‘เที่ยวกาฬสินธุ์’ เยือน ผาแดง.....ผาปริศนาแห่งภูสิงห์
‘เที่ยวกาฬสินธุ์’ เยือน ‘ผาแดง’ ถือว่าเป็น ‘ผาปริศนาแห่งภูสิงห์’ ภูเขาหินทรายเตี้ยๆ กราบ 'หลวงพ่อขาว' แล้วเดินทางต่อไปยังเขาหินทรายสีแดงเลือดนก มีโพรงถ้ำ เสาหินทรายงดงามยิ่งนัก
ก่อนอื่นต้องสวัสดีปีใหม่แม้จะล่าไปสักนิด ขออวยพรให้ผู้อ่าน มีความสุข มีความเจริญ สุขภาพแข็งแรง ตลอดปี 2567 และตลอดไป ส่วน ประเทศไทยใจเดียว ก็จะยังคงเป็นที่ที่พาท่านผู้อ่านไปให้รู้จักสถานที่ต่างๆในประเทศไทยในหลากหลายรูปแบบ
มีทั้งไปง่าย ไปสบายและไปที่ออกจะ แอดแวนเจอร์หน่อย แต่ทั้งนี้จะเป็นสถานที่ๆแปลกใหม่หรือยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก มาแนะนำเช่นเดิม อย่างคราวนี้ก็เหมือนกัน กำลังจะพาไปให้รู้จัก ผาปริศนาแห่งภูสิงห์ กาฬสินธุ์กันครับ
ภูสิงห์....แห่ง อำเภอสหัสขันธ์ ‘จังหวัดกาฬสินธุ์’ เป็นภูเขาหินทรายเตี้ยๆ ที่ดูเหมือนเป็นภูเขาหลังตัด ที่เลียงลาดไปทางใดทางหนึ่ง เป็นดั่งเสมือนขอบอ่างด้านหนึ่งของ เขื่อนลำปาว ถ้ามองมาจากทางอีกฝากของสะพานเทพสุดา ทางอำเภอไชยวาน ก็จะเห็นภูสิงห์โดดเด่น ในตัวอำเภอสหัสขันธ์นั้น จะมีสองภูโดดเด่น คือภูกุ้มข้าว และภูสิงห์นี่เอง
ภูสิงห์ ทางด้านที่เอียงลาดต่ำ ซึ่งถือเป็นด้านท้าย จะหันมาทางตัว อำเภอสหัสขันธ์ บนท้ายภูส่วนนี้ เป็นที่ตั้งของพระพุทธรูปองค์ใหญ่ นาม พระพรหมภูมิปาโล หรือ หลวงพ่อขาว เพราะองค์ท่านทาสีขาวทั้งองค์ อีกทั้งด้านบนเป็นดั่งวัด มีเสนาสนะหลายหลัง บนภูสิงห์ด้านท้ายนี้ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เพราะนอกจากจะได้กราบหลวงพ่อขาวแล้ว ยังเป็นจุดชมเมืองสหัสขันธ์ได้อย่างสวยงามอีกด้วย
ส่วน ผาแดง จุดหมายปลายทางของเราในครั้งนี้ อยู่ทางหัวของภูสิงห์ คือด้านที่ภูสิงห์สูงกว่าด้านอื่น แล้วค่อยๆลาดลงไปทางตัวอำเภอสหัสขันธ์นั่นเอง ดังนั้น การเดินทางก็คือ ต้องอ้อมภูสิงห์ไปอีกด้าน มันจะมีทางอ้อมภูไปได้หมด โดยจุดหมายปลายทางอยู่ที่วัดดอยอภัยภูน้อย ด้านหัวของภูสิงห์นั่นเอง ปากทางเข้าวัดอยู่ที่หมู่บ้านโนนปลาขาว จะมีถนนดินนำพาเราเข้าไปยังวัดดอยอภัยภูน้อย ซึ่งเป็นวัดเล็กๆ เงียบสงบ ให้จอดรถไว้ที่นี่ แล้วเตรียมตัวเดินเท้า เข้าป่า
การแต่งตัวก็คงต้องรัดกุมหน่อย ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว จะได้กันยุง รองเท้าสำคัญมากควรเป็นรองท้าผ้าใบ และติดน้ำดื่มไปด้วย เพราะอาจใช้เวลาหลายชั่วโมงในการเดิน และเที่ยวชม
บรรยากาศของสหัสขรรค์ เห็นภูกุ้มข้าวโดดเด่น
หลังจากพร้อมแล้ว ก็เริ่มต้นเดินจากวัดกันเลย จะเป็นทางลงเขามาไม่ไกล ก็จะเป็นทางลำลองเข้าไปในป่าซึ่งเป็นทางรถยนต์เก่า ปัจจุบันมีต้นไม้ขึ้นลามลงมาจนเกือบคลุมถนน รวมทั้งมีบางช่วงที่ถนนเก่าเส้นนี้ ถูกน้ำเซาะจนเป็นร่องลึก ทางช่วงแรกนี้จะเดินขึ้นเนินไปเรื่อยๆ ช่วงไหนที่ป่าพอเปิดช่อง ก็จะมองเห็น ‘อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว’เป็นระยะๆ
ภูสิงห์ เป็นภูเขาเตี้ยๆ ริมเขื่อนลำปาว
พระพรหมภูมิปาโล หลวงพ่อขาว บนภูสิงห์
จนกระทั่งเดินไปออกที่โล่ง มีอาคารบ้านพักร้างอยู่หนึ่งหลัง ไม่รู้ว่าเดิมเขาสร้างขึ้นมาด้วยเหตุผลใด และดูเหมือนว่าทางรถเก่าที่เราเดินมานั้น จะมาสิ้นสุดแค่ตรงนี้ รวมระยะทางจากวัดมาจนถึงตรงบ้านร้างนี้น่าจะราวๆ 2 กิโลเมตรเศษๆ หลังจากตรงนี้ ก็จะเป็นการเดินเข้าป่าจริงๆ จะเป็นทางเดินเลียบหน้าผาไปเรื่อยๆ ลักษณะเป็นป่าเบญจพรรณ เน้นไปทางป่าไผ่
วัดดอยอภัยภูน้อย อยู่ทางหัวของภูสิงห์ส่วนวัดภูสิงห์เป็นด้านท้ายของภูสิงห์
ยิ่งเดินขึ้นสูงก็จะเห็นอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว
ความสูงของหน้าผาที่จะต้องไต่เชือกลงไปเบื้องล่าง
เชือกคือความปลอดภัยสูงสุดที่จะนำพาเราลงไปยังเบื้องล่าง
หน้าผาแรกที่ลงมา จะยังคงไม่สูงนัก
ระยะทางจากบ้านร้างมาราว 1 กิโลเมตร ก็จะมาถึงทางลง หน้าผา ซึ่งจะมีเชือกผูก ให้เราจับแล้วโรยตัวลงไปด้านล่าง เมื่อลงไปถึงแล้ว ก็จะเห็นเป็นแนวหน้าผาหินทรายทอดยาวต่อเนื่องกัน จะมีทางเดินเลียบหน้าผาไปเรื่อยๆ ราว 200 เมตร ก็จะไปถึงหน้าผาหินทรายสีแดงเลือดนก นี่แหละ ผาแดง ผาปริศนาแห่งสหัสขันธ์
ความเป็นหน้าผาสูงเริ่มโดดเด่น
‘ผาแดง’ เป็นหน้าผาหินทราย ที่ตัดชันฉาก สูงประมาณ 30 เมตร และยาวราว 80 เมตร ทั้งหน้าผาเป็นสีแดงเลือดนก ฉาดฉานไปทั้งหมด ด้านหน้าผาแดง ป่าจะเปิดโล่งและมีกองหินที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของหน้าผา หักตกกองอยู่ด้านหน้า จะเห็นชั้นหินทรายที่ซ้อนทับกันตอนก่อเกิดเป็นชั้นๆ ชัดเจนมาก สมกับที่เขาเรียกว่าหนชั้น หรือหินตะกอน รวมทั้งมีรอยเฉียงระดับ ซึ่งบ่งบอกร่องรอยและทิศทางของน้ำที่ไหน พัดพาเอาทรายมาทับถมกันจนกลายสภาพเป็นหินทราย
อาจารย์นเรศ สัตยารักษ์ นักธรณีชื่อก้องของประเทศไทย ที่ค้นพบกระดูก ‘ไดโนเสาร์สัตยารักษ์กี’ ไดโนเสาร์ชนิดหนึ่งของโลก ท่านพบชนิดนี้เป็นคนแรกของโลกและ พบในประเทศไทยเรา ท่านเคยไปเที่ยวที่ผาแดงมาก่อน แล้วท่านเขียนบอกว่า
ผาแดงนี้....เป็นหินทรายของแม่น้ำตวัดโค้ง ในหมวดหินภูพาน ที่วางรองรับหินทรายปนกรวดของแม่น้ำประสานสายที่เป็นส่วนหนึ่งของหมวดหินภูพานเช่นกัน ทำให้เกิดชะโงกถ้ำของผาแดงที่สวยงามอย่างน่าทึ่งดั่งที่เห็น โดยภูนี้ เกิดจากการแยกตัวของชั้นหิน (jointing) ของหมวดหินภูพานในบริเวณนี้
เมื่อยกตัวก็จะเกิดรอยแตก ซึ่งต่อมาจะมักมีลำธารน้ำขนาดเล็ก ไหลผ่านรอยแตก รอยแยกจะค่อยๆขยายกว้างมากขึ้น พลังน้ำทำให้เกิดการกัดเซาะชั้นเฉียงระดับในหินทรายที่เกิดสะสมตัวโดยแม่น้ำโค้งตวัด ( Meandering River) จนเกิดรูปร่าง และลวดลายที่ปรากฏในหน้าผา
ต่อมาหินด้านที่อยู่นอกสุดได้ถล่มลงไปที่เชิงเขา เหลือหินทรายปนกรวดปิดทับอยู่ด้านบน ทำให้น้ำฝน ไม่สามารถไหลอาบลงมา ที่หินทรายในบริเวณนี้ หินทรายที่อยู่ใต้เงาผา จึงไม่เป็นสีดำหรือคล้ำเหมือนหน้าผาอื่นๆ แต่จะมีการเติมออกซิเจน ทั้งเกิดแร่เหล็กออกไซด์เคลือบผิวหน้า จนหินทรายสีขาวกลายเป็นสีแดง
หน้าผาหินทรายสีแดงเลือดนก โดดเด่นที่ภูสิงห์
รอยเฉียงระดับในชั้นหินทรายโดดเด่นและสวยงามมาก
สิ่งที่เป็นความงดงามอย่างเอกอุของผาแดงก็คือ โพรงถ้ำเล็กๆ ที่ด้านหน้ามีเสาหินทรายค่ำๆไว้ โดยเสาหินทรายนั้นเห็นเป็นชั้นทรายที่ทับกันเป็นชั้นๆอย่างชัดเจนมาก ดูแล้วทั้งสวยงามและทั้งปริศนาในการสร้างสรรค์ของธรรมชาติ
นอกจากนี้ยังมี ภาพวาดหลวงพ่อโต อยู่บนหน้าผา ไม่รู้ว่าใครวาดหรือวาดไว้เมื่อไหร่ รู้แต่ว่าเป็นภาพที่สวยงามพอสมควร แต่ด้วยหน้าผาที่สูงใหญ่ ตัดตั้งฉาก และถูกอาบด้วยสีแดงทั้งหมดแบบนี้ ทำให้หน้าผาแห่งนี้มีความสวยงามที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์อย่างมาก
บางครั้งความงดงามที่พบเห็น ก็มาในรูปลักษณ์ของหน้าผาหิน เราอาจจะคุ้นชินกับน้ำตก ยอดเขาหรือสิ่งที่ธรรมชาติสรรค์สร้างอื่นๆ ผาแดงแห่งนี้ ก็เป็นผลพวงที่ธรรมชาติรังสรรค์ขึ้นมาเช่นกัน ธรรมชาติสร้างไว้ให้แล้ว ก็ขึ้นอยู่กับพวกเรา ว่าจะไปดูกันเมื่อไหร่นั่นเอง....
สภาพทางเดินในช่วงแรกๆ
บางช่วงของทางเดินในป่า
(ดูคลิปเรื่องราวของผาแดงที่ผมทำรายละเอียดไว้ เพิ่มเติม ได้ที่... https://www.youtube.com/watch?v=_mwrHqVrMxY&t=68s