‘เที่ยวโคราช’ไปวัดเพดานงาม..ที่‘ปักธงชัย’
‘เที่ยวโคราช’ ชม ‘วัดเพดานงาม’ ที่ ‘ปักธงชัย’ เพลิดเพลินกับภาพจิตรกรรมฝาผนัง ทว่าเขียนไว้บนเพดาน ต้องแหงนคอชม ‘อำเภอปักธงชัย’ ยังมี ‘ปราสาทหิน’ วัฒนธรรมขอมโบราณ หลายแห่ง พร้อมทั้งประวัติความเป็นมาของ ‘ปักธงชัย’ นครราชสีมา
เที่ยวโคราช ครั้งนี้จะนำพาไปเข้าวัด ไม่ได้ไปไหว้พระขอเลขเด็ด หรือให้ท่านเสกเป่าอะไรทั้งสิ้น แต่จะพาท่านผู้อ่านไปชื่นชมกับภาพจิตรกรรมฝาผนัง เอ....ไม่ใช่สิครับ น่าจะเป็นจิตรกรรมบนเพดานมากกว่า ซึ่งภาพวาดเหล่านี้ วิจิตรบรรจง เรียกว่าสะกดเราตั้งแต่แหงนคอขึ้นไปดูกันทีเดียว มีสองวัด ในเส้นทางการเดินทางเดียวกัน ไม่ไกลกันมาก ในเขต อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา นั่นคือวัดปทุมคงคา หรือวัดนกออก อีกวัดคือวัดโคกศรีษะเกษ ผมไม่เคยเขียนถึงอำเภอปักธงชัยเลย ขอเขียนถึงสักหน่อยครับ
เชื่อแน่ว่าหลายคนคงคุ้นกับชื่อ ปักธงชัย ในนามของค่ายใหญ่ หรือที่ตั้งใหญ่ของทหารพรานมากกว่า ชื่อเสียงของทหารพราน ค่ายปักธงชัย นั้น โด่งดัง เป็นที่ครั่นคร้ามของอริราชศัตรู โดยเฉพาะคนในช่วงปี 2500-2545 ที่บ้านเมืองเรามีภัยทั้งจาก ผกค. ที่กำลังแพร่หลายไปทั่วประเทศ
ภัยจากการคุกคามของต่างประเทศที่มาประชิตติดชายแดน ภัยจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศเพื่อนบ้าน ภัยจากกองกำลังชนกลุ่มน้อยติดอาวุธที่ค้ายาเสพติด ฯลฯ ล้วนแล้วใช้บริการทหารพรานจากค่ายปักธงชัยทั้งสิ้น ชื่อ ‘ปักธงชัย’ จึงเป็นที่รู้จักมากมาย
แต่ ปักธงชัย ไม่ใช่เพิ่งจะมีมา หากแต่ดินแดนตรงนี้ มีผู้คนอาศัยมายาวนาน และมีบทบาทสำคัญมาแต่ในอดีต ในพื้นที่ ปักธงชัย มีปราสาทหิน ในวัฒนธรรมขอมโบราณหลายแห่ง แม้กระทั่งในย่านที่เราจะไปกันก็มีปราสาทหินที่เรียกว่าปรางค์บ้านปรางค์อยู่ด้วย นั่นย่อมแสดงว่า ในพื้นที่นี้มีชุมชน มีการตั้งบ้านเรือนมานานแล้ว
พอเข้ามาสมัยอยุธยา ปักธงชัยเป็นเมืองหน้าด่านด้านทิศใต้ของนครราชสีมา ซึ่งเมืองหน้าด่านนี้มีหน้าที่ทั้งเป็นกองระวังหน้าคอยสอดแนมข้าศึก ปะทะขัดขวางหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ข้าศึกยกทัพประชิดเมืองนครราชสีมาได้เร็วเกินไป
ซื่อเดิมของด่านปักธงชัยคือ ด่านจะโปะ ซึ่งใน นครราชสีมา ยังมี เมืองหน้าด่านอื่นๆ อย่าง ด่านเกวียน ด่านจอหอ ด่านขุนทด อีกด้วย ในเว็บไซต์ของสำนักงานพัฒนาชุมชน อำเภอปักธงชัย (https://district.cdd.go.th/pakthongchai) ให้ข้อมูลประวัติอำเภอว่า
หอไตรกลางน้ำวัดนกออก
“ ในสมัยกรุงธนบุรี พ.ศ. 2321 ในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดฯให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ 1) ยกกองทัพไปปราบเมืองเวียงจันทน์และได้รับชัยชนะขากลับ จึงได้กวาดต้อนเชลยชายหญิงพร้อมกับเพี้ยอุปราช และ ให้ไปพักอาศัยอยู่ที่ ด่านจะโปะ ครั้นชาวเมืองเวียงจันทน์ตั้งบ้านเรือนเป็นหลักฐานมั่นคงแล้ว
ษวาดบนผนังหอไตรกลางน้ำวัดนกออก ที่ลางเลือนมากแล้ว
เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) จึงกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตั้งด่านจะโปะเป็นเมือง เรียกว่า ‘เมืองปัก’(ยังไม่มีคำว่าธงชัย) และได้กราบบังคมทูลขอให้เพี้ยอุปราชเป็นเจ้าเมืองปักคนแรก พระราชทานนามว่า ‘พระยาวงศาอรรคราช’ (ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นต้นตระกูลวรธงไชย ขณะนี้) เมืองปักในสมัยนี้เป็นเมืองชั้นตรีขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ. 2323
พระอุโบสถหลังเก่า วัดนกออก
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทน์ยกทัพมายึดเมืองนครราชสีมา และได้กวาดต้อนชาวเมืองไป แต่ถูกคุณหญิงโม และชาวเมือง นครราชสีมา ต่อสู้กับทหารเวียงจันทน์จนได้รับชัยชนะ และได้พระราชทานนามว่า ท้าวสุรนารี การกวาดต้อนเชลยคราวนั้น ทหารเจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทน์ ได้มากวาดต้อนชาวเมืองปักทั้งชาวไทยโคราช และ ชาวเวียงจันทน์
พระประธานภายในอุโบสถเก่าวัดนกออก
ซึ่งชาวเวียงจันทร์ได้อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ต่างก็มีที่ทำมาหากินสุขสบายมาเป็นเวลา 47 ปี จึงพร้อมใจกันจับอาวุธต่อสู้ขับไล่ทหารของเจ้าอนุวงศ์พ่ายแพ้กลับไป (ปัจจุบันชาวเวียงจันทน์เป็นบรรพบุรุษ ของชาวตำบลตะคุทั้งตำบล ตำบลเมืองปักบาง หมู่บ้าน ตำบลธงชัยเหนือบางหมู่บ้าน ตำบลสะแกราชบางหมู่บ้าน ตำบลตะขบบางหมู่บ้าน)”
ภาพวาดบนเพดานวัดนกออก
ในยุคนี้เรารู้จักปักธงชัย ในฐานะของแหล่งผลิตผ้าไหมอันขึ้นชื่อของจังหวัดนครราชสีมา
ปักธงชัย นั้นเป็นอำเภอเล็กๆ เงียบสงบ มาแต่ไหนแต่ไร แต่ครั้นพอบ้านเมืองเจริญขึ้น ถนนหนทางเชื่อมติดต่อกันไปมาอย่างแพร่หลาย ปักธงชัยกลายเป็นปลายทางของถนนหมายเลข 304 ถนนที่เชื่อมต่อแผ่นดินอีสานกับภาคตะวันออกนั่นเอง
เสมารอบพระอุโบสถ ที่เป็นแบบขอม
ต้องเท้าความถึง ปักธงชัย ซะยืดยาว เพราะเส้นทางที่เราจะเข้าไปยังวัดสองวัดนี้อยู่ชานเมืองนิดหน่อยคือ ถ้าท่านผู้ผ่านใช้ถนน 304 มาจากทางวังน้ำเขียว ก่อนเข้าตัวเมืองปักธงชัย จะมีสี่แยกใหญ่ เรียกว่าแยกลำพระเพลิง ให้เลี้ยวขวาตามถนนหมายเลข 2421 ไปไม่ไกล ขวามือจะมีถนนเล็กๆเข้าไป(ปากซอยมีร้าน ซีเจซุปเปอร์มาเก็ต) แล้วเข้าไปตามทาง ไม่กี่กิโล ขวามือจะมีซุ้มประตูวัดปทุมคงคา เลี้ยวรถเข้าไปแล้วหาที่จอดรถครับ
อุโบสถวัดโคกศรีษะเกษ
วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ในชุมชนมอญ ที่ถูกกวาดต้อนมานานมาก วัดสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2317 ว่ากันว่าเดิมชุมชนนี้มีบึงน้ำกว้าง แต่ไม่ลึกนัก มีนกน้ำมาอาศัยมากมาย และมีนกออกมาอาศัยอยู่มาก จึงตั้งชื่อชุมชนตามชื่อนก ( แต่ในปัจจุบัน นกออก เป็นชื่อเหยี่ยวทะเล ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ตามชายทะเล)
บรรยากาศภานในวัดโคกศรีษะเกษ ที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้สารพัน
สิ่งปลูกสร้างที่โดดเด่นในวัดนี้คือ หอไตรกลางน้ำ ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นหอไตรที่มีขนาดเล็ก แต่ได้สัดส่วน สวยงาม ใช้สำหรับเก็บใบลานธรรมทั้งหลาย ผนังมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังแต่ลางเลือนไปมากแล้ว ปัจจุบันชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา
ภาพวาดบนฝาผนังในพระอุโบสถที่ดูเลือนลางไปมาก
แต่ไฮไลท์สำคัญคือ พระอุโบสถเก่า ที่อาจจะไม่ได้มีความวิจิตรอะไรมากมายนัก เพราะเป็นเพียงอุโบสถที่ ก่ออิฐถือปูนธรรมดา หลังคาเป็นทรงจั่วมุงด้วยกระเบื้องดินเผา ปลายจั่วหน้าบันประดับปูนปั้นเป็นหน้าบุคคล มีหน้าต่างด้านละ 2 ช่อง มีประตูทางเข้า-ออกด้านเดียว ทำเป็นซุ้มยื่นออกมา นิดเดียว ด้านหน้าอุโบสถเก่าพบเจดีย์หรือธาตุ เก่า สร้างจากปูน ในแบบวัฒนธรรมล้างช้าง 2 องค์ เข้าไปภายในพระอุโบสถเก่าหลังนี้ จะเห็นพระประธาน เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ปางมารวิชัย นามว่า พระพุทธมุนีศรีปทุมคงคา
ภาพวาดบนเพดานโรงธรรม หน้าพระอุโบสถ
แต่ที่อยากให้มาดูคือภาพจิตรกรรมบนเพดาน เขียนด้วยสีฝุ่น เป็นภาพเล่าเรื่องป่าหิมพานต์ ลวดลายพันธุ์พฤกษา และ สัตว์หิมพานต์ต่างๆ ใช้สีสันสดใส สวยงาม เห็นแล้วก็ชวนตะลึง
จาก วัดปทุมคงคา หรือ วัดนกออก ใช้ถนนสายหน้าวัด มาตามทางเรื่อยๆ ก็จะเห็นสามแยกวัดม่วงให้ไปทางซ้ายไปตามทาง จะเห็นป้ายเข้าไปในวัดโคกศรีษะเกษ ซึ่งจะเป็นทางดิน สองฝั่งทางเป็นป่าร่มรื่นไปทั้งบริเวณ ทางร่มรื่นนี้จะไปบรรจบกับถนนดินอีกเส้นหนึ่งขวางหน้า จะจอดรถตรงนี้ก็ได้ เพราะจุดน่าจนใจจะอยู่ย่านๆนี้ วัดนี้อยู่ในเขตบ้านโคกสระน้อย
ภาพวาดที่ศาลาโรงธรรมวัดโคกศรีษะเกษ
จากสามแยกที่เราจอดรถ ทางซ้ายมือ เดินไปไม่ถึง 30 เมตร จะเป็นศาลปู่เถร ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่ที่เคยมีตัวตนจริงๆ ชาวบ้านในพื้นที่ ให้ความเคารพศรัทธาอย่างมาก มีคนมาบนบานทุกวัน คนละฝั่งกับศาลปู่เถร เป็นพระอุโบสถเก่า ที่สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2332 หลังคาเป็นทรงไทย มุงกระเบื้อง ผนังเป็นปูน มีทางเข้าทั้งหน้าหลัง ด้านละสองประตู กรอบประตูมีถ้วยชามลวดลายแบบจีนประดับเป็นกรอบ แต่ปัจจุบันหลุดหายไปมากแล้ว
ศาลปู่เณร
ด้านในมีพระพุทธรูปปูนปั้นเป็นประธาน บนเพดาน มีร่องรอยของภาพจิตรกรรม แต่จางลงไปอย่างมาก รอบพระอุโบรถ มีใบเสมาทางที่เหลี่ยมเป็นแท่งปักไว้ครบ 8 จุด บางเสาสลักเป็นรูปพระฤาษีชันเข่าไขว้ แบบที่เจอกันตามปราสาทหินทั้งหลาย บางหลักมีจารึกเป็นภาษาโบราณ ว่ากันว่าเป็นการนำใบเสมานี้มาจากที่อื่น ด้านหน้ามีเจดีย์สีทองบรรจุอัฐิเจ้าอาวาสองค์ก่อนๆ
แต่ที่น่าสนใจคือ ด้านหลังพระอุโบสถ จะมีศาลาโรงธรรม ที่มีหลังคาทรงจั่ว มีชายปีกยื่นออกมาทุกด้าน เปิดโล่ง หลังคามุงด้วยกระเบื้อง ที่น่าสนใจคือ บนเพดานมีภาพวาด เป็นสัตว์และป่าหิมพานต์ ใช้สีได้สวยงาม โดดเด่นสะดุดตา แค่แหวนขึ้นไปดูภาพ ก็สวยงามราวอยู่ในภวังค์
ในศาลาโรงธรรม ภาพวาดบางส่วนเริ่มเลือนลาง
แผ่นไม้ที่ทำเป็นบังแสงวาดภาพพุทธประวัติในบางตอน และเรื่องราวในพุทธชาดก แต่ภาพวาดบนแผ่นไม้บังแสงนี้ เลือนรางลงไปมาก จนบางช่วง บางแผ่น ภาพวาดหายไปหมดแล้วนอกจากนี้ในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านอยู่ด้วย แต่เหมือนไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร และดูชำรุดทรุดโทรม
ได้มีโอกาสสนทนากับท่านเจ้าอาวาส ถามถึงเรื่องต้นไม้ในเขตวัดที่ดูจนเป็นป่ากลางเมืองย่อมๆ ท่านบอกว่าท่านปลูกเอง มีทั้งต้นไม้ที่ขื้นเอง และตั้งใจปลูกให้มันดูคล้ายป่า ในพื้นที่จึงดูสงบ ร่มรื่น มีเสียงนก เสียงกระรอก และอากาศเย็นสบายอยู่ตลอดเวลา วัดนี้กำลังสร้างศาลาหลังใหญ่ไว้ แต่ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ เหมือนจะเสร็จไปเพียง 50 % เท่านั้น ท่านใดมีจิตศรัทธา อยากร่วมทำบุญก่อสร้างวิหารให้แล้วเสร็จหรือสมทบทุนก็ติดต่อตามเบอร์โทรในภาพครับ
ภาพวาดที่วัดนกออก
จากการมาเที่ยวดูชม ภาพจิตรกรรมบนเพดานวัด ทั้งสองนี้ เราจะเห็นว่า ผู้คนในสมัยก่อนทุ่มเทฝีมือแรงกาย บวกความตั้งใจ ทำเพื่อเป็นพุทธบูชา ด้วยว่าศาสนาคือที่ที่พักผ่อน หลบลี้จากความวุ่นวายของทางโลกให้พบสถานที่สงบสุข อีกทั้งยังได้ฝากฝีมือเชิงช่างจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน วัด นอกจากเป็นที่หลบพักใจแล้ว ยังมาเสพย์งานศิลป์อันสวยงามได้อีกด้วย
มีเวลามาปักธงชัย...ขอเชิญทั้งสองวัดดังกล่าวเลยครับ....