เที่ยวงานพระนครคีรี ครั้งที่ 37 ซอฟต์พาวเวอร์เมืองเพชร พลุสวย อาหารเด็ด!
ไม่ใช่แค่ "โก้ เมืองเพชร" ควายเผือกยักษ์ใหญ่ที่สุดในโลก จะเป็นจุดสนใจในงาน "พระนครคีรี-เมืองเพชร" ปี 2567 เท่านั้น แต่ยังมี "ซอฟต์พาวเวอร์" ของเพชรบุรีที่โดดเด่นอีกเพียบ ทั้งการแสดงพลุสุดอลังการ งานช่างชั้นครู และชมพู่เพชรสายรุ้ง ที่รองผู้ว่าฯ ยืนยันว่าห้ามพลาด!
KEY
POINTS
- เที่ยวงาน “พระนครคีรี สดุดีจอมราชัน มหัศจรรย์แดนมรดกโลก” ประจำปี 2567 จะได้ชมไฮไลต์สุดอลังการจากการแสดงพลุดอกไม้ไฟ กว่า 4,000 นัด ตลอดการจัดงาน 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 14 - 23 มีนาคม 2567
- นอกจากนี้ยังจะได้ช้อป ชิม ชิล ตามจุดต่างๆ ภายในงาน โดยเฉพาะ "อาหาร-ผลไม้เมืองเพชร" ถือเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น เรียกว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของเพชรบุรีก็ว่าได้ โดยเฉพาะ ชมพู่เพชรสายรุ้ง
- อีกหนึ่งจุดเด่นของเมืองเพชรที่ไม่แพ้ใครก็คือ สกุลช่างเมืองเพชร ที่มีการอนุรักษ์และสืบต่องานช่างโบราณต่างๆ เอาไว้มาจนถึงปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นงานช่างปั้นหัวโขน งานช่างแทงหยวก งานทำทอง งานช่างเขียนลายรดน้ำ ฯลฯ
เพิ่งเปิดม่านต้อนรับนักท่องเที่ยวไปเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา สำหรับงาน “พระนครคีรี-เมืองเพชร ครั้งที่ 37 ประจําปี 2567” โดยปีนี้จัดขึ้นภายใต้ Theme “พระนครคีรี สดุดีจอมราชัน มหัศจรรย์แดนมรดกโลก” ซึ่งจะจัดต่อเนื่องยาวไปถึง 23 มีนาคม 2567 นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเที่ยวงานได้ตั้งแต่เวลา 17.00-22.00 น. ณ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง) จังหวัดเพชรบุรี โดยปีนี้เป็นอีกปีที่ทางจังหวัดทุ่มงบจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวทุกคนได้รับความประทับใจและมีรอยยิ้มกลับบ้านไปเต็มกระเป๋า
ค่ำคืนพิธีเปิด “พระนครคีรี สดุดีจอมราชัน มหัศจรรย์แดนมรดกโลก” จุดพลุสุดอลังการ กว่า 4,000 นัด ตลอดการจัดงาน 10 วัน
สำหรับในช่วงค่ำวันที่ 14 มี.ค. 2567 เป็นวันแรกของงาน “พระนครคีรี-เมืองเพชร ประจําปี 2567” ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พร้อมหน่วยงานภาครัฐและเอกชนใน จ.เพชรบุรี ร่วมกันจัดพิธีเปิดอย่างยิ่งใหญ่งดงามตระการตา มีการจัดขบวนแห่ทางวัฒธรรมของชุมชนและโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดเพชรบุรีมากถึง 80 ขบวน พร้อมมีการประกวดขบวนที่โดดเด่นที่สุดในงานด้วย ส่วนไฮไลต์ที่สำคัญที่สุดในงาน วันก็คือ การจัดแสดงพลุดอกไม้ไฟวันละ 300-500 นัด รวมๆ แล้วกว่า 4,000 นัด ตลอดการจัดงานทั้ง 10 วัน สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาร่วมงานได้อย่างน่าประทับใจ
ทั้งนี้ในค่ำคืนวันจัดพิธีเปิดวันแรกนั้น ณัฏฐชัย นำพูลสุขสัติ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ก็ได้มาเป็นประธานเปิดงาน เพื่อเทิดพระเกียรติบูรพมหากษัตราธิราชเจ้าที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อชาวจังหวัดเพชรบุรี และรณรงค์ให้ประชาชนคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวภายในจังหวัดเพชรบุรี ทั้งยังได้กล่าวต้อนรับในพิธีเปิดงานไว้ว่า
งานพิธีเปิดครั้งนี้ มีการแสดงแสง สี เสียง ในพื้นที่จัดงานพระนครคีรีอย่างทั่วถึงทุกจุด เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมความสวยงามอลังการของเมืองเพชรในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการชมความงดงามจากขบวนแห่เทิดพระเกียรติ ขบวนแห่ศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว การจัดแสดงและสาธิตงานสกุลช่างเมืองเพชร การแสดงศิลปวัฒนธรรม การแสดงพื้นบ้าน และการแสดงไฮไลต์ "พลุดอกไม้ไฟ" หลากสีที่จะเบ่งบานทั่วทั้งผืนฟ้าเหนือพระนครคีรี ซึ่งคาดว่าปีนี้ก็จะมีนักท่องเที่ยวทั้งจากในพื้นที่และนอกพื้นที่ เข้ามาร่วมเที่ยวชมงานอย่างเนืองแน่น
ไม่เพียงเท่านั้น อีกหนึ่งหัวเรือใหญ่ของการจัดงานพระนครคีรีครั้งนี้ คงหนีไม่พ้น นิติ วงษ์วิชาสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเพชรบุรี ซึ่งเจ้าตัวได้เปิดเผยถึงความโดดเด่นของเมืองไว้ว่า จังหวัดเพชรบุรี เป็นเมืองที่เก่าแก่ มีความสำคัญและมีความรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยโบราณ เปรียบเสมือนประตูสู่ภาคใต้ เป็นแหล่งรวมงานช่างชั้นครูของประเทศหลายแขนง ดังปรากฏในงานด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม ซึ่งจะพบเห็นได้ตามแหล่งโบราณสถาน พระราชวังและพระอารามต่างๆ
อีกทั้งยังเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นทางธรรมชาติ และทางวัฒนธรรม ก็ล้วนแต่มีความงดงามโดดเด่น ตลอดจนผู้คนในจังหวัดเพชรบุรีเองก็มีวิถีชีวิตที่น่าสนใจและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งจะวิถีวัฒนธรรมเหล่านี้สามารถพบเห็นได้ในเมืองเพชรบุรีเท่านั้น
สำหรับการจัดงานครั้งนี้คาดว่าจะสามารถกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองเพชรบุรีได้มากขึ้นกว่าปีก่อน และจะสร้างรายได้ไม่น้อยกว่าเดิม โดยช่วงต้นปีทีผ่านมาพบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในพื้นที่มากขึ้นกว่าปีที่แล้ว คาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวของปีนี้จะเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 10%
เพชรบุรี คือ City of Gastronomy อาหารและผลไม้โดดเด่นไม่แพ้ใคร โดยเฉพาะชมพู่เพชรสายรุ้ง
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า เมืองเพชรบุรีมีความอุดมสมบูรณ์ของอาหารการกินและแหล่งท่องเที่ยวอันเป็นเอกลักษณ์มากมาย ทำให้ในปี 2564 ที่ผ่านมา ยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้จังหวัดเพชรบุรีเป็น “เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร (Phetchaburi City of Gastronomy)” ซึ่งในปีนี้ทางจังหวัดก็จะผลักดัน “อาหารเมืองเพชร” ให้เป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารไทยที่จะสามารถโด่งดังไปในระดับสากล
ในประเด็นนี้ ภคพัส ส่งวัฒนายุทธ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ก็ได้สะท้อนมุมมองว่า ซอฟต์พาวเวอร์ของเพชรบุรี จะเป็นตัวช่วยอีกหนึ่งแรงที่จะผลักดันให้ “ซอฟต์พาวเวอร์ไทย” ก้าวไปในระดับสากลได้กว้างขวางมากขึ้น โดยจุดเด่นของเพชรบุรีที่จะสะท้อนถึงเสน่ห์ความเป็นไทยในสายตาชาวโลกได้ดีก็คือในเรื่อง “อาหารพื้นถิ่นของเพชรบุรี” ซึ่งแต่ละเมนูก็จะมาจากวัตถุดิบขึ้นชื่อของเมืองเพชรหลายอย่าง โดยเฉพาะ “ตาลโตนด” เนื่องจากเพชรบุรีเป็นเมืองที่มีต้นตาลโตนดมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากต้นตาลและการแปรรูปต่างๆ ก็ถือเป็นอาชีพหลักของพี่น้องชาวเพชรบุรีในหลายอำเภอด้วย
ถัดมาคือ “มะนาวแป้น” อีกหนึ่งวัตถุดิบขึ้นชื่อของเพชรบุรี โดดเด่นที่รสเปรี้ยวซึ่งมาพร้อมกับกลิ่นที่หอม นอกจากนี้ก็ยังมี “เกลือสมุทร” ที่มีคุณค่าทางอาหารกว่า 100 ชนิด ถัดมาอีกหนึ่งวัตถุดิบในการปรุงรสเผ็ดให้อาหารไทย นั่นคือ “พริกกะเหรี่ยง” นี่ก็เป็นวัตถุดิบที่มีเอกลักษณ์อีกอย่างของเมืองเพชร ในชุมชนหนองหญ้าปล้อง
ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เนื่องจากเพชรบุรีเป็นจังหวัดที่ติดทะเล ที่นี่จึงเปรียบเสมือนเป็นหนึ่งในคลังอาหารทะเลให้แก่ประเทศไทย มีพี่น้องชาวเพชรบุรีหลายชุมชนที่ยึดอาชีพทำประมงอยู่ตลอดริมชายฝั่งทะเล ตั้งแต่ชะอำ หาดเจ้าสำราญ ไปจนถึงบ้านแหลม รวมถึงยังมีฟาร์มเลี้ยงหอยแครงและหอยแมลงภู่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอีกด้วย ทำให้ที่นี่มีอาหารทะเลสดๆ พร้อมเสิร์ฟนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอยู่เสมอ
ส่วนไฮไลต์อีกอย่างที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้นั่นคือ ชมพู่เมืองเพชรหรือ “ชมพู่เพชรสายรุ้ง” ที่จะออกผลผลิตมาให้รับประทานแค่ 3-4 เดือนต่อปีเท่านั้น (ประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน) จุดเด่นของชมพู่เมืองเพชรอยู่ที่รสชาติหวานฉ่ำ เนื้อกรอบ เนื้อแน่น ซึ่งไม่เหมือนชมพู่ทั่วไป
“ตอนนี้เราทำชมพู่เมืองเพชร ให้เป็นสินค้า GI (สินค้าท้องถิ่นที่มีคุณสมบัติพิเศษหรือมีลักษณะเฉพาะทางภูมิศาสตร์นั้นๆ) ช่วยผลักดันให้ราคาของชมพูเมืองเพชรสูงขึ้น ซึ่งก็เป็นผลดีต่อเกษตรกรในท้องถิ่นทำให้พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้น ข้อดีอีกอย่างคือ การทำชมพู่เมืองเพชร GI เป็นการกระตุ้นเกษตรกรที่มีต้นชมพู่สายพันธุ์นี้อยู่แล้ว ให้หันมาใส่ใจดูแลต้นชมพู่ให้ดีขึ้น เพราะการดูแลต้นชมพู่นั้นมีขั้นตอนค่อนข้างยาก กว่าจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพออกมาสู่ท้องตลาด จะต้องทำนั่งร้านขึ้นล้อมรอบต้นชมพู่ งดการใช้สารเคมี และรวมถึงการปีนห่อผลชมพู่ตั้งแต่ช่วงดอกบานเต็มที่และเริ่มติดผล เพื่อให้ได้ผลชมพู่ที่สมบูรณ์ ผิวสวยงาม ไม่มีหนอนแมลงในลูกชมพู่” รองผู้ว่าฯ อธิบายอย่างละเอียด
ดังนั้น พูดได้ว่า ชมพู่เพชรสายรุ้ง ถือเป็นผลไม้ที่เอกลักษณ์ของเมืองเพชรที่รสชาติดีและโดดเด่นไม่แพ้ผลไม้อื่นๆ ของไทยเลย ซึ่งก็จะมีหลายขนาดหลายราคา หากผลใหญ่สุด (เบอร์ 0) ราคาหน้าสวนอยู่ที่กิโลกรัมละ 300 บาท ส่วนไซส์กลางๆ ราคาประมาณ 200 กว่าบาท และไซส์เล็กราคาอยู่ที่ประมาณ 100 กว่าบาท เป็นต้น โดยทางจังหวัดก็ส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถส่งชมพู่เพชรสายรุ้งไปจำหน่ายที่ห้างใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ หลายแห่ง และมีส่งออกต่างประเทศด้วย เช่น สิงคโปร์ เป็นต้น
สกุลช่างเมืองเพชร อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญในงานพระนครคีรี ปี 2567
นอกจากอาหารและผลไม้เมืองเพชรที่ถือเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของจังหวัดแล้ว อีกหนึ่งจุดเด่นของคนเมืองเพชรบุรีก็คือ มีหลายครอบครัวที่สืบสกุลช่างโบราณฝีมือดีเอาไว้มากมาย พวกเขาความสามารถในงานช่างสิบหมู่ไม่แพ้ใครในประเทศไทย โดยภายในงานพระนครคีรี ปี 2567 ครั้งนี้ ก็มีการจัดบูธแสดงผลงานของสกุลช่างเมืองเพชร รวมถึงการสาธิตวิธีทำงานฝีมือของช่างหลายคนให้นักท่องเที่ยวได้ชมด้วย โดยกรุงเทพธุรกิจได้นำมาเสนอให้ชมเป็นบางส่วน ได้แก่
1. งานปั้นหัวโขน
นายนนทชัย ถนอมนุช ตัวแทนงานช่างปั้นหัวโขน อธิบายถึงงานช่างสกุลนี้ว่า งานหัวโขน เป็นงานศิลปะชั้นสูงประเภทประณีตศิลป์ ใช้สำหรับครอบศีรษะจนมิดชิดเพื่อการแสดงโขนชุดรามเกียรติ์ โดยทำออกมาทั้งหัวโขนหน้าพระ เช่น พระราม พรลักษณ์ และหัวโขนหน้ายักษ์ เช่น ทศกัณฑ์ อีกทั้งมีหัวโขนพญาวานรอย่างหนุมาน ฯลฯ นอกจากนี้ช่างยังได้ต่อยอดทำหัวโขนขนาดเล็ก ใช้สำหรับเป็นของที่ระลึกในวาระสำคัญต่างๆ ด้วย
2. งานแทงทยวก
นายวิริยะ สุสุทธิ ตัวแทนงานช่างแทงหยวก เล่าว่า งานช่างประเภทนี้เป็นงานศิลปะอีกแขนงหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี อันเกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำเอาหยวกหรือกาบของต้นกล้วย มาเขียนลาย ผูกลาย เป็นลายไทย แล้วนำมาสลัก ฉลุหรือแทงด้วยมีด ให้เป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายกระจัง ฟันหนึ่ง หรือลายฟันปลา ลายกระจังฟันสาม หรือลายบัวคว่ำ บัวหงาย ลายน่องสิงห์ ลายกนก กาบกล้วยที่สลักลวดลายแล้วจะถูกนำไปใช้สำหรับประดับเชิงตะกอนเผาศพ หรือประกอบเมรุในงานศพตามวิถีของคนท้องถิ่นโบราณ
3. งานฉลุฝังลายไม้มูก
นายนิยม ราชเจริญ ตัวแทนงานฉลุฝังลายไม้มูก เล่าว่า งานช่างประเภทนี้เป็นงานช่างไม้ประเภทหนึ่งที่ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเพชรบุรี เป็นการทำลวดลายประดับเครื่องเรือนให้สวยงาม ไม่ว่าจะเป็น ตู้ โต๊ะ คันฉ่อง นาฬิกาฝังลายไม้มูก กลุ่มช่างที่นิยมทำได้แก่ กลุ่มช่างวัดเกาะ โดยมีท่านพระครูญาณวิจัย (ยิด สุวัณโณ) เจ้าอาวาสวัดเกาะเป็นผู้ทำตู้ฝังลายไม้มูกลูกแรกของวัดเกาะ ก่อนถ่ายทอดวิชาทำตู้ให้แก่พระและลูกศิษย์ในวัด จนมีคำกล่าวว่า "บวชเป็นพระวัดเกาะ ก่อนสึกต้องทำตู้ได้หนึ่งลูก"
4. งานทำทอง
นางสาวสีริลักษณ์ ศรีทองคำ ตัวแทนงานช่างสกุลนี้ เล่าว่า งานทำทองจะเริ่มจากการนำทองตามน้ำหนักที่ต้องการไปหลอมเหลว แล้วเทใส่รางเล็กๆ ทำให้เป็นเส้นคล้ายลวด เรียกว่าการชักลวด จากนั้นนำไปทำเป็นรูปแบบต่างๆ ตามลักษณะของเครื่องประดับแต่ละชิ้น เช่น ทำสร้อยแบบข้ออ้อย ทำกระดุม ทำลูกสน ทำปะวะหล่ำ เป็นต้น ทองรูปพรรณของช่างทองเมืองเพชรบุรี ถือเป็นงานศิลปะที่มีความละเอียด งดงาม และมีความสมบูรณ์ในการใช้สอย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่ควรดำรงรักษาและสืบทอดต่อไป
5. งานเขียนลายรดน้ำ
นายธานินทร์ ชื่นใจ ตัวแทนงานช่างสายนี้ เล่าว่า งานลายรดน้ำเป็นการตกแต่งเครื่องใช้ เครื่องประดับ โดยการเขียนลวดลายและรูปภาพด้วยวิธีการปิดทองรดน้ำ การทำลายรดน้ำ ช่างจะใช้รักทาลงไปบนชิ้นงาน เขียนลายด้วยน้ำยาหรดาน จากนั้นปิดทองทับ แล้วใช้น้ำล้างชิ้นงาน ทองที่ปิดลงบนรักเช็ดจะยังคงติดอยู่บนชิ้นงาน แต่ทองที่ปิดลงไปบนหรดานจะหลุดออกมาทำให้มองเห็นเป็นลวดลายนั่นเอง
6. งานจำหลักหนังใหญ่
นายมนู เนตรสุวรรณ์ ตัวแทนของงานช่างสกุลนี้ เล่าว่า งานจำหลักหนังใหญ่ เป็นการฉลุลายบนหนังวัวหรือหนังควาย ที่ขูดขนหรือฟอกหนัง พร้อมตากแห้งดีแล้ว โดยฉลุลายออกมาให้เป็นรูปตัวละครในวรรณคดี ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ แต่เดิมนั้นการฟอกหนังจะใช้กรรมวิธีแบบภูมิปัญญาดังเดิม คือนำหนังทั้งผืนมาเผา แล้วขูดขนที่ติดหนังออก จากนั้นจะทำการฟอกโดยแช่ลงไปในน้ำที่ผสมน้ำพริกเครื่องแกงเพื่อดับกลิ่น ก่อนที่จะนำมาตากโดยการขึงเข้ากับสะดึง แต่ปัจจุบันใช้วิธีการทางเคมีในการฟอกหนัง ซึ่งจะทำให้ได้หนังที่บางกว่า แล้วนำมาฉลุลายได้ตามที่ต้องการ
หากใครที่กำลังมองหาที่เที่ยวใกล้ๆ กรุงเทพฯ ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ลองเดินทางไปเที่ยวในงานพระนครคีรี-เมืองเพชร ในปี 2567 นี้ รับรองว่าจะได้สัมผัสกับประสบการณ์การเดินเที่ยวชมงานประเพณีสุดยิ่งใหญ่ เต็มไปด้วยอาหารพื้นถิ่นรสเด็ดมากมาย พร้อมซึมซับศิลปวัฒนธรรมไทยกับงานสกุลช่างโบราณ และยังได้ชมพลุดอกไม้ไฟสวยๆ ยามค่ำคืน ตอนนี้ยังมีเวลาเหลืออีกหลายวันให้คุณได้ไปเที่ยวช้อป ชิม ชิล และถ่ายรูปมุมสวยๆ มากมายในงาน เพื่อได้สร้างความทรงจำดีๆ กับครอบครัว เพื่อนฝูง และคนที่คุณรักได้อย่างประทับใจไม่รู้ลืม