เพชรบุรี....ดูยายจูงหลานไปไหว้ ‘หลวงพ่อในถ้ำ’
‘เพชรบุรี’ มีความน่าสนใจไม่น้อย ทั้ง ‘ศิลปะแบบทวารวดี’ ที่เชื่อว่าเป็น‘ต้นกําเนิดพุทธศิลป์ใน สยามประเทศ’ เที่ยว 'วัดถ้ำรงค์' บูชา ‘หลวงพ่อในถ้ำ’ ที่ข้าราชการมาอธิษฐานขอโยกย้าย-ปรับตำแหน่ง
เพชรบุรี....เมืองท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้กรุงเทพแค่นี้แหละ ที่นักประวัติศาสตร์บางท่าน ให้สมญานามว่า เป็น… อยุธยา ที่ไม่ถูกเผา หมายความว่ายังคงเป็นบ้านเมืองที่ยังคงความงดงามเฉกเช่นอยุธยา เพียงแต่เพชรบุรีนั้น ยังมีสภาพที่สมบูรณ์ไม่ได้พังเสียหาย เพราะถูกไฟเผาจากภัยสงคราม เช่นเดียวกับอยุธยา
ซึ่งมีหลักฐานเป็นวัดวาอารามในสมัยอยุธยาหลายแห่งที่ยังคงปรากฏอยู่อย่างสมบูรณ์ แต่คราวนี้จะยังไม่ว่าไปถึงเรื่องพวกนั้น หากแต่กำลังจะว่าถึงความเก่าแก่ของ จังหวัดเพชรบุรี ที่ยังคงมีหลักฐานปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
เพชรบุรีนั้น มีศิลปกรรมที่นักโบราณคดีระบุว่าเป็นศิลปะแบบทวารวดีอยู่หลายแห่ง ซึ่งจากเอกสารของกรมศิลปาการ ได้เอ่ยถึง ศิลปะทวารวดี ว่า
.....ศิลปะทวารวดี จัดเป็นศิลปกรรมต้นอารยธรรมสมัยประวัติศาสตร์ที่มีพัฒนาการ อย่างต่อเนื่อง ณ บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-16 บรรดาโบราณ วัตถุ ศิลปวัตถุ และโบราณสถาน ส่วนใหญ่ล้วนสร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิหินยาน
หากแต่ยังปรากฏหลักฐานการนับถือศาสนาพุทธลัทธิมหายานและฮินดูรวมอยู่ด้วย อิทธิพล ของศิลปวัฒนธรรมทวารวดีได้แพร่ขยายไปยังภูมิภาคอื่น ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จึงอาจกล่าวได้ว่า ศิลปะทวารวดี คือ ‘ต้นกําเนิดพุทธศิลป์ใน สยามประเทศ’
แต่เดิมการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับวิวัฒนาการของ ศิลปะทวารวดี มักให้ความสําคัญต่อกลุ่มพระพุทธรูปเป็นหลัก เนื่องจากมีการค้นพบเป็นจํานวนมาก อีกทั้งยังบ่งบอกถึงการ นับถือพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทในวัฒนธรรมทวารวดีได้เป็นอย่างดี แม้จะมีการค้นพบ หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาลัทธิมหายาน และศาสนาฮินดูปะปนอยู่บ้างแต่มีจํานวน ไม่มากนัก โดยทั่วไปมักจัดแบ่งกลุ่ม และยุคสมัย พระพุทธรูป ศิลปะทวารวดี ออกเป็น 3 กลุ่มตามอายุสมัย ดังนี้
ภายในถ้ำรงค์ เห็นหลวงพ่อดำเด่นเป็นสง่า
ศิลปะทวารวดีตอนต้น อายุราวพุทธศตวรรษที่ 11 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 13 จัด เป็นพระพุทธรูประยะแรกของทวารวดีและพุทธศิลปะที่ปรากฏบนผืนแผ่นดินไทย ได้รับ อิทธิพลจากพระพุทธรูปศิลปะอินเดียแบบอมราวดี คุปตะ - หลังคุปตะ
ศิลปะทวารวดีตอนกลาง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 15 เป็นกลุ่มพระพุทธรูปมีลักษณะผสมผสานระหว่างอิทธิพลอินเดียแบบหลังคุปตะ แบบปาละ และอิทธิพลพื้นเมือง จัดเป็นกลุ่มพระพุทธรูปเอกลักษณ์ศิลปกรรมสมัยทวารวดี เป็นแบบ ที่พบมากที่สุด
ศิลปะทวารวดีตอนปลาย อายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ 15 -16 จัดเป็นรุ่นสุดท้าย ของศิลปะทวารวดี ได้รับอิทธิพลจากศิลปะขอมแบบบาแก๊ง และแบบบาปวน
บรรยากาศภายในถ้ำ
ซึ่งจุดหมายปลายทางของเราในครั้งนี้ ก็ถูกเอ่ยว่าเป็น ศิลปะแบบทวาราวดี ทั้งสองที่ โดยจุดหมายปลายทางของเราอยู่ที่ ชุมชนวัดถ้ำรงค์ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรไม่กี่กิโลเมตร ไปทางใต้ ถ้าท่านผู้อ่านขึ้นมาจากทางใต้จะสะดวกกว่า เพราะชุมชนนี้อยู่ทางด้านตะวันตกของถนนพชรเกษม คือถ้ามาจากแยกท่ายาง มุ่งหน้าเข้าตัวเมืองเพชร ผ่านย่านดงยางมา ก็ชิดถนนด้านซ้ายได้เลยจะมีป้ายบอกเข้า วัดถ้ำรงค์ ชัดเจน เลี้ยวเข้าไปตามทาง
นาข้าวและดงตาล เอกลักษณ์ของบ้านถ้ำรงค์
ระหว่างทางนี้ จะเห็นว่ามีทุ่งนา และดงตาลอยู่ชิดติดทาง นี่แหละครับคือเอกลักษณ์ของเพชรบุรี คือถ้าเพชรบุรีส่วนบก เขาจะทำการเกษตรเป็นหลัก (แต่ถ้าเพชรติดทะเลจะทำประมง และทำนาเกลือ) แล้วมีอาชีพเสริมคือทำน้ำตาลโตนด ทุ่งนาริมทางเข้าวัดถ้ำรงค์ พอเกี่ยวข้าวเสร็จ พื้นที่มักถูกปรับเป็นลาน ‘วัวลาน’ การกีฬาพื้นบ้านของท้องถิ่น ที่ได้รับความนิยมมาก เข้าไปราว 1 กิโลเมตร ก็ถึง วัดถ้ำรงค์
ศาลาการเปรียญวัดถ้ำรงค์ ที่เป็นทรงไทย
วัดถ้ำรงค์ เป็นวัดในชุมชนเล็กๆ คือเล็กด้วยพื้นที่ แต่หนาแน่นด้วยบ้านเรือน แต่ก่อนนั้นคนเพชรบุรี นิยมปลูกบ้านเป็นเรือนไทย แต่บ้านเรือนไทยนั้นต้องมีพื้นที่กว้าง ต่อมาก็มีการปรับรูปแบบคือด้านบนเป็นทรงไทย แต่ด้านล่างปิดทึบแบ่งเป็นห้องหับ ชุมชนไหนๆในเมืองเพชรก็แบบนี้ทั้งนั้น
เสียดายที่ ชุมชนถ้ำรงค์ คงปรับเปลี่ยนไปเยอะ จนแทบหาเอกลักษณ์แบบนี้ไม่เจอ เห็นก็แต่เพียงศาลาการเปรียญของวัดถ้ำรงค์ที่พยายามคงเอกลักษณ์ไว้ ซึ่ง ถนนที่ผ่าเข้าวัดถ้ำรงค์ไปทะลุออกคลองชลประทานบ้านลาดได้ ซึ่งแถวบ้านลาดจะมีเรือนทรงไทย สไตล์เมืองเพชรเยอะมาก
เจดีย์องค์เล็ก สันนิษฐานว่าสร้างแต่ครั้งปลายอยุธยา อยู่ด้านหน้าถ้ำ
ตรงข้ามกับศาลา กุฏิสงฆ์ของวัด จะเป็น เขาหินปูน ลูกเล็กๆ ด้านหน้าเป็นลานที่ปูอิฐตัวหนอน ร่มรื่นด้วยร่มเงาไม้ สะอาดสะอ้าน มีเจดีย์องค์เล็กๆ ที่มีพระพุทธรูปอยู่ในซุ้มจรนำ เจดีย์นี้น่าจะมีอายุราวปลายอยุธยา และมีถ้ำตื้นๆ ที่เป็นโถงสูง ด้านในมีพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืนบนแทนปูนสูง องค์พระทาสีเลือดนก มีพระพุทธรูปองค์เล็กๆ อยู่ระดับพระเศียร ซ้ายขวา ฝั่งละองค์ นี่แหละคือ หลวงพ่อดำศักดิ์สิทธิ์ ที่คนเขาเคารพกันนักหนา อ่านในข้อมูลบอกว่าเป็น ‘ศิลปะแบบทวาราวดี’
‘หลวงพ่อดำ’ นี้ คนเขาว่าศักดิ์สิทธิ์กันในหมู่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ที่มาอธิษฐานขอโยกย้าย ขอปรับตำแหน่งทั้งหลาย ภายในถ้ำสะอาดสะอ้านเพราะมีการดูแล เช็ดถูทุกวัน อีกทั้งมีหลืบถ้ำเล็กๆ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปเช่นกัน
เขาหินปูนเล็กๆ เป็นเขาลูกโดดที่มีถ้ำหลวงพ่อดำอยู่ด้วย
จากวัดถ้ำรงค์ จะมีทางรถยนต์ผ่าเข้าหมู่บ้าน ไปนิดเดียว ก็จะไปเจอวงเวียนริมถนนเพชรเกษม แล่นไปตามทางที่เลียบคลอง ไปจนถึงวัดถ้ำเขาน้อย ซึ่งอยู่ไม่ห่างกันกับวัดถ้ำรงค์ เป็น ภูเขาหินปูน เตี้ยๆ จอดรถในวัดหรือสามแยกหน้าวัดก็ได้ แล้วเดินไปตามถนนที่เลียบภูเขาไปราว 30 เมตร จะเห็นทางขึ้นทางซ้ายมือ เดินขึ้นเนินเขาเตี้ยๆ ไป ก็จะเห็นเป็นปากถ้ำเล็กๆ เดินลงไปในถ้ำ แล้วแหงนมองบนเพดาน ก็จะเห็น
ในถ้ำรงค์จะมีหลืบถ้ำขนาดเล็ก มีพระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกข์กริยาอยู่ภายใน
เป็นพระพุทธรูปยืนปูนปั้นติดกับผนังถ้ำ ค่อนข้างสมบูรณ์ มีการทาสีจีวรเป็นสีเลือดนก ใกล้กันจะมีปูนปั้นรูปบุคคลสองคน นั่งคนยืนคน คนยืนจับมือกับคนนั่ง ที่ตรงส่วนตัวหายไปแล้ว ส่วนคนยืนยังค่อนข้างสมบูรณ์ นี่แหละที่เป็นที่มาของชื่อ ‘ถ้ำยายจูงหลาน’ เหนือขึ้นไป ก็ยังมีปูนปั้นเป็นรูปบุคลไม่เต็มตัว
ส่วนเหนือขึ้นไปอีก อยู่ในเหลี่ยมถ้ำด้านนอกนิดเดียว จะเป็นรูปคล้ายนางฟ้า ใช้สองมือจับมวยผม รูปปั้นนี้ขาดหายไปแค่ส่วนขา นอกนั้นสมบูรณ์หมด รวมทั้งมีร่องรอยปูนปั้นคล้ายเถาพฤกษา นักโบราณคดีบอกว่า สิ่งที่เราเห็นในถ้ำยายจูงหลายนี้เป็นศิลปะแบบทวาราวดีเช่นกัน
ศิลปแบบทวารวดี ที่ปรากฏในถ้ำเล็กๆ
ที่แปลกในคือ เขามาปั้นรูปปั้นบูชาหรือเพื่อบ่งบอกอะไรตรงถ้ำเล็กๆนี้ แต่แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมาเป็นพันๆปีแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าศิลปะเหล่านี้ยังคงสวยงาม ขนาดว่าผมไม่ได้ลึกซึ้งเรื่องศิลปะโบราณสักเท่าใด ยังใช้เวลาชื่นชมอยู่นาน ก็ขอเชิญชวนท่านผู้อ่าน ไปซึมซับศิลปะโบราณกันที่ชุมชนวัดถ้ำรงค์-วัดถ้ำเขาน้อยแห่งนี้กันครับ
เพชรบุรีอยู่ใกล้ ๆ ไปเดี๋ยวเดียวก็ได้เห็นของดีๆครับ.....
ทางขึ้นถ้ำยายจูงหลานที่เขาน้อย
ปากถ้ำยายจูงหลาน
ภายในถ้ำยายจูงหลาน
หน้าถ้ำหลวงพ่อดำ
ปากทางเข้าวัดถ้ำเขาน้อย ทางไปถ้ำยายจูงหลาน ไม่ต้องเข้าในวัด
บรรยากาศอีกมุมภายในถ้ำ