ความทรงจำงานลอยกระทงพื้นบ้านในชุมชนเล็กๆ ประเพณีสุขใจไร่มะขาม จ.เพชรบุรี

ความทรงจำงานลอยกระทงพื้นบ้านในชุมชนเล็กๆ ประเพณีสุขใจไร่มะขาม จ.เพชรบุรี

เรื่องเล่างานลอยกระทงพื้นบ้าน อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี งานประเพณีน่ารักๆ สุขใจไร่มะขาม แหล่งปลูกพืชผักผลไม้ที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของไทย  

คืนเพ็ญจันทร์แจ่มฟ้า ในวันลอยกระทง 15 พฤศจิกายน 2567 ในงานประเพณีสุขใจไร่มะขาม 2567 ดิฉันได้มีโอกาสเข้าไปที่ตำบลไร่มะขาม อ.บ้านลาด แหล่งปลูกข้าว ผัก ผลไม้ อันอุดมสมบูรณ์ยิ่งของ จ.เพชรบุรี

อ.จำลอง บัวสุวรรณ ผู้ก่อตั้งกลุ่มลูกหว้าทำกิจกรรมทางสังคมและการเรียนรู้ของเมืองเพชร ได้ชวนดิฉันไปดูชุมชนชาวบ้าน และพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ อบต. ต.ไร่มะขาม ที่บัดนี้เป็นเวลา 1 ทศวรรษแล้ว

ชาวบ้านไร่มะขามได้ร่วมกันจัดงานประเพณีลอยกระทงมาทุกปี ตั้งเวทีกลางคลองชลประทาน แสดงโขนเด็กที่ฤทธิชัย ชำนิราชกิจ หรือ ครูโจ้ผู้ก่อตั้งโรงโขนเพชรบุรี ฝึกสอนการแสดงโขนให้เด็กและเยาวชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ความทรงจำงานลอยกระทงพื้นบ้านในชุมชนเล็กๆ ประเพณีสุขใจไร่มะขาม จ.เพชรบุรี

  • โขนเด็กในวันลอยกระทง

ปัจจุบันโขนเด็กของครูโจ้ เป็นการแสดงทรงคุณค่า งดงาม น่ารัก สนุกสนาน และทุกปีในงานลอยกระทงบ้านไร่มะขามก็เหมือนมีนัดสำคัญให้ผู้คนหลายร้อยถึงร่วมพันคนมาเที่ยวงาน มาคอยชมการแสดงชั้นสูงอย่างโขน ที่หาชมไม่ได้ง่าย

ประกอบดนตรีวงพิณพาทย์ของครูชนะ ชำนิราชกิจ คนปี่ผู้ควบคุมวง พิเศษยิ่งก็คือ ได้ดูเด็กเล่นโขน สวมหัวครุฑ นาค ยักษ์ ลิง กองทัพพระราม กระโดดโลดเต้นตีลังกา ชะเง้อคอเงื้อง่า เกาขนจับตัวเห็บ ได้น่ารัก น่าเอ็นดู สุดประมาณ

ขณะที่ฝั่งข้างคลองชลก็มีซุ้มอาหาร จาก 9 หมู่บ้าน มาตั้งเตาตั้งหม้อ แจกจ่ายอาหารโบราณแสนอร่อย ให้คนเที่ยวงานตะเวนเยี่ยมชมไปตามซุ้มต่างๆ ได้ชิมลิ้มรสพื้นบ้านจากวันวาน ดังเช่น ยำส้มโอ ทอดมันมะละกอ แกงป่าไก่บ้าน ผัดไก่พริกไทอ่อน ผัดหมี่โบราณ ขนมหม้อแกง ปิ้งงบหัวปลี ขนมเบื้องโบราณ ฯลฯ ชนิดที่ผู้คนมาท่องเที่ยวเดินกินเดินชิม จุปากจุใจ อิ่มพุง อิ่มใจ  ได้ทั่วถึงกัน

ความทรงจำงานลอยกระทงพื้นบ้านในชุมชนเล็กๆ ประเพณีสุขใจไร่มะขาม จ.เพชรบุรี พอร่วม 2 ทุ่ม อบต.ไร่มะขามก็ได้จัดให้มีการทำพิธีขอขมาแม่คงคา ชาวบ้านร่วมกันลอยกระทง จุดเทียนวับแวมลอยไปตามลำน้ำ ลอดใต้สะพาน ลิ่วล่องไปร่วมร้อยเมตรก็มีคันกั้นคลอง ดักกระทงไว้ให้รวมกัน

เมื่อจบงานลอยกระทงแล้ว หนุ่มๆไร่มะขาม จะช่วยกันลงน้ำเก็บกระทงทั้งหมดขึ้นจากคลองชลอย่างเรียบร้อย ไม่เหลือเป็นขยะทำลายสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างเคลียร์เสร็จสะอาด จบครบถ้วนในคืนนั้น ตำบลเล็กๆ ชุมชนชนบทเล็กๆ แต่สามารถจัดงานประเพณีได้ครบถ้วน

น่ารัก มีพลัง สะอาด สดใส ต่อเนื่องยาวนานมาครบ 10 ปี รวมผู้คนทั้ง 9 หมู่บ้านของต.ไร่มะขามให้ร่วมมือร่วมใจถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมประเพณีทุกด้านของชีวิตมาไว้ในงานลอยกระทงได้สำเร็จอย่างน่าภูมิใจ ทั้งยังมีผู้คนจากหลายตำบล หลายอำเภอรายรอบ จากในเมืองเพชรมาเที่ยวชมดูงาน ดูการแสดง ชิมอาหาร ลอยกระทงร่วมกันใต้แสงจันทร์แจ่ม 

ความทรงจำงานลอยกระทงพื้นบ้านในชุมชนเล็กๆ ประเพณีสุขใจไร่มะขาม จ.เพชรบุรี น่าอัศจรรย์ยิ่งว่า อบต.และชาวบ้านไร่มะขาม สร้างสรรค์งานประเพณีเช่นนี้ให้สำเร็จ จุดประกายสว่างในดวงใจผู้คนทุกคนที่มาพบเห็น-คนไร่มะขามทำกันได้อย่างไร

  • งานลอยกระทงแบบดั้งเดิม

สุทธิพงษ์ พรมมาตร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไร่มะขาม เล่าถึงที่มาของงานประเพณีนี้ว่า

“อ.จำลอง บัวสุวรรณ กลุ่มลูกหว้า ให้คำแนะนำมาตั้งแต่จัดงานประเพณีลอยกระทงครั้งแรกในปีพ.ศ. 2558 เราตั้งใจจัดงานให้มีสถานที่ลอยกระทง เป็นการสืบทอดประเพณีเก่า หัวใจคืออยากให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขององค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ให้เป็นงานของชาวบ้านทุกคน

เราจัดงานต่อเนื่องทุกปีมา 10 ปีแล้ว หลักๆ อยากให้ชาวบ้านทั้งอายุมาก น้อย วัยรุ่น แม่บ้าน ทำกิจกรรมร่วมกัน จะได้มีความสามัคคีกันทางอ้อม ให้เขารู้สึกว่างานนี้เป็นงานของเขา เป็นงานของตำบล ให้เขาได้มาร่วมกันจัดสถานที่ จัดซุ้มอาหาร แม่บ้านที่มีฝีมือทำอาหาร ก็จัดซุ้มอาหารมากัน เด็กๆมาทำโคม ร่วมตกแต่งงานให้สวยงาม

ความทรงจำงานลอยกระทงพื้นบ้านในชุมชนเล็กๆ ประเพณีสุขใจไร่มะขาม จ.เพชรบุรี ตลอด 10 ปีที่จัดงาน “สุขใจไร่มะขาม” มา ได้รับการตอบรับเยอะมาก คนมาร่วมเยอะมาก ทั้งบ้านเรา บ้านใกล้เคียง เรารักษาบรรยากาศแบบไทยๆ พื้นบ้านชนบท อาหารก็เป็นอาหารหายาก เช่นยำส้มโอ ขนมไทยโบราณ ถั่วแปบ ขนมเบื้องโบราณ เน้นให้ได้เห็นขนม อาหาร ที่ไม่มีขายทั่วไป ให้คนรุ่นใหม่ได้เห็น ได้รู้จักอาหารรุ่นปู่ย่าเคยกินกันมา มีอะไรบ้าง 

“คนไร่มะขามทุกหมู่บ้าน ทุกรุ่นวัย ทุกกลุ่ม ได้มีส่วนในการจัดงานนี้ด้วยกัน พวกคนรุ่นหนุ่มจะมาจัดเตรียมสถานที่ ขุดลอกคลอง ตัดใบตาล มุงตาล เอาใบตาลทำหลังคาซุ้มอาหาร แม่บ้านไปทำอาหาร

เด็กๆ ช่วยกันทำโคมนี้เอง ทำให้อบต.กับชาวบ้านได้มีความใกล้ชิด เพื่อต่อยอดไปถึงชาวบ้านจะได้มีโอกาสมาพูดคุยใกล้ชิดกับอบต. ความต้องการของชาวบ้าน มีอะไรจะได้มาบอกเรา มาคลุกคลี พูดคุยกับเรา เพราะโอกาสที่เราจะพูดคุยกับคนทั้งตำบลมันยาก พอจัดงานนี้ เจ้าหน้าที่ พนักงานอบต.มีโอกาสพบปะคนในหมู่บ้านได้ทั้งหมดครับ”

ความทรงจำงานลอยกระทงพื้นบ้านในชุมชนเล็กๆ ประเพณีสุขใจไร่มะขาม จ.เพชรบุรี

  • ที่มาประเพณีลอยกระทงไร่มะขาม

แกนนำสำคัญอีกคนหนึ่งในการจัดงาน “สุขใจไร่มะขาม” ก็คือ คุณอิทธิพล นาคเนียม ข้าราชการนักจัดการงานทั่วไป อบต.ไร่มะขาม ที่ได้กล่าวถึงที่มาของงานประเพณีนี้ว่า 

“งานลอยกระทงสุขใจไร่มะขามจัดครั้งแรกในปีพ.ศ.2558 ครับ ชาวบ้านตั้งชื่อด้วยกัน ให้ออกมาเป็นชื่อ สุขใจไร่มะขาม ต้องใจมีความสุขดีก่อนอย่างอื่นถึงจะเดินต่อไปได้

ก่อนนี้งานลอยกระทงแต่ละหมู่บ้าน ทำกันเอง บางหมู่มีสระน้ำก็ลอยในหมู่บ้าน ถ้าไม่มีสระ ก็ไปลอยตามคันคลอง ชาวบ้านอยากลอยกระทงครับ  ทางอบต.ก็อยากอนุรักษ์ประเพณี พอจัดงาน คนในหมู่บ้านก็มารวมตัวกันลอยกระทงที่นี่ เด็กๆตื่นเต้นกันมาก ได้จุดไฟเย็น ทำโคม จุดโคม  อบต.จัดงานปีแรก ก็จุดติดเลย

ความทรงจำงานลอยกระทงพื้นบ้านในชุมชนเล็กๆ ประเพณีสุขใจไร่มะขาม จ.เพชรบุรี ปีแรกนั้นคนร่วมงานก็ชาวบ้านในหมู่บ้านล้วนๆ พอปีที่ 2-3 เปรียบแล้วก็เหมือนไฟลุกโชติช่วง คนมาร่วมงานกันเนืองแน่น จากหลากหลายพื้นที่ ตอนนี้เป็นงานประเพณีหลักของต.ไร่มะขาม ที่รวมคนได้ทุกหมู่บ้านไปแล้วครับ

งานสงกรานต์ก็ยังไม่คึกคักเท่าลอยกระทง หัวใจหลักที่คนมารวมกันคือคำว่าประเพณี เรามาขอขมาพระแม่คงคา เป็นวัฒนธรรมของไทย ชาวบ้านเชื่อครับ ว่าพระแม่คงคามีจริง สืบต่อมารุ่นต่อรุ่น เราขอขมาที่ใช้น้ำ ขอบพระคุณท่านที่ให้น้ำใช้

“งานแต่ละปีจะมี concept หลัก ที่ชาวบ้านคิดร่วมกัน ในปีแรก พ.ศ. 2558 คือ ภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรมประเพณี วิถีชุมชน
พอปีที่ ๒ พ.ศ. 2559 ในหลวง ร.9 สวรรคต เราจัดงานสุขใจไร่มะขาม มี concept หลัก เป็นสร้อยคำคือ “พระสถิตย์ในดวงใจ”

เราเอาเหตุการณ์สำคัญของแต่ละปีมาเป็นชื่องาน มาเป็น concept หลักของงาน อย่างช่วงโควิด ปี 2563 เราก็ยังจัดงานลอยกระทง ใช้ชื่องานว่า สุขใจไร่มะขาม “กายห่างใจไม่ห่าง”  

ความทรงจำงานลอยกระทงพื้นบ้านในชุมชนเล็กๆ ประเพณีสุขใจไร่มะขาม จ.เพชรบุรี

  • อาหารเป็นยาในงานลอยกระทง

แล้วเมื่อปีพ.ศ. 2565  โรงสีชุมชนตำบลไร่มะขาม ต.ไร่มะขาม อ.บ้านลาด ของเราได้รางวัลที่ 1 ชนะเลิศการประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับประเทศ จากกรมส่งเสริมการเกษตร ชาวบ้านดีใจกันมาก งานลอยกระทงปีนั้น เลยใช้ชื่อ สุขใจไร่มะขาม “ข้าวติดดาว”
ปีนี้ concept หลักของงานก็คือ “อาหารเป็นยา”

ฟังอิทธิพลแล้ว ดิฉันยิ่งอยากชิมอาหารโบราณ ตั้งใจเดินดูซุ้มอาหารเป็นหลัก และเดินเที่ยวงานทั้งสองฟากคลอง ดูอบอุ่นมาก ฟากหนึ่งของคลองเป็นกิจกรรมทางศิลปะ กลุ่มลูกหว้าที่มีน้องหนูแดง(สุนิสา ประทุมเทือง) น้องป๊อป (สุดาลักษณ์ บัวคลี่) น้าวรรณ กับน้องๆกลุ่มลูกหว้าอีกหลายคน ตั้งจอหุ่นเงาหนังตะลุงให้เด็กๆได้มาเชิดตัวหนัง สอนทำหน้าข้าวพองสลับสี ตัดกระดาษทำพวงมโหตรสีสันงดงาม เด็กๆมาร่วมกิจกรรมสนุกสนาน

อีกฟากของคันคลองคือซุ้มอาหารพื้นบ้านโบราณแสนอร่อย ที่ดิฉันติดใจมากเป็นของบ้านหมู่ 1 ที่ศรีสอาด ศิลปศร อายุ 60 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คนทำอาหารโบราณเก่าแก่ “ยำส้มโอ”  ได้รสชาติหวานอมเปรี้ยวหอมเครื่องคั่วละมุนลิ้น ใส่มาในกระทงใบตองเล็ก ชิมแล้ว ติดปากติดใจ อร่อยยิ่ง ได้รสชาติหวนให้ไปรำลึกถึงวิถีเก่าแก่ของคนชนบทเมืองเพชร ที่ศรีสะอาดเล่าว่า

“ที่ฉันเห็นมา คนไร่มะขามทำยำส้มโอกินกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ในเมืองไม่ค่อยเคยเห็นใครทำกิน แต่ที่บ้านเราเป็นของอร่อย เครื่องปรุงมีส้มโอเปรี้ยวๆ ใช้ได้ทั้งขาวทั้งแดง หัวปลีสด มะพร้าวคั่ว ถั่วคั่ว พริกคั่ว กะเทียมคั่ว หอมแดงคั่ว กุ้งแห้ง น้ำตาลโตนด น้ำปลา ผักชี เอาคลุกรวมกัน รสชาติจะเข้ากันดี

ยำส้มโอเป็นอาหารพื้นบ้านเก่าแก่มาก เมื่อก่อนฉันเห็นผู้ใหญ่มักจะทำกินกันมากในงานเทศน์มหาชาติ ปกติไม่ค่อยทำกินกันหรอก เพราะต้องเตรียมหลายอย่าง ต้องคั่วทุกอย่าง งานลอยกระทงฉันจึงตั้งใจทำให้คนรุ่นหลังได้รู้จัก ได้ชิมของอร่อยด้วยกัน”

เหลียวมองรอบๆ ดิฉันได้พบความอบอุ่นในงานประเพณีชนบทพื้นบ้าน ของคนที่เห็นคุณค่าวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตชาวบ้านที่ยังมั่นคงแข็งแรง ท่ามกลางหมู่เพื่อนๆน้องๆ ที่ใช้เวลาค่ำคืนใต้แสงเดือนงามด้วยกัน

เหลียวมองรอบๆ ดิฉันได้พบความอบอุ่นในงานประเพณีชนบทพื้นบ้าน  ของคนที่เห็นคุณค่าวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตชาวบ้านที่ยังมั่นคงแข็งแรง ท่ามกลางหมู่เพื่อนๆน้องๆ ที่ใช้เวลาค่ำคืนใต้แสงเดือนงามด้วยกัน

อาหารเป็นยา ในงานประเพณีสุขใจไร่มะขาม 2567 เป็นความทรงจำถึงงานลอยกระทงที่ดียิ่งอีกปีหนึ่งของดิฉัน