ชมเด็ก ๆ เต้นประกอบดนตรีต้อนรับและชมรำแก้บนจากทายาทคณะละครดำรงนาฏศิลป์ (ฮวด จุยประเสริฐ)
เดิมบริเวณนี้เลี้ยงหมูเยอะ ผู้คนเรียกกันว่า วัดคอกหมู ส่วนชุมชนเกิดขึ้นหลังจากนายฮวดมาตั้งคณะละครชาตรี มีที่เล่นประจำ รับแก้บน ซึ่งก่อนจะรำต้องมี รำถวายมือ เทพบันเทิง เสียก่อน
เราแวะรับประทานอาหารกลางวันที่ร้าน Schizzi Café กับบะหมี่หมูแดง จากร้าน โลงผีหมี่เกี๊ยว หรือ บะหมี่บุญเลิศ เกี๊ยวหมูย่างซีอิ๊ว (Michelin) และ ถั่วแปปกุ้ง จากชุมชนตลาดนางเลิ้ง
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ชุมชนนางเลิ้ง
พวกเราเดินทางต่อไปยัง ชุมชนนางเลิ้ง ข้ามถนนหลานหลวง ถนนที่มีบ้านเรือนของผู้คนที่ทำอาชีพบันเทิงเกี่ยวกับคณะละครมากที่สุดสายหนึ่งในพระนคร
เราเข้าไปในตรอกละคร ถอดรองเท้าขึ้นไปนั่งชม ละครชาตรี บทที่ 1 นางวิฬาร์ เริ่มต้นการเกิดใหม่ ต่อด้วย การนุ่งโจง และทดลองรำกับ ครูกัญญา ทิพโยสถ ทายาทรุ่นที่ 4 ละครชาตรี คณะกัญญาลูกแม่แพน และคณะครูพูนเรืองนนท์
Cr. Kanok Shokjaratkul
ปิดท้ายด้วย Workshop ประดิษฐ์แป้งพวง ภูมิปัญญาของคนไทยในอดีตกาล ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
ใช้ แป้งหิน (ไม่ใช่ดินสอพอง) นำมาบดช้า ๆ แล้วนำ กลิ่นดอกจำปี ที่สกัดแล้วใส่ลงไป บดต่อจนแป้งเหนียว แล้วนำมาหยอดบนใบตองที่มีด้ายวางพาดอยู่
.
แป้งพวง เป็นเครื่องหอม เป็นเครื่องประดับก็ได้ เอามาทัดผม หรือเป็นต่างหูก็ได้ ปัจจุบันวัตถุดิบค่อนข้างหายาก ต้องไปหาจากร้านเจ้ากรมเป๋อ ตรงวัดสามปลื้ม
ในสมัยก่อน ถ้าเป็นผู้หญิงจะเอามา 5-6 เม็ด แต่งแต้มใบหน้า ถ้าเป็นผู้ชายจะสั่งไปบูชาพระ หรือเอาไปวัด
https://www.facebook.com/BaanNanglerng?mibextid=ZbWKwL