หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา ความยิ่งใหญ่ในอดีตที่น่าค้นหา รับรองว่าวันเดียวไม่มีทั่ว หากท่านผู้ชมนึกภาพไม่ออกว่า ‘สงขลา’ ฝั่งหัวเขาแดงและฝั่งแหลมสนอยู่ตรงไหนเดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง

ต้องบอกเลยว่าแรงบันดาลใจในเรื่องนี้ มาจากการแข่งขันฟุตบอลคิงส์คัพ ครั้งที่ 50  ในปี 2567 นี้ที่ไปแข่งกันที่ สนามติณสูนลานนท์   จนทีมไทยเราได้ครองถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ในปีนี้  

นอกจากจะชื่นชมคนสงขลา และคนภาคใต้อื่นๆ ที่ไปเชียร์กันจนแน่นสนามทุกนัดแล้ว   ผมต้องชมสนามฟุตบอลแห่งนี้   เพราะที่ตั้งสนามเขาตั้งติดกับชายทะเลในตัว เมืองสงขลา นั่นแหละ   

คิดดูว่าอากาศมันจะดีขนาดไหน  และนึกขึ้นได้ว่า สงขลา นั้นไม่ได้มีดีแค่ฝั่งตัวเมือง มี่สนามติณสูนลานนท์ตั้งอยู่  หรือที่มีชุมชนโบราณต่างๆเท่านั้น   แต่การเป็นเมืองสงขลานั้นมันมีประวัติศาสตร์ยาวนาน  และน่ากล่าวถึงอย่างมาก และผมก็ไม่ได้เคยเอ่ยถึงตัวเมืองสงขลาเลย  ทั้งที่เป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจ  คราวนี้คงประจวบเหมาะ

สงขลา นั้น มีประวัติการสร้างเมืองแบ่งเป็นสามยุคสมัยคือ ยุคแรก    เป็นยุคที่มาสร้างเมืองสงขลาใหม่ๆ ในช่วงก่อนพุทธศตวรรษ ที่ 22 ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 23  ทางฝั่งหัวเขาแดง   

ยุคที่สองย้ายลงไปทางใต้ที่เรียกว่าฝั่งแหลมสน   และยุคปัจจุบันคือเมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง ที่อยู่คนละด้านกับสองยุคแรก   คราวนี้ผมจะพาไปให้รู้จักสงขลาในยุคเริ่มแรกๆก่อนก็แล้วกัน นั่นคือฝั่งหัวเขาแดง และฝั่งแหลมสน  แล้วค่อยหาโอกาสไปทางฝั่งบ่อยางในภายหลัง

ถ้าท่านผู้ชมนึกภาพไม่ออกว่า สงขลา ฝั่ง หัวเขาแดง และฝั่ง แหลมสน อยู่ตรงไหน   ให้นึกภาพที่ตั้งตัวเมืองสงขลาในปัจจุบัน ที่เป็นแหลมทอดยาวขึ้นไปทางตอนเหนือ ด้านตะวันออกติดทะเลทางอ่าวไทย  ส่วนด้านทิศตะวันตกของแหลมนี้ จะติดกับทะเลของ ทะเลสาบสงขลา  ที่มีแหลมย้อยห้อยเข้ามา จะว่าเป็นปากทางทะเลสาบสงขลา

ก่อนออกทะเลใหญ่ก็ว่าได้   แหลมตรงนี้แหละคือหัวเขาแดงซึ่งคนละฝั่งฟากกับสงขลาปัจจุบัน  ส่วนฝั่งแหลมสนก็คือด้านทิซใต้ของ หัวเขาแดง แหลมสน นี้จะหันเข้าหาทะเลสาปสงขลา ทั้งสองยุคนี้ ตรงข้ามกับที่ตั้งสงขลาในปัจจุบนที่เรียกว่าฝั่งบ่อยางนั่นเอง

ถ้าดูตามแผนที่ จะเห็นว่าตอนเหนือของหัวเขาแดงคือสิงหนคร เหนือสิงหนครคือสทิงพระ  ซึ่งล้วนแล้วเหล่านี้คือเมืองหรือชุมชนโบราณมาแต่ในอดีตทั้งนั้น

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา ชุมชนชายทะเลทางหัวเขาแดง ใกล้ท่าเรือข้ามฟาก

สงขลา...นั้น ในอดีตนักเดินเรือทะเลรู้จักกับเมืองท่าแห่งนี้ในชื่อ ‘ซิงกูลา’  โดยผู้ปกครองเริ่มแรกเป็นชาวมุสลิม ที่อพยพครอบครัวและบริวารมาจากชวา หนีการล่าอาณานิคมของตะวันตกมาขึ้นฝั่งที่บริเวณบ้านหัวเขาแดง  เมื่อมาเจอทำเลที่เหมาะสม  จึงนำบริวารสร้างบ้านเรือน และทำท่าจอดเรือขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับเรือสำเภาและเรือกำปั่นที่เดินทางมาค้าขาย  

 ประกอบกับเมือง หัวเขาแดง มีทำเลที่ดีในการจอดเรือ และมีสินค้าที่แลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้อย่างมากมายหลากหลาย   ทำให้เมืองหัวเขาแดงในสมัยนั้นกลายเป็นเมืองท่าค้าขายระหว่างประเทศ  จนร่ำรวย

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา ทางขึ้นป้อม 8 และไปเจดีย์ขาวดำ ชันเอาเรื่อง

จนกรุงศรีอยุธยารู้ข่าว    สมเด็จพระเอกาทศรถจึงได้ทรงมีพระราชโองการแต่งตั้งให้เจ้าเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง  เป็นข้าหลวงใหญ่ของพระเจ้ากรุงสยาม  ต่อมามีการย้ายไปอยู่ทางใต้ด้านแหลมสน และข้ามฟากไปฝั่งบ่อยางอย่างในปัจจุบัน

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา ป้อมหมายเลข 9 ท่ามกลางดงยางนา

เมืองหัวเขาแดงที่สร้างในช่วงเริ่มแรกนั้น สร้างเป็นกำแพงเมืองล้อมสามด้าน ส่วนอีกด้าน ใช้ภูเขาแดงเป็นกำแพงเมือง   มีการสร้างป้อม และสิ่งปลูกสร้างในสมัยนั้นไว้ในหลายจุดและหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา ด้านหลังป้อมหมายเลข9 มีทางเข้าไปภายในป้อมได้

ผมเล่าสรุปย่อๆ แค่นี้พอให้รู้จักที่มาที่ไป ถ้าท่านผู้อ่านสนใจก็สามารถสืบค้นหาอ่านจากในอินเตอร์เนตได้มากมาย เพราะขืนผมเล่าหมดจะไม่ได้ไปเที่ยวกันสักที  เรามาเที่ยวสงขลาฝั่งหัวเขาแดงกันดีกว่าครับ

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา โบราณสถานเขาน้อย   อยู่ด้านหลังป้อมหมายเลข 

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา โบราณสถานเขาน้อย ในเขตเมืองเก่าหัวเขาแดง

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา กระชังปลาในทะเลสาปสงขลา

ก่อนอื่นเล่าการมาถึงที่นี่ก่อน ถ้าท่านผู้อ่านมาจากตัว เมืองสงขลา ก็ข้าม สะพานติณสูนลานนท์ เข้า เกาะยอ แล้วข้ามมาอีกต่อ   ก็จะเข้าถึงหัวเขาแดงแล้ว  ซึ่งพอข้ามสะพานติณฯมาฝั่งสิงหนครไม่ไกล จะเป็นทางสามแยกใหญ่ถ้าเลี้ยวซ้ายก็จะไปสิงหนคร ไปสทิงพระ

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา ซุ้มประตูบ่อเก๋ง

แต่ถ้าเลี้ยวขวาจะไปหัวเขาแดงหรือท่าลงเรือข้ามฟากไปสงขลาฝั่งบ่อยาง  เราเลี้ยวขวาครับ ถ้าแล่นตรงไปเรื่อยๆท่านผู้อ่านจะไปเข้าป้อมขายตั๋วลงเรือข้ามฟาก ให้ยูเทิร์นกลับ แล้วเลาะเขาแดงกลับมา ทางขวามือจะเห็นบันไดเหล็กเล็กๆ ระวังจะเลย สังเกตดีๆ หาที่จอดรถ  จุดแรกที่ผมอยากให้แวะคือ ป้อมหมายเลข 8 บนหัวเขาแดง

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา บริเวณบ่อเก๋ง

บันไดนี้จะนำพาเราปีนเขาขึ้นไปยังป้อมหมายเลข 8   ที่อยู่บนหัวเขาแดงทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ  และเดินต่อไปอีกเป็นกิโล ก็จะถึงเจดีย์องค์ขาว องค์ดำ ที่อยู่บนยอดเขา   และป้อมหมายเลข 6- 5- 4   ทางเดินช่วงแรกจะขึ้นเขาชันครับ มีบันไดขึ้นไป  แต่ร่มรื่นด้วยเงาไม้ต่างๆ    ผมไปไม่ถึงเจดีย์องค์ขาว องค์ดำ และป้อมหลายเลข 6- 5- 4  เลยแวะได้แค่ป้อมหมายเลข 8

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา น้ำในบ่อเก๋ง ยังใช้ได้ จืดสนิทแม่ห่างทะเลแค่นิดเดียว

              ป้อมนี้อยู่บนหัวเขาด้านทิศตะวันออก จึงมองเห็นสงขลาฝั่งบ่อยาง  และทะเลอ่าวไทยได้เป็นอย่างดี  ป้อมก่อกำแพง สร้างจากหิน ที่เห็นสูงราวๆเอว  มองได้เกือบรอบ    เดิมคงเป็นที่ตั้งปืนใหญ่   และเป็นจุดสังเกตการณ์เรือเข้าออก

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา ศาลาหน้าวัดสุวรรณคีรี

ถ้าเราไม่ไปเจดีย์ต่อ  ก็เดินลง    ลงมาถึงด้านล่าง  ย้อนกลับไปทางท่าลงเรือข้ามฟากนิดเดียว ริมถนนจะมีสุสานสุลต่านสุไลมานซาห์    และถ้ำแม่นางทวดหัวเขาแดง    แต่จอดรถยากครับ ที่มันแคบมากถ้าจะจอดก็จะกินพื้นผิวจราจร    เลยอยากพอมาต่อที่ป้อมหมายเลข 9  ที่อยู่ริมถนน ที่จะข้ามไปเกาะยอนั่นเอง

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา พระอุโบสถวัดสุวรรณคีรี ในเขตเมืองเก่าสงขลา ฝั่งแหลมสน

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา

ตุ๊กตาหิน หน้าประตูเข้าอุโบสถวัดสุวรรณคีรี

              ป้อมนี้เป็นทรงป้อมชัดเจน   ก่อเป็นป้อมค่ายสูงราว 5 เมตร  อยู่ในดงยางนาร่มรื่น  เดินเข้าไปดูในตัวป้อมได้    ทั้งยังมีทางเดินเข้าไปในป่าไปอีกราว 600 เมตร   ก็จะถึงเจดีย์บนยอดเขาน้อย ซึ่งเป็นโบราณสถานบนยอดเขา   สภาพก็ตามในรูปภาพที่เอามาให้ดูเลย  ส่วนยอดมันหักไปเกือบหมดเหลือแต่ตัวฐานเจดีย์

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา อุโบสถบนเนินวัดสุวรรณคีรี

ขับรถมาตามถนนหน้าป้อมหมายเลข 9 ไปทางเกาะยอ   จะมีทางแยกซ้ายมือ เข้าไปแล้วจะเจอสามแยกเลี้ยวขวาอีกรอบ ทางจะขึ้นเขา แล้วลงไปอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นทางเลียบทะเลไปบรรจบกับท่าลงแพข้ามฟากได้เหมือนกัน แต่ช่วงที่ผ่านชุมชน ทางจะแคบมาก  เลยไม่อยากแนะนำ

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา โบสถ์วัดบ่อทรัพย์ในเขตเมืองเก่าสงขลาฝั่งแหลมสน

              พอข้ามเขาลงมาเจอสามแยก เลี้ยวขวามานิดเดียว ก็จะเจอกับลานจอดรถหน้าบ่อเก๋ง  ซึ่งเป็นบ่อน้ำโบราณ (ทุกวันนี้ก็ยังมีน้ำ )  มีซุ้มประตูแบบจีนและรั้ว    ทั้งฐานของร่องรอยอาคาร  ห่างไปไม่ถึงสิบเมตร ก็เป็นทะเลแล้ว แต่น้ำในบ่อจืดสนิท ในอดีตเป็นแหล่งน้ำจืดของคนจีนที่มาตั้งรกรากในช่วงแรกๆ เดิมน่าจะมีอาคารคลุมไว้   แต่ปัจจุบันเหลือเพียงฐานที่เป็นอิฐก้อนใหญ่ ในบริเวณมีต้นมะขามขนาดใหญ่ให้ร่มเงา

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา พ่อตาหัวเขา  สิ่งศักดิสิทธิ์ในวัดบ่อทรัพย์

              ต่อไปเราจะไปเยือนเมืองเก่าสงขลาในส่วนของแหลมสน   โดยไปตามต่อตามถนนลงทางทิศใต้ซึ่งเป็นแหลมและเป็นเมืองสงขลาเก่า เป็นเมืองสงขลาในยุคที่สอง หรือที่เรียกว่าสงขลาทางแหลมสน ที่เกริ่นบอกไปแล้วนั่นเอง    โดยไปตามถนนไม่นาน จะเห็นศาลาที่มีสถาปัตยกรรมแบบทางใต้  และเห็นอุโบสถบนเนิน  ‘วัดสุวรรณคีรี’   ขับรถเข้าไปจอดด้านหลังวัดซึ่งมีต้นไม้ร่มรื่นได้เลย แล้วค่อยเดินเที่ยว

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา อุโบสถวัดบ่อทรัพย์

       วัดสุวรรณคีรี ถือเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองสงขลา  โดยเฉพาะทางแหลมสนในเขต อ.สิงหนครแห่งนี้  อยู่บนเนินจึงมองเห็นทะเลทางด้านทะเลสาบสงขลาได้  เป็นวัดเก่าสร้างมา แต่สมัยอยุธยา ต่อมาได้รับการบูรณะให้เป็นวัดสำคัญ ประจำเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน   เห็นว่าในพระอุโบสถ มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นภาพเขียนสีที่สวยงาม  แต่วันผมไป อุโบสถปิด  เลยไม่ได้เข้าดู ด้านนอกมีหอระฆัง มีเจดีย์หินแบบจีน อยู่บริเวณด้านหน้าของอุโบสถ และซุ้มใบเสมาสร้างด้วยหินแกรนิต ลักษณะศิลปะแบบจีนทั้งหมด

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา บริเวณวัดศิริวรรณาวาส

              จาก ‘วัดสุวรรณคีรี’  ไปตามทางอีกไม่ไกล จะมีทางแยกขวาเข้าวัดบ่อทรัพย์   ‘วัดศิริวรรณนาวาส’  และวัดภูบ่อเบิก  สามวัดนี้อยู่ติดๆกัน เป็นวัดสำคัญของเมืองเก่าสงขลายุคแหลมสน โดยเฉพาะสองวัดแรก แทบแยกไม่ออกเลยว่าคนละวัด  วัดบ่อทรัพย์นั้นที่โดดเด่นคืออุโบสถที่อยู่บนเนิน  และที่คนในพื้นที่นับถือ มากราบไหว้สักการะกันอย่างมากคือ เจ้าเขา ท้าวเวสสุวรรณ

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา อุโบสถวัดศิริวรรณาวาส

              จากนั้นเดินทางมาทางพระอุโบสถแล้วเข้าไปตามทางในดงไม้ จะเป็นเขตวัดศิริวรรณาวาส  ซึ่งวัดแห่งนี้เป็นอีกวัดที่เจ้าเมืองสงขลาต้นตระกูล ณ สงขลา  ครั้งอยู่ที่ฝั่งแหลมสนเป็นผู้สร้าง อายุวัดนี่เป็นร้อยปีแน่ๆ พระอุโบสถสวยงาม เก่าแก่  เห็นเนื้ออิฐที่ใช้ก่อสร้าง  สถาปัตยกรรมผสมตะวันตก  

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา

พระประธานวัดศิริวรรณาวาส

ชายอาคาร สร้างเป็นเสาขนาดใหญ่รับไว้เป็นทางเดินรอบอุโบสถ  ซึ่งสถาปัตยกรรมแบบนี้จะพบมากในเขตเมืองเก่าสงขลา ทั้งสามยุค  ภายในอุโบสถ มีพระพุทธรูปปูนปั้น ไม่มีประตูด้านหลัง  ในบริเวณยังมีสิ่งปลูกสร้างเก่าแก่อีกหลายอย่าง บรรยากาศร่มรื่นมาก   จากนั้นเดินไปอีก 250 เมตร   ก็จะถึง วัดภูผาเบิก

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา ภายในอุโบสถวัดศิริวรรณาวาส

       ‘วัดภูผาเบิก’ เป็นวัดสุดท้ายที่สร้างเรียงรายอยู่บริเวณเชิงเขาฝั่งแหลมสน สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2370 ในสมัยรัชกาลที่ 3แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (แต่กรมศิลปากรระบุปีที่สร้างเป็น ปี พ.ศ. 2400 เนื่องจากเป็นปีที่ได้รับพระราชทานเขตวิสุงคามสีมา) เป็นวัดที่สร้างขึ้นให้กับสมาชิกตระกูล ณ สงขลา ท่านหนึ่งที่บวชเป็นภิกษุ สร้างอยู่บนเนินชายเขา จึงมองเห็นทะเลด้านล่าง   

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา ทางเดินเชื่อมต่อไปวัดภูผาเบิกในเขตเมืองเก่าสงขลาฝั่งแหลมสน

มีสิ่งปลูกสร้างที่มีสถาปัตยกรรมสวยงาม แปลกตาอย่างเช่น โบสถ์แบบก่ออิฐถือปูน มีหลังคาสูง  หอระฆังที่สวยงามด้วยรูปลักษณ์ที่โดดเด่น กุฏิเจ้าอาวาสหลังเดิม  

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา กุฏิเจ้าอาวาสวัดภูผาเบิก

ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2473 สร้างแบบเรือนไทยผสมผสานระหว่างศิลปะไทยพื้นถิ่นทางใต้ และศิลปะแบบจีนซึ่งนิยมในช่วงรัชกาลที่ ๖   มีการฉลุลายประดับ แต่เสียดายที่ปัจจุบันเหมือนไม่ได้ใช้งาน   เริ่มชำรุดทรุดโทรมบ้างแล้ว

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา ป้ายหน้าประตูางเข้ากุฏิเจ้าอาวาส วัดภูผาเบิก

              นอกจากนี้ฝั่งทางด้านแหลมสนนี้ยังมีสุสานตระกูล ณ สงขลา มีอู่คานเรือ มีอะไรอีกหลายอย่างที่ปรากอยู่ให้เห็น

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา อุโบสถและหอระฆังวัดภูผาเบิก ในเขตเมืองเก่าสงขลาฝั่งแหลมสน

              สำหรับเมืองที่มีประวัติอันยาวนานอย่างสงขลา การเอ่ยอ้างถึงเพียงน้อยนิดนี่ยากที่จะถ้วนทั่ว   ผมก็เพียงแนะนำได้แค่บางส่วน ที่แนะนำมานี่ ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น 

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา

แผนที่ ที่ตั้งเมืองสงขลาทั้ง 3 ยุค

อยากให้ท่านผู้อ่านได้มาเห็นความยิ่งใหญ่ของเมืองเก่าในอดีตด้วยตัวเอง   รับรองว่าวันเดียวไม่มีทั่ว ถ้าจะดูให้ทั่วเผื่อเวลาไว้เลยครับ  ทั้งยังมีที่เกาะยออีก  เอาไว้คราวหลังผมจะพาเที่ยวที่เกาะยอบ้าง

หัวเขาแดงและแหลมสน...สองยุคเก่าเมืองสงขลา ป้ายบอกสถานที่ต่างๆบนหัวขาแดง

              สงขลาวันเดียวไม่มีเพียงพอจริงๆ   ต้องไปกันอีก.....