เที่ยว 'สังขละบุรี'...แดนไกลเมืองกาญจน์ สวยทุกฤดูกาล
'สังขละบุรี' เป็นเป้าหมายที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว บวกกับวิถีชีวิตอันเรียบง่ายแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังศรัทธาจากหลายชาติพันธุ์ หน้าร้อนก็ยังสวย ทั้งธรรมชาติที่งดงามตามฤดูกาล และเอกลักษณ์แห่งประเพณีที่ไม่เหมือนใคร
เมืองแห่งสายน้ำและศรัทธารายล้อมด้วยหุบเขา บอกเล่าเรื่องราวของวิถีชาว สังขละบุรี มาอย่างยาวนาน บรรยากาศอันเงียบสงบตั้งแต่เช้าจรดค่ำ รอยยิ้มแห่งไมตรีที่มีให้กัน เราจึงนึกถึงสังขละ-เมืองกาญจน์เสมอ
ตักบาตรตอนเช้า
เที่ยวสังขละ ไปไกล ไปยาก ทว่าอุ่นใจเมื่อไปถึง
การเดินทางมายัง อ.สังขละบุรี นับเป็นอีกเส้นทางสวยในเมืองไทย แต่ก็มีความลาดชันและคดเคี้ยวพอประมาณ จึงต้องใช้เวลามากกว่าเส้นทางปกติ ถึงจะมายากมาไกล แต่มาแล้วอุ่นใจ มีที่ให้เที่ยวชมอีกหลายจุด ที่โดดเด่นเป็นศูนย์รวมของทุกคน คือ สะพานมอญ ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็น สะพานมีชีวิต เพราะในแต่ละช่วงเวลา จะให้ความรู้สึกแตกต่างกันไป
สะพานมอญ หรือ สะพานอุตตามานุสรณ์ พาดผ่านแม่น้ำซองกาเลีย เชื่อมโยงวิถีชีวิตของชาวไทยและชาวมอญ รวมทั้งชาวกะเหรี่ยงมาเนิ่นนาน ผ่านการปรับปรุงซ่อมแซมมาแล้วหลายครั้ง หากจำได้เมื่อปี 2556 สะพานถูกน้ำป่าปะทะจนขาด แต่ได้อาศัยความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านและทหารช่างจากกองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) ค่ายสุรสีห์ช่วยกันซ่อมแซมจนสำเร็จ
สะพานมอญยามค่ำคืน
ปัจจุบันสะพานมอญยังคงเป็น สะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย และเป็นจุดรวมของนักเดินทางที่มาเยือนสังขละบุรี โดยเฉพาะช่วงตักบาตรยามเช้า และยามเย็นที่เสิร์ฟบรรยากาศดี ๆ แบบไม่มีซ้ำ ท่ามกลางวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก บรรดาผู้มาเยือนยังมีส่วนเติมเต็มบรรยากาศให้สดใสขึ้น ด้วยการแต่งตัวแบบชาวมอญ ประแป้งเป็นลวดลายบนใบหน้า ประดับประดาด้วยพวงดอกไม้ มองแล้วชื่นใจไปตาม ๆ กัน
ชมเมืองบาดาล วัดใต้น้ำ
ไม่ไกลจากสะพานมอญเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำ 3 สาย คือ ซองกาเลีย บีคลี่ และรันตี เรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า สามประสบ สมัยก่อนมีวัดประจำหมู่บ้านคือ วัดวังก์วิเวการาม (เดิม) หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดหลวงพ่ออุตตมะ เพราะเป็นวัดที่เคยเป็นที่จำพรรษาของ "หลวงพ่ออุตตมะ" จนปี 2527 มีการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ์ ส่งผลให้น้ำท่วมตัวอำเภอเก่า รวมทั้งตัวหมู่บ้านและวัด จนต้องย้ายวัดและหมู่บ้านขึ้นไปบนเนินเขา
วัดใต้น้ำ
และนั่นก็เป็นที่มาของกิจกรรมท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนใคร เริ่มต้นจากจุดลงเรือใกล้ ๆ สะพานมอญ ล่องออกไปชม วัดใต้น้ำ ซึ่งจะมองเห็นตัวโบสถ์ได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำ หากเป็นช่วงหน้าแล้งที่น้ำลงมาก ก็อาจจะมองเห็นตัวโบสถ์ได้แบบเต็ม ๆ
วัดสมเด็จ
หลังจากนั้น เรือจะพาเราไปขึ้นฝั่งที่ วัดสมเด็จ ซึ่งเป็นวัดที่ถูกทิ้งร้างเมื่อครั้งย้ายเมืองเช่นกัน แต่เนื่องจากอยู่บนเนินเขาเล็ก ๆ จึงไม่จมน้ำ เมื่อเดินขึ้นเนินไปเล็กน้อยจะพบกับอุโบสถเก่าแก่ รอบโบสถ์มีต้นไทรปกคลุมอย่างงดงาม
หลวงพ่อหยกขาว
สำหรับ วัดวังก์วิเวการาม (ปัจจุบัน) ตั้งอยู่บนฝั่งที่ไม่ไกลจากตัววัดแห่งเดิมมากนัก เป็นวัดที่มีศิลปะแบบมอญผสมไทยประยุกต์ ภายในวิหารเป็นที่เก็บสังขารของหลวงพ่ออุตตมะ และมีหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าคนจริงของหลวงพ่อนั่งอยู่บนบัลลังก์
วัดวังก์วิเวการาม ปัจจุบัน
ยังมีศิลปะที่งดงามทรงคุณค่าอีกหลายจุด อาทิ วิหารพระพุทธรูปหินอ่อน ประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อนปางมารวิชัยหนัก 9 ตัน คนทั่วไปเรียกว่า หลวงพ่อขาว หรือ หลวงพ่อหยกขาว
ในช่วงหน้าร้อนของทุกปี มีนักท่องเที่ยวที่ตั้งใจมาเยือนสังขละบุรีด้วยเหตุผลที่ว่า อยากจะพบภาพความงามที่ซ่อนไว้ ได้สัมผัสบรรยากาศของเมืองใต้บาดาลด้วยตาสักครั้ง
บ้านกลางน้ำ
ความเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลนำพาให้เราได้พบเจอเสน่ห์อันหลากหลายในสังขละบุรี ดินแดนที่ยังมีไมตรีและรอยยิ้ม ท่ามกลางหุบเขาที่โอบล้อมสายน้ำกว้างใหญ่ ยังเป็นภาพประทับใจพาให้เรากลับไปเยือนเสมอ
สกายวอล์คกาญจนบุรี
เมืองสะพาน กาญจนบุรี
เที่ยวสะพานมอญแล้ว ขากลับสามารถย้อนไปชมสะพานอีก 2 สไตล์ในตัวเมืองกาญจนบุรี เริ่มจาก สกายวอล์คกาญจนบุรี ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ จึงมองเห็นวิวสวยงาม กว้างไกล ทั้งชุมชนเรือนแพ พระพุทธรูปปางประทานพร วัดถ้ำเขาแหลม หอพระประวัติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ฯลฯ
สะพานแม่น้ำแคว
และชมความงดงามของ สะพานแม่น้ำแคว ที่ยังคงมนต์ขลังตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะวันนี้ที่มีกิจกรรมท่องเที่ยวรักษ์โลกอย่างการพายซับบอร์ดในแม่น้ำแควใหญ่มาให้เลือกสนุกกันด้วย โดยจะมีการจัดกิจกรรมกันเป็นประจำ