‘เที่ยวมุกดาหาร’ จากลานหินสู่ป่า...กับเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ‘ภูผาเทิบ’
‘เที่ยวมุกดาหาร’ สำรวจความสวยงามบน ‘ภูผาเทิบ’ นอกจากสวนหินธรรมชาติ ยังมีดอกไม้อาทิ ดงดอกไม้ดิน สร้อยสุวรรณา ทิพเกสรฯ เพลิดเพลินกับเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ยังมี ‘น้ำตกถ้ำพระ’ ที่เพิ่งได้มาเห็นครั้งแรก
ผมไปอุทยานแห่งชาติ ภูผาเทิบ มานับสิบๆครั้ง ไป เที่ยวมุกดาหาร ทีไรก็มักจะมาตั้งเต็นท์พักแรมที่อุทยานแห่งนี้ตลอด ด้วยว่าห่างตัวเมืองแค่สิบกว่ากิโลเมตร เงียบสงบ เย็นสบาย ตามบุคลิกของอุทยานแห่งชาติทั่วไป อีกทั้งความสวยงามของ
อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ นั้น นอกจากบรรดาหินทรายรูปทรงต่างๆ ที่เป็นสวนหินธรรมชาติแล้ว ที่ขึ้นชื่ออีกอย่างก็คือบรรดาดงดอกไม้ดิน พวกสร้อยสุวรรณา ดุสิตา กระดุมเงิน ทิพเกสร ฯลฯ อะไรเหล่านี้
ซึ่งบรรดาดงดอกไม้นั้นจะบานกันราวเดือนตุลาคม ถึงแม้ว่าดงดอกไม้ที่นี่จะไม่เป็นพื้นที่กว้างเหมือนที่สร้อยสวรรค์ของผาแต้ม หรือที่วนอุทยานผาหลวงก็ตาม แต่ดงดอกไม้ที่ภูผาเทิบ ก็จะได้ทิวทัศน์ของสวนหินต่างๆ แต่งแต้มดงดอกไม้ให้สวยงามขึ้นมาชดเชย
แต่ อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ เขาไม่ได้มีแค่สวนหินกับทุ่งดอกไม้ เขายังมี น้ำตกถ้ำพระ ด้วย ซึ่งแม้ผมจะมา ภูผาเทิบ แล้วเป็นสิบๆ ครั้ง แต่ก็ไม่เคยไปถึงน้ำตกถ้ำพระสักที ซึ่งแน่นอนว่าถ้าตั้งใจจะมาดูน้ำตก ก็ต้องมาในช่วงฤดูฝน ซึ่งทุ่งดอกไม้ที่ว่ายังไม่บานแน่ แต่ถ้ามาในช่วงดอกไม้บาน น้ำตกก็จะไม่มีน้ำ แต่คราวนี้ผมตั้งใจจะไปดูน้ำตกให้ได้ จึงเลือกไปในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แน่นอนว่า ดอกไม้ดินยังไม่บาน
เอกลักษณ์ของภูผาเทิบ
น้ำตกถ้ำพระ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางในการเดินเท้าไปของผมครั้งนี้ อยู่ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ ซึ่งน้ำตกนี้เป็นน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในอุทยานฯแห่งนี้ และมีน้ำในหน้าฝน ตามสไตล์ของน้ำตกบนลานหินทรายทั้งหลายนั่นเอง ในอดีตผมเคยพยามยามจะเดินไปน้ำตกถ้ำพระมาบ้าง
แต่.. ‘หลงทาง’ ไปไม่ถูก แต่เดี๋ยวนี้ผมมั่นใจว่าไปแล้วไม่หลงทางแน่ๆ เพราะเดี๋ยวนี้ ทางอุทยานฯ เขาทำป้ายบอกทางไว้ชัดเจนมาก แล้วทำถี่ มีติดป้ายบอกไว้แทบตลอดทาง เดินเองก็ไม่มีหลง นอกจากเขาจะบอกทิศทางแล้วยังบอกระยะทางด้วย ไม่เหมือนในอดีต
ซึ่งอุทยานฯยังไม่ได้พัฒนามาก ป้ายบอกทางจึงมีน้อย น้อยจนผมไปหลงบนลานหิน พอเจอลานหินทรายกว้างๆ โล่งๆ ไม่มีป้ายบอก ไม่มีอะไรสังเกต ก็ไปไม่เป็น ไม่รู้จะไปทิศไหนแล้ว เพราะรอยทางเดินบนลานหินมันก็ไม่ปรากฏให้เห็น
พอมาเห็นความพร้อมของพื้นที่แบบนี้ในยุคนี้ เลยมั่นใจขึ้น ประกอบกับอุทยานฯเขาทำแผนที่เส้นทางให้เราดูให้เข้าใจก่อนที่จะเริ่มเดินเท้า พร้อมทั้งมีเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินบอกไว้เผื่อหลงทางจะได้โทรแจ้งเขาได้ เห็นแบบนี้ก็มั่นใจยิ่งขึ้น
เริ่มต้นเดินเที่ยว
มาเดินที่ ภูผาเทิบ ถึงจะเป็นหน้าฝน แต่ผมก็เตรียมอุปกรณ์กันแดดไปครบ เพราะเส้นทางเกือบครึ่ง เป็นลานหิน ที่เวลาแดดออกละก็ยังกะอยู่ในนรก น้ำดื่มก็อย่าได้ลืมเชียว เพราะจุดที่ผมจะไปคือน้ำตกถ้ำพระ ซึ่งห่างจากที่ทำการราว 3 กิโลเมตรเดินไปกลับก็ 6 กิโลเมตร การเตรียมน้ำดื่มไปด้วยจึงสมควรทำอย่างยิ่ง
การมาเดินในช่วงฤดูฝนนี้ดีไปอย่าง ตรงที่ลานหินทรายทั้งหลายจะมีน้ำซึมไหลรินตลอดเวลา แต่ก็ต้องระวังการเดินด้วย เพราะอาจจะมีการลื่นตะไคร่ได้ และถ้ามาในช่วงหน้าฝน ดอกเอ็นอ้า จะออกดอกสีม่วงสวยสดใส
ลานดอกไม้ดินที่ลานมุจลินทร์จะบานราวเดือนตุลาคม.
ดอกฝ้ายผี ก็จะออกดอกสีเหลืองแทบจะทั่วบริเวณ เดินไปก็เพลินไป เพราะดอกไม้เหล่านี้นี่เอง ส่วนตามพื้นนั้นหญ้าน้ำค้างสีแดงๆ มาออกดอกตามชายดิน รอบรรดาดอกไม้ดินจะมาบานสมทบในเดือนตุลาคม
แผนที่เดินศึกษาธรรมชาติ อช.ภูผาเทิบ
ใน เส้นทางศึกษาธรรมชาติ นอกจากบรรดาสวนหินแล้ว ทุ่งดอกไม้ที่ว่าจะอยู่แถวลานมุจลินทร์ ซึ่งเป็นลานหินกว้าง และมีศาลาหกเหลี่ยมจุดแรกเป็นที่หลบฝน หลบแดด ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวก็มักจะมากันแค่ตรงนี้ เพราะลานหินโล่งๆ มันร้อนแดด ต่อจากลานมุจลินทร์ก็จะเป็นลานหินทรายกว้างใหญ่ไปจนถึงศาลาหกเหลี่ยมแห่งที่สอง คือลานดูดาว
หินหัวจระเข้ ที่มองตอนขาขึ้น อาจจะไม่คล้ายนักเท่าขาลง.
ที่ลานดูดาวนี้ จะมีทางแยกขวามือลงไปยังน้ำตกวังเดินห้า ซึ่งเขาจะมีป้ายบอกทางตลอดไม่มีหลงทางเลย เดินไปแค่ 450เมตร ก็จะถึงน้ำตกวังเดือนห้า ซึ่งเป็นน้ำตกเล็กๆ มีแอ่งน้ำเบื้องล่างที่บรรยากาศรอบๆร่มรื่น
ลานมุจรินทร์ ลานหินกว้างที่มีทุ่งดอกไม้อยู่ชายขอบลานหิน.
ระหว่างที่เดินมาน้ำตกนี้ จะผ่านลานหินทรายกว้าง จะพบเห็นหลุมบนลานหินทราย เป็นลักษณะคล้ายรอยฝ่าเท้าขนาดใหญ่ ซึ่งผมเดินวนดู ช่างคล้ายจริงๆ แต่จริงๆ มันก็คือปรากฏการณ์ปกติของหินทรายที่ถูกน้ำและหินขัดเกลาจนเกิดรูปร่างคล้ายฝ่าเท้านี่เอง
ย้อนกลับมาที่ศาลาหกเหลี่ยมตรงลานดูดาวอีกครั้ง ตรงนี้ในช่วง ดอกไม้ดิน บาน ก็จะมีทุ่งดอกไม้ละลานตาเช่นกัน และจะมีทางเดินเท้าไปยัง ผาอูฐ ซึ่งเป็นหน้าผาหินทรายกว้างที่มองเห็นทิวทัศน์ของป่าที่สมบูรณ์ของอุทยานฯภูผาเทิบ
ในช่วงฤดูฝน ดอกไม้ที่เป็นต้นจะออกดอกบ้าน และน้ำตกมีน้ำ.
ดอกไม้ดินที่ภูผาเทิบบานสะพรั่งในเดือนตุลาคม.
ใกล้ผาอูฐจะมีหินทรายที่ถูกธรรมชาติจัดแต่งจนดูเหมือนอูฐ 2 นอ ดูแล้วเหมือนจริงๆ จากตรงหินอูฐนี้ อิทธิพลของลานหินทรายกว้างที่มาตั้งแต่เริ่มต้นเดินจากอุทยานฯมานับกิโลเมตรก็สิ้นสุดลง เพราะต่อจะนี้จะเป็นพื้นที่ของป่าเบญจพรรณ
ซึ่งจะเห็นทางเดินชัดเจนมาก ยิ่งมีป้ายบอกทางเป็นระยะๆ ยิ่งไม่หลง ส่วนใหญ่ถ้าคนหลงทาง ก็มักจะหลงบนลานหิน เพราะจะไม่ปรากฏทางเดิน ไม่มีอะไรให้สังเกตุ ต่างจากทางในป่า ที่จะมีด่านสัตว์ให้เห็นอย่างชัดเจน
ลานดูดาว ลานหินแห่งที่ 2 กับป้ายบอกแหล่งท่องเที่ยว.
ร่องรอยบนหินทรายรูปฝ่าเท้าขนาดใหญ่ ในทางไปน้ำตกวังเดือนห้า
เดินเข้าป่ามาไม่นานก็จะเจอทางแยก ทางซ้ายมือของแยก เดินไปอีก 50 เมตร จะถึง ผางอย ซึ่งจะเป็นจุดชมทิวทัศน์อีกด้านหนึ่ง นอกจากผืนป่าเต็งรังที่สมบูรณ์ สวยงามแล้ว ยังจะมองเห็นแม่น้ำโขงไกลๆ ด้วย
จาก ผางอย ก็ย้อนกลับมาที่ทางแยกอีกครั้ง แล้วเดินตรงไปตามทาง เดินไปไม่ถึง 70 เมตร ก็จะถึงทางลงเขา ตรงนี้มีอะไรน่าสนใจ
มันจะมีหน้าผาหินทราย ที่ไม่ใช่หินผาธรรมดา แต่มันจะปูดโปนเป็นเกล็ดนูนๆ คล้ายๆซันเคล็กส์ที่ภูหินร่องกล้า แต่มันจะเป็นเกล็ดขึ้นไปจนถึงหน้าผาด้านบนเลย ดูเผินๆจึงเหมือนหน้าผาซันเคล็กส์ ไม่ค่อยเห็นปรากฏการณ์ทางธรณีแบบนี้ในบ้านเรานัก มาเห็นที่นี่จึงตื่นตาตื่นใจพอสมควร
หญ้าน้ำค้าง งดงามตั้งแต่ช่วงฤดูฝน จนกระทั่งดอกไม้ดินบานในช่วงตุลาคม
ลักษณะทางธรณีที่หินเป็นเกล็ด เหนือทางลงไปน้ำตกถ้ำพระ
จากจุดนี้จะเป็นช่องเขาเดินลงทางลาด ซึ่งตรงไหนที่เป็นทางชันลงเขา ทางอุทยานฯ เขาก็จะทำเป็นบันไดปูนแล้วมีราวเหล็กให้ยึดเกาะได้ ถือว่าอำนวยสะดวกพอสมควร ลงมาได้นิดเดียวทางซ้ายมือจะเป็นหินที่ดูละม้ายคล้ายหัวพญานาคที่มีหงอนแหลม บางมุมมองจะดูเป็น หู ตา พญานาคเลย นับว่าแปลกดี ยังดีที่ยังไม่มีผ้าเขียวผ้าแดงมาพัน หรือมีรอยทาแป้งด้วย แต่ในอนาคตไม่แน่
หินหงอนพญานาค ในเส้นทางลงไปน้ำตกถ้ำพระ
จากนั้น ทางเดินที่ลาดชันลงมา ก็จะนำพาเรามาถึงทางราบระหว่างภูเขาสูงที่เป็นหน้าผาขนาบอยู่ทั้งสอง หน้าผาหนึ่งคือทางที่เราเดินลงมา ส่วนหน้าผาด้านหน้า คือหน้าผาน้ำตกถ้ำพระนั่นเอง ที่ราบตรงกลางนี้เป็นป่าเต็งรังมีพื้นที่ไม่กว้างนัก
เดินเท้ามาบนทางราบมานิดเดียว ทางก็จะพาเราเลาะไปตามชายหน้าผาอีกฝั่ง เป็นป่าเบญจพรรณปกคลุม ร่มรื่นตลอดทาง แต่ป่าเบญจพรรณหน้าฝนนั้น ‘ยุงเยอะ’ การแต่งกายที่มิดชิดสำหรับที่นี่นอกจากจะกันแดดแล้ว ยังกันยุงได้ด้วย
หน้าผาสูง ที่มองเห็นตั้งแต่ผาอูฐ แต่ก็มาถึงจนได้.
หินอูฐ ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
จุดชมวิวผาอูฐ
จุดชมวิวผางอย
ทางจะค่อยๆนำพาเราเดินขึ้นเนินเลาะหน้าผาไปเรื่อยๆ ราว 500 เมตร ก็จะมาถึงกองหินถล่มใต้หน้าผาที่สูงชัน ผาที่ตัดดิ่งลงมา มีสายน้ำเล็กๆ ตกลงมาจากหน้าผาตรงนี้สองสาย แต่ที่นี่ก็ยังไม่ใช่น้ำตกถ้ำพระ ต้องเดินขึ้นเนินหินเชิงหน้าผาไปอีกราว 60 เมตร จึงถึงน้ำตกถ้ำพระซะที
น้ำตกถ้ำพระ เป็นสายน้ำที่ตกลงมาจากหน้าผาหินทรายสูงราว 30 เมตร ตกลงมาชั้นเดียว ด้านหน้ามีกองหินถล่มกองกันระเกะระกะ มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมด้านหน้าให้ร่มเงา ด้านใต้ผา เป็นเพิงหินยาวลึกไปจนใต้น้ำตก แล้วผมก็มาถึงน้ำตกถ้ำพระจนได้ เพราะที่นี่มีน้ำแค่ในช่วงหน้าฝน ถ้าจะดูน้ำตกจึงต้องมาช่วงนี้อย่างเดียว โอกาสที่จะมาเห็นน้ำตกแห่งนี้ ในหนึ่งปีจึงมีระยะเวลาสั้นมาก
น้ำตกวังเดือนหน้า ในช่วงฤดูฝน
ด้านหน้าน้ำตก มีป้ายบอกทางไปถ้ำพระที่อยู่ด้านบน ไหนๆก็มาแล้ว ผมก็เลยเดินไปตามทางและป้ายที่บอก ซึ่งต้องข้ามลำธารน้ำตกไปฝั่งตรงข้ามแล้วเดินขึ้นเนินเขาไปนิดเดียว ก็จะเจอบันไดเหล็กสีแดง พาดต่อๆกัน 3 ทอด ขึ้นไปยังหน้าผาด้านบน ซึ่งเป็นบันไดที่ชันมาก ยิ่งเราเดินมาไกลจนขาล้า พอมาเจอบันไดชันอีก เล่นเอาหมดแรงทีเดียว
ค่อยๆขึ้นบันไดไปทีละขั้นๆ ก็ขึ้นไปจนถึงทางแยก แยกหนึ่งจะไปเพิงถ้ำพระ และยังมีบันไดพาดขึ้นไปยังลานหินด้านบน ไปยังผามะนาวอีก แต่ตอนนี้ เราเดินไปถ้ำพระกันก่อน
บรรยากาศน้ำตกถ้ำพระ ที่ร่มรื่น.
จากแยกตรงบันได้นี้ เดินผ่านช่องหินขนาดใหญ่มาราว 20 เมตร ก็จะมาถึงเพิงถ้ำพระ ที่มีลำธารน้ำไหลขวางหน้า ทางขวามือ เป็นลำธารน้ำตก ที่ไหลตกลงมาจากลานหินด้านบนลงมาตามร่องเขา แล้วไหลลาดผ่านใต้เพิงหิน
ที่มีพระพุทธรูปปูนปั้นองค์ใหญ่ ด้านหน้าปูกระเบื้องเป็นลานเล็กๆ แต่ในเวลานั้นน้ำไหลหลากผ่านท่วมลานกระเบื้องไป แล้วจึงตกลงไปเป็นน้ำตกถ้ำพระที่เราผ่านมานั่นเอง
เพิงถ้ำพระ เหนือน้ำตกถ้ำพระ.
เพิงหินถ้ำพระนี้ ไม่ใหญ่นัก ชาวบ้านนำปูนมาปั้นเป็นหัวพญานาคหลายหัว มีพระพุทธรูปปูนองค์ใหญ่ประดิษฐานไว้ ว่ากันว่าเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนย่านนี้มา จะมีวันที่ชาวบ้านมาทำบุญพระพุทธรูปนี้ด้วย
ด้านหลังเป็นตู้ที่ภายในเก็บบรรดาพระไม้ไว้มากมาย ซึ่งตามประเพณีของคนอีสานหรือล้านนา เขาจะแกะสลักไม้ เป็นพระพุทธรูป นำไว้บูชาไว้ตามเพิงถ้ำ
พระไม้ ที่ถูกแกะสลักมาไว้ในถ้ำพระเพื่อเป็นพุทธบูชา.
อย่างที่เราเจอกันที่ถ้ำติ่ง หลวงพระบางนั่นเอง ซึ่งที่นี่ก็คล้ายกัน แต่อย่างที่บอกว่าพระไม้เหล่านี้ ถูกรวบรวมมาเก็บไว้ในตู้หมดแล้ว ผมดูสถานที่แล้วไม่แน่ใจว่าเคยมีพระภิกษุมาใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรมบ้างหรือเปล่า ถ้าเคย ก็คงหนวกหูเสียงน้ำตกน่าดู
นอกจากนี้ เส้นทางยังนำพาเราเดินขึ้นหลังผาหิน ไปยัง ผามะนาว และผาอื่นๆได้อีก แต่เดินอีกเป็นกิโลเมตรกว่าจะถึง เลยตัดใจว่า พอแล้ว เอาแค่นี้ ประกอบกับน้ำตกถ้ำพระนี่ใหญ่ที่สุดในอุทยานฯ ภูผาเทิบ และเราก็ได้มาสมดั่งใจแล้ว ก็เลยพอ เดินกลับดีกว่า
น้ำตกถ้ำพระที่มาจนถึง มีน้ำในช่วงฝนมากเท่านั้น
อย่างที่บอกไปแต่ต้นว่า เคยมาอุทยานฯแห่งนี้เป็นสิบเที่ยว แต่เพิ่งเคยมาถึงน้ำตกถ้ำพระนี้ครั้งแรก และระหว่างที่เดินมา ก็ได้เห็นทิวทัศน์ หน้าผา ได้เห็นสภาพธรรมชาติต่างๆ เรียกว่าพอได้มาเดิน ได้มาใช้เส้นทางศึกษาธรรมชาติของเขา ก็เรียกว่าให้คะแนนค่อนข้างพอใจได้เลย
ภูผาเทิบ ดินแดนที่น่าเดินเที่ยวในช่วงหน้าฝนและต้นฤดูหนาว
‘ภูผาเทิบ’ ถ้าตั้งใจมาเที่ยวจริงๆ ก็มีอะไรให้ได้ดู ได้เที่ยวเยอะเหมือนกัน ไม่ใช่แค่มาแป๊บๆ อย่างในอดีตอีกแล้ว ทั้งนี้ก็ขึ้นกับว่าเรามาแล้วจะดูอะไร มาคราวนี้จึงรู้ว่า ภูผาเทิบนั้น ได้มาสักคราก็คุ้มค่าเหมือนกัน...