‘เที่ยวเชียงใหม่’ เมื่อเลียบลำ...ห้วยแก้ว
‘เที่ยวเชียงใหม่’ เยือน ‘อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย’ เลียบลำ ‘ห้วยแก้ว’ ลัดเลาะเส้นทางศึกษาธรรมชาติ พบกับหลายน้ำตก อย่างเช่น ‘น้ำตกวังบัวบาน’ ผ่านผาเงิบ จุดแรกเริ่มจาก ‘น้ำตกห้วยแก้ว’ กราบไหว้รูปหล่อ ‘ครูบาศรีวิชัย’ ตรงตีนเขากันก่อน
เที่ยวเชียงใหม่ ครั้งนี้ต้อง พูดถึง อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ที่อยู่ในตัว เมืองเชียงใหม่ ผมเชื่อว่าท่านอ่านต้องเคยไปกันทุกคน อย่างน้อยก็ขึ้นไปไหว้ พระธาตุดอยสุเทพ แต่ผมสายธรรมชาติ ผมเลยมักขึ้นไปดูดง ดอกนางพญาเสือโคร่ง ที่ ขุนช่างเคี่ยน ที่จะบานสะพรั่งสะใจทุกปีในช่วงราวๆปีใหม่
ซึ่งบนนั้นมีลานกางเต็นท์ ดอยปุย ของอุทยานฯด้วย ในช่วงดอกนางพญาเสือโครงบาน จะเป็น ลานกางเต็นท์ ที่สวยมาก อีกที่หนึ่งก็มักจะไปกางเต็นท์นอนที่หน่วยฯ น้ำตกมณฑาธาร ซึ่งถือเป็นธรรมชาติใกล้เมือง ที่สงบ ร่มรื่น รวมทั้งนานๆ ถึงได้ไปแวะเที่ยว น้ำตกแม่สา 'น้ำตกหมอกฟ้า' ของอุทยานฯแห่งนี้สักที โดยที่ลืมนึกไปว่า อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย แห่งนี้ เขามีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติด้วยนี่นา
เส้นทางเดินแบบใช้เวลาเดินไม่กี่ชั่วโมง คือเส้นทางที่หนึ่ง จากหลังบ้านพักรับรอง(นักท่องเที่ยวก็จองไปพักได้) เลย วัดพระธาตุดอยสุเทพ ไปอีกนิด แล้วเดินลงเขามาเรื่อยๆ จะมีเส้นทางเทรล ผ่าน น้ำตกไทรย้อย ผ่านดงกระโถนฤาษี(ช่วงปีใหม่) แล้วลงมาที่ น้ำตกมณฑาธาร อันนี้เป็นเทรลหนึ่งที่ผมหมายมั่นปั้นมือว่าต้องไปเดินให้ได้ กับอีกเทรลหนึ่งคือเทรลเลียบลำน้ำ ห้วยแก้ว ซึ่งเทรลนี้เขาจะเริ่มที่ น้ำตกห้วยแก้ว
แล้วเดินขึ้นเขามาเรื่อยๆ ผ่าน น้ำตกวังบัวบาน ผ่านผาเงิบ ไปจนถึงวัดผาลาดหรือถ้ายังมีแรง จะเดินเลยวัดผาลาดไปจนทะลุออกถนนลาดยางตรงทางโค้งหักศอกก่อนถึงลานจอดรถ ‘วัดพระธาตุดอยสุเทพ’ นั่นก็ได้
อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ใกล้น้ำตกห้วยแก้ว
แต่ช่วงที่ผมไป(ปลายเดือนกรกฎาคม 2567) ฝนตกปรอยๆทั้งสองวัน ไม่มีหยุดเลย แล้วตกติดต่อกันทั้งสองวัน ทำให้เส้นทางค่อนข้างเละและตรงไหนเป็นลานหินก็จะลื่น โชคดีที่แต่ละจุดสำคัญในเส้นทางเทรลนี้ มันจะอยู่ขนานไปกับถนนขึ้น ดอยสุเทพ ก็เลยต้องใช้วิธีขับรถไปจอดเป็นจุดๆ แล้วแวะลงไป ก็ได้บรรยากาศไปอีกแบบ บรรยากาศของการถือร่มมือหนึ่ง แล้วถ่ายรูปมือหนึ่ง ก็ให้สู้ชีวิตไปอีกแบบ
จุดแรกเลยคือ น้ำตกห้วยแก้ว ซึ่งนักท่องเที่ยวที่ไป ดอยสุเทพ เรามักจะแวะกราบไหว้รูปหล่อ ครูบาศรีวิชัย ตรงตีนดอยอยู่แล้ว แต่ไม่ค่อยได้เข้าไปที่น้ำตกนี้ ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้าเดินเลยลานจอดรถเข้ามาราว 100 เมตร ก็จะถึงน้ำตกห้วยแก้ว
ภายในบริเวณน้ำตกห้วยแก้ว
ซึ่งเกิดจาก ลำห้วยแก้ว จากยอดดอยไหลผ่านจุดท่องเที่ยวต่างๆในเส้นทางไปสู่ อ่างแก้ว ใน มช. ตอนผมไปฝนตก ปริมาณน้ำเลยมากหน่อย น้ำตกเลยดูสวยงาม อุทยานฯเขาดูแลพื้นที่ดี ร่มรื่น และอย่างที่บอกว่า เป็นจุดเริ่มต้นเดินเทรล คนไทยเราไม่ค่อยเดินกัน แต่ต่างชาติ โดยเฉพาะยุโรปเดินกันหนาตา เดินฝ่าฝนขึ้นเขาไปตามเส้นทางเดินเรื่อยๆ
น้ำตกห้วยแก้ว
อย่างที่บอกว่าฝนตกปรอยทั้งวัน ผมเลยต้องใช้วิธีนั่งรถขึ้นเขาไปยังจุดที่สองคือ น้ำตกวังบัวบาน ตรงนี้จะเป็นแก่งน้ำกว้าง ที่สายน้ำห้วยแก้วไหลลาดผ่านลานหินลงมาลงสู่วังน้ำกว้าง จากตรงนี้จะมีศาลามองเห็นทิวทัศน์เมืองเชียงใหม่ด้วย แต่อย่างที่บอกว่าฝนตกทั้งวัน รูปที่เอามาให้ดู เลยมีเมฆฝนครึ้มไปหน่อย เอาไว้หน้าหนาวค่อยไปแก้มือ เอารูปมาให้ดูครับ
วังบัวบานในวันฝนตกทั้งวัน
เวิ้งผาเงิบริมธารน้ำห้วยแก้ว
ขึ้นมาอีกจุด จะเป็น ผาเงิบ ซึ่งพอจอดรถริมทางแล้วต้องเดินเท้าลงไปยังลำธารด้านล่างราว 50เมตร ตรงผาเงิบนี้จะเป็นหน้าหินทรายสูงราว 30 เมตร แต่ด้านล่างเป็นเวิ้งเพิงถ้ำเว้าเข้าไป ด้านหน้าเป็นลานหิน แต่เป็นหินแกรนิตซะงั้น แปลกดี
มี ลำน้ำห้วยแก้ว ไหลผ่านเช่นกัน พอผ่านลานหินที่แผ่ลาด น้ำมันก็แผ่กว้างเป็นผืนน้ำบางๆฉาบลานหินไปโดยปริยาย ถ้าฝนไม่ตกน่ามานั่งเล่นน้ำได้สบายๆ
เจดีย์โบราณที่วัดผาลาด
จุดต่อไปคือ วัดผาลาด(สกิทาคามี) ซึ่งที่นี่รถรานักท่องเที่ยวค่อนข้างแน่น แทบไม่มีที่จอด วัดนี้ตามประวัติบอกว่าเป็นวัดเก่าแก่ ไม่ปรากฏว่าสร้างมาแต่ในสมัยใด แต่มีชื่อวัดปรากฏในสมัยพระเจ้ากือนา ว่าครั้งพระองค์นำพระสารีริกธาตุที่พระมหาสุมณเถระ ซึ่งนำมาจากสุโขทัย ประทับมาบนหลังช้างเพื่อจะนำไปประดิษฐานที่ วัดพระธาตุดอยสุเทพ ในครั้งนั้นขบวนของพระองค์ได้แวะพักที่วัดผาลาดแห่งนี้ก่อน
ภายใน วัดผาลาด มีทั้งวิหารทรงล้านนา มีพระพุทธรูปอยู่หลายองค์ เจดีย์ทรงระฆังคว่ำแบบล้านนา มีบ่อน้ำศักดิสิทธิ์ มีหอพระเจ้า ฯลฯ ซึ่งสิ่งปลูกสร้างทั้งหลายนี้ พอโดยฝน โดนความชื้น ก็จะมีพืชเล็กๆขึ้นกันเขียวครึ้มดูขรึมขลังมาก บรรยากาศร่มรื่นยิ่งฝนพรำแบบนี้ด้วยแล้วยิ่งดูทึมๆ บรรยากาศแบบหมอกๆ
สิ่งปลูกสร้างในวัดผาลาด
แต่ นักท่องเที่ยว ก็เดินกันขวักไขว่เลย ในวิหารต่างๆที่พอมีร่ม มีหลังคา ก็พากันไปนั่งหลบฝน ที่วัดนี้ จะสิ้นสุดเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติของอุทยานฯหรือถ้าจะเดินลงไปน้ำตกห้วยแก้วก็มาเริ่มที่วัดนี้ได้เช่นกัน โดยเส้นทางจะขนานไปกับลำน้ำห้วยแก้วอย่างที่บอก
‘ลำน้ำห้วยแก้ว’ เป็นหนึ่งลำห้วยที่ก่อเกิดบนป่าของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ซึ่งจะถือว่าเป็นป่าฝนก็ได้ ถือเป็นป่าต้นน้ำก็ได้ เพราะเมื่อฝนตกปริมาณน้ำเหลือจากที่ดินอมไว้ ก็จะปล่อยไหลรวมลงมาในร่องเขาไหลลดหลั่นลงมาเรื่อยๆ
ผ่านจุดต่างๆดังกล่าว แต่ ดอยสุเทพ มีลำห้วยอีกหลายร่อง หลายลำธาร ล้วนแล้วแต่ก่อเกิดมาจากป่าที่สมบูรณ์ทั้งนั้น นี่ขนาดว่าบนดอยสุเทพมีทั้งหมู่บ้านดั้งเดิม มีหน่วยงานราชการ มีวัด มีหลายต่อหลายหน่วยงานไปใช้พื้นที่ ป่าดอยสุเทพก็ยังเป็นแหล่งต้นน้ำสาขาที่ไหลลงไปเติมน้ำให้แม่น้ำปิง ก่อนที่แม่น้ำปิงจะไหลลงเขื่อนภูมิพลเป็นสายน่ำสายชีวิตของประเทศไทย
บรรยากาศในวัดผาลาดวันฝนตกแต่นักท่องเที่ยวไม่ถอย
บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ในวัดผาลาด
ป่าใกล้เมืองไม่มีทางอยู่ได้รอดปลอดภัย ถ้าไม่มีคนดูแลรักษา อยากจะบอกว่า การที่ป่าไทยเรายังอยู่ยั้งยืนยง ได้ทำหน้าที่ตามระบบนิเวศ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ทำให้ผมและท่านผู้อ่านมีสถานที่ท่องเที่ยวสวยๆ เพราะป่ามีคนดูแล คนเหล่านั้นคือ ผู้พิทักษ์ป่าทั้งหลายนี่เอง
คนเหล่านี้ทำหน้าที่เหมือนทหาร เหมือนตำรวจ เพียงแต่พื้นที่ที่เขาทำหน้าที่ป้องกัน ดูแลรักษา คือพื้นที่ป่าที่ถูกมอบหมาย งานเขาหนักหนาอย่างมาก เรียกว่าถ้าใจไม่รัก ก็ไม่มีคนมาทำงานนี้แน่ ใครกันจะมารับจ้างแบกเป้ แบกปืน เดินเข้าป่า ขึ้นเขาลงห้วย ห่างครอบครัวถึง 15 วันต่อเดือน แลกกับค่าตอบแทนอันน้อยนิด น้อยอย่างมากๆ ถ้าใจไม่รัก ไม่เสียสละก็จะไม่มีคนเหล่านี้แล้ว
โชคดีที่ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานฯ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ ทั้งผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญจึงพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอเพิ่มค่าตอบแทนขึ้นมาอีก โดยจะเริ่มอัตรางินเดือนใหม่ในเดือนตุลาคมนี้ ก็ถือว่าได้ให้ความสำคัญเขาในเรื่องค่าตอบแทน
ก็หวังว่าผู้บริหารในระดับชั้นต่างๆที่เกี่ยวข้อง ควรช่วยทำสวัสดิการในการดูแลรักษายามเจ็บไข้ได้ป่วยเพิ่มด้วยจะดีมาก อย่างน้อยให้ได้สวัสดิการเท่าพลทหารก็ยังดี
ในหนึ่งปี ทั่วโลกกำหนดให้วันที่ 31 กรกฎาคม ให้เป็นวันผู้พิทักษ์ป่าโลก ยกย่องพวกเขาเหล่านี้แล้ว ก็อยากให้สร้างสวัสดิการที่ดีให้เขาเหล่านี้สักหน่อยเพื่อตอบแทนการเสียสละของเขาบ้าง
เวลาผมไปทะเล ภูเขา เข้าป่า ไปน้ำตก แน่นอนว่าเราชื่นชมกับแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าแน่นอน แต่สิ่งที่มันซ่อนเป็นเบื้องหลังของสถานที่เหล่านั้น คือผู้ดูแล ผู้พิทักษ์ป่าเหล่านี้นี่เอง
ธารน้ำห้วยแก้วที่ผาเงิบ
ใช้งานเขา ดูแลเขาด้วย ในฐานะของคนเดินทางท่องเที่ยว ก็ขอคารวะจิตใจผู้พิทักษ์ป่าทุกนายที่เสียสละ ทุ่มแรงกายแรงใจดูแลทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ขอคารวะพวกท่านเหล่านี้มา ณ ที่นี้ด้วยครับ
น้ำมีเพราะป่ายัง ป่ายังเพราะมีคนรักษา....ผู้พิทักษ์ป่า