ตอบคำถาม 'คัลแลน-พี่จอง' ภูเขาภาคเหนือ ภาคใต้ ต่างกันอย่างไร?
กรมทรัพยากรธรณี ออกมาตอบคำถามของ 2 หนุ่ม ยูทูปเบอร์ชื่อดังอย่าง 'คัลแลน-พี่จอง' ที่ว่า “ภูเขาภาคเหนือ ภูเขาภาคใต้ต่างกันอย่างไร” พร้อมให้เกร็ดความรู้ธรณีวิทยาเพิ่มเติม
กองธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ออกมาตอบคำถาม คลายข้อสงสัยของ 2 หนุ่ม ยูทูปเบอร์ชื่อดังอย่าง 'คัลแลน-พี่จอง' ที่สงสัยว่า “ภูเขาภาคเหนือ ภูเขาภาคใต้ต่างกันอย่างไร”
ที่คัลแลนสังเกตและบอกว่า "ที่ภาคเหนือ กว้างๆ...แบบนี้ภูเขาแบบนี้เยอะๆ" กรมทรัพยากรธรณี ขออธิบายว่า เพราะได้รับอิทธิพลจากการเคลื่อนตัวเข้าหากันของ "แผ่นเปลือกโลกอินเดียและยูเรเซีย" เกิดเป็นแนวเทือกเขาจากชั้นหินโดนบีบอัดกัน
ส่งผลให้ชั้นหินยกระดับเป็นแนวเทือกสูงสลับซับซ้อนต่อกันแนวเหนือ-ใต้ ตั้งแต่ภาคเหนือถึงตะวันตกตอนบน เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ตาก และประเภทหินส่วนใหญ่เป็น "หินอัคนีและหินแปร"และหินตะกอนที่มีความคงทนต่อการกัดกร่อนจึงยังคงภูมิลักษณ์เป็นภูเขายอดสูงและสลับซับซ้อนอยู่
“ส่วนภาคใต้ไม่มี...แล้วก็มีภูเขา พึบ! ขึ้นมา...แล้วจบ” กรมทรัพยากรธรณี อธิบายเพิ่มเติมว่า ลักษณะภูเขาลูกโดดนี้มาจากธรณีสันฐานทางภาคใต้ของไทยมีการสะสมตัวของ "หินตะกอน" จำพวกหินปูน หินทราย หินทรายแป้ง กระจายตัวเป็นบริเวณกว้าง จากนั้นเมื่อเกิดการเคลื่อนตัวเข้าหากันของ "แผ่นเปลือกโลกฉาน-ไทยและอินโดจีน" เกิดการทรุดตัวเป็น "อ่าวไทย" และภาคใต้เป็นรูปทรงด้ามขวาน
เช่น จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา รวมทั้งรับอิทธิพลจากแนวรอยเลื่อนเฉียงระดับ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หินตะกอนที่คงทนน้อยกว่าจึงถูกกัดเซาะและผุพังไปเป็นจำนวนมาก ภูเขาส่วนใหญ่ในภาคใต้จึงกลายเป็นลักษณะภูเขาลูกโดดมากกว่าในภาคเหนือที่เป็นเถือกเขาต่อเนื่องกัน
สำหรับแฟนคลับ "คัลแลน พี่จอง" ที่สนใจเรื่องธรณีวิทยาของประเทศไทย อยากหาสถานที่ท่องเที่ยวแบบนี้ มีภูเขา มีหินสวยๆ มีอุทยานธรณี ตามไปดูได้ที่ Geoparks Thailand
อ้างอิง : กรมทรัพยากรธรณี, อุทยานแห่งชาติเขาหลวง, 컬렌 Cullen HateBerry