‘เที่ยวอีสาน’ สุดถนนเลียบโขงที่บ้านท่าล้ง
‘เที่ยวอีสาน’ สุดถนนเลียบโขงที่บ้านท่าล้ง หากมองจากที่สูงจะเห็นเส้นทางเลียบแม่น้ำโขง 3 ช่วง วันนี้จะพาท่านผู้อ่าน ขับรถเที่ยวในเส้นทางหนองผือน้อย-บ้านกุ่ม-บ้านตามุย-บ้านท่าล้ง ดูวิถีชีวิตของผู้คนและธรรมชาติ
ก่อนอื่น ต้องขออำนวยอวยพร สวัสดีปีใหม่กับท่านผู้อ่านที่ยังคงเหนียวแน่นกันมาจะเข้าปีที่ 16 กับพื้นที่ตรงนี้ ต้องขอให้ท่านผู้อ่านมีความสุข ความเจริญ รุ่งเรือง และแข็งแรงตลอดไปและทุกๆ ปี ติดตาม กรุงเทพธุรกิจ ต่อไป แล้วเราก็จะได้พบกันตลอดไปเช่นกัน
โดยส่วนตัว ผมชมชอบทิวทัศน์จากบนหน้าผาสูง มองลงมาเห็น แม่น้ำโขง ฝั่งตรงข้ามคือหน้าผาสูง หรือภูเขาที่สลับซับซ้อนทางฝั่งลาว ในย่านผาแต้มมากๆ เป็นทิวทัศน์ที่สุดโปรดของผม มองกี่ครั้ง มองนานเท่าใดก็ไม่เบื่อ
ชอบจริงๆ ยิ่งเมื่อได้ไปรับแสงแรกของปีบนผาแต้ม ยิ่งประทับใจ ทุกคนไปยืนบนผาแต้ม หรือจากผาชะนะได เราจะเห็นว่ามีถนนแล่นเลียบแม่น้ำโขงไปยังหมู่บ้านสุดทาง
เท่าที่ผมรู้ ในเขตอำเภอโขงเจียม ในจังหวัดอุบลราชธานี จะมีลักษณะแบบนี้อยู่ 3 ช่วง คือ เส้นทางเลียบแม่น้ำโขง จากสะพานข้ามแม่น้ำมูล ไปจนถึงบ้านเวินบึก ถนนก็จะสุดแค่นี้ เพราะต่อจากนี้ แม่น้ำโขงจะเข้าเขตลาวแล้ว นั่นเส้นทางแรก
เส้นทางที่สองคือ ในตำบลห้วยไผ่ เส้นทางจากบ้านหนองผือน้อย ที่เป็นสามแยกก่อนถึงด่านเก็บค่าบริการเข้าอุทยานฯ ผาแต้ม นั่นเอง ไปบ้านกุ่ม-บ้านตามุย-บ้านท่าล้ง ซึ่งเมื่อราว 5-6 ปีก่อน ที่มีข่าวว่า แผ่นหินทรายบนผาท่าล้ง หักตกถล่มลงมานั่นเอง ถนนเลียบแม่น้ำโขงช่วงนี้ก็จะสิ้นสุดที่บ้านท่าล้ง ไม่มีถนนต่อไปได้อีก และเส้นทางสุดท้ายในเขตอำเภอโขงเจียม ขยับขึ้นไปทางเหนือ คือเส้นทางจากบ้านทุ่งนาเมือง-บ้านคันท่าเกวียน และบ้านปากลา ถนนเลียบโขงก็จะสุดตรงบ้านปากลาเช่นกัน
ช่วงลงเนินไปบ้านกุ่ม จะเห็นทิวทัซน์แม่น้ำโขงเบื้องหน้า
แต่มันมีความมหัศจรรย์อย่างนี้ครับ แม้ถนนจะสิ้นสุดแค่บ้านปากลา แต่มันมี หมู่บ้านริมแม่น้ำโขง อีกที่หนึ่งชื่อ บ้านดงนา ที่ย้อนหลังไปราว 20 ปี หมู่บ้านนี้ไม่มีเส้นทางคมนาคมทางบก ชาวบ้านจะออกมาติดต่อกับคนภายนอกคือต้องนั่งเรืออย่างเดียว
จะมีเรือโดยสารจาก หมู่บ้านดงนา มาขึ้นฝั่งที่บ้านสำโรง จากนั้นจึงนั่งรถสองแถวไปอำเภอโพธิ์ไทรหรือจะไปไหนก็ไป เพิ่งจะมามีถนนเป็นทางลูกรังตัดผ่านป่า จากบ้านหุ่งหลวง(ใกล้วัดป่าภูปัง)ไปถึงวัดหลวงปู่พรหมาที่อยู่บนหน้าผาภูดงนา เมื่อสัก 20 ปีนี่เอง
นั่นแหละชาวบ้านภูดงนาจึงค่อยๆ ลดความนิยมในการใช้เรือมาเป็นใช้รถยนต์ จนเดี๋ยวนี้ไม่มีเรือโดยสารแล้ว และห่างจากบ้านภูดงนามาราว 3-4 กม.จะมีหมู่บ้านในป่า หมู่บ้านนี้ไม่ติดแม่น้ำโขงด้วย ชื่อบ้านโหง่นขาม แต่ก่อนไม่มีถนนออกมาจากป่า แต่มีเส้นทางเดินเท้าและสัตว์ต่าง ไปมาหาสู่ระหว่างบ้านดงนากับบ้านโหง่นขาม คนโหง่นขามจะออกมาติดต่อสังคมภายนอกก็ต้องมาลงเรือที่บ้านดงนานั่นละใกล้สุด
ทิวทัศน์หลังรีสอร์ทแห่งหนึ่ง
สมัยก่อนตั้งแต่อุทยานฯผาแต้ม กำลังจัดตั้ง ผมเดินสำรวจพื้นที่จนปรุไปหมด จึงรู้ว่ามีหมู่บ้านที่แทบจะตัดขาดจากโลกภายนอกแบบนี้อยู่ด้วย เอาไว้ผมจะเขียนถึงบ้านดงนาและผานางคอยอีกสักตอน
สภาพถนนเลียบโขงลงไปบ้านท่าล้ง
ย้อนมาที่เรื่องของเราครั้งนี้ผมจะพาท่านผู้อ่าน ขับรถเที่ยวเลาะแม่น้ำโขงเล่น ในเส้นทาง หนองผือน้อย-บ้านกุ่ม-บ้านตามุย-บ้านท่าล้ง เผื่อว่าใครมาเที่ยวผาแต้ม มากางเต็นท์ที่อุทยานฯผาแต้ม แล้วเบื่อๆ ไม่รู้จะทำอะไรก็ขับรถตามผมลงมาเลยครับ
อย่างที่ผมบอกว่า เวลาที่เรายืนบนผาแต้ม เราก็เห็นรถยนต์แล่นไปบนถนนสายเล็กๆ ที่เลียบแม่น้ำโขง ดังนั้น เมื่อเราลงมาแล่นไปบนถนนเส้นนั้น เราก็จะถูกขนาบไปด้วยหน้าผาสูงชันด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งจะเป็นแม่น้ำโขง พอจะหลุดเขตบ้านหนองผือน้อย ด้านล่างจะเป็นพื้นที่ต่ำ ตรงนี้เราจะเห็นวิวแม่น้ำโขง ถ้าช่วงวันฟ้าใสๆ ก็จะดูสวยเชียวแหละ
หน้าผาผาแต้ม-ผาหมอน เมื่อมองย้อนขึ้นไป
หมู่บ้านแรก ที่ลงเนินมาแล้วเจอคือบ้านกุ่ม หมู่บ้านนี้มีครัวเรือนค่อนข้างหนาแน่น อยู่ติดแม่น้ำโขงเลย ชาวบ้านแต่เดิมทำประมง จับปลาในแม่น้ำโขงนะแหละ เพราะพื้นที่ทำการเกษตรมีน้อย ที่นาก็แปลงไม่ใหญ่ แต่เขาก็ทำนาปลูกข้าวกันได้มีการทำไร่มันสำปะหลัง ข้าวโพด แต่อย่างที่บอกว่าพื้นที่ทำเกษตร เป็นแปลงเล็กๆ ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็เป็นแบบนี้ทุกหมู่บ้านในย่านนี้ ผมผลิตจึงไม่ได้มากมายอะไร
ผาตามุย และเจดีย์หลวงปู่สี แห่งวัดป่าภูตามุย
แต่ตรงบ้านกุ่มนี้จะสังเกตว่ามีที่พัก รีสอร์ตมากมาย เพราะทิวทัศน์จะสวย ในหน้าน้ำแม่น้ำโขงก็กว้างราวทะเล พอหน้าแล้ง แก่งหิน หาดทรายริมโขงก็โผล่ และเท่าที่ผมขับรถดู ก็มีคนนิยมมาพักกันหนาตาพอสมควร
เจดีย์หลวงปู่สี ในวัดป่าภูตามุย
นอกนั้นก็มีชาวบ้านดัดแปลงสวน ปรับปรุงพื้นที่ทำเป็นลานกางเต็นท์ชมวิวริมโขงหลายแห่ง ก็คงมีคนมากางเต็นท์กันกระมัง ไม่เช่นนั้นคงไม่นิยมทำกัน ช่วงนี้จะเห็นหน้าผาของผาแต้มยาวเหยียด ด้านเหนือของผาแต้มคือผาหมอนนั่นเอง
หาดวิจิตรา ในเขตบ้านตามุย
บรรยากาศน่ารักในที่นาเล็กๆ.ในฤดูเก็บเกี่ยว(ราวเดือน พ.ย
จากบ้านกุ่ม ก็จะเข้าเขตบ้านตามุย ตรงนี้มีหาดวิจิตรา เป็นชายหาดทรายแม่น้ำโขงกว้าง ยิ่งช่วงมีนาคม-เมษายน ชายหาดยิ่งกว้าง เป็นชายหาดริมโขงที่ขึ้นชื่อกันเลยละ บ้านตามุยนี้มีผาตามุยโดดเด่นเป็นสง่า หน้าผาพวกนี้มันถูกแบ่งแยกโดยร่องเขาบนหน้าผานั่นแหละ
น้ำจากบนผา มันกัดเซาะหินทรายจนเป็นร่องห้วย นานๆ เข้า นับพัน นับหมื่น แสนปี ยิ่งเป็นร่องขนาดใหญ่ แต่ละร่องเขาจึงเป็นตัวแบ่งหน้าผา แต่ละแห่งไปโดยปริยาย ถ้าไม่มีร่องเขาเหล่านี้ หน้าผามันก็จะยาวเหยียดจนไม่รู้ว่าตรงไหนเป็นตรงไหน ดีที่ธรรมชาติเขาแบ่งให้
ชายหาดบ้านท่าล้ง
ด้านล่างของผาตามุยคือวัดภูตามุย โดยหลวงปู่สี สิริญาโณ ศิษย์รุ่นแรกของหลวงพ่อชา ท่านมาบุกเบิก เป็นเจ้าอาวาส ภายในวัดนี้ ร่มรื่น เพราะมีต้นไม้มากมาย
และถนนจะไปสุดทางที่บ้านท่าล้ง มีผาท่าล้งโดดเด่นคู่หมู่บ้าน ตรงผาท่าล้งนี้จะมีร่องห้วยขนาดไหล ที่รับน้ำจากบนลานหิน แล้วไหลลงมาเป็นแก่งน้ำเล็กๆ ชาวบ้านเรียกน้ำตกตาโสก บรรยากาศร่มรื่น ใกล้กัน จะเป็นที่พักสงฆ์ที่ท่านมาพักใต้เพิงผาหิน เรียกว่าถ้ำท่าล้ง
เรือหาปลาของชาวท่าล้ง คอยจับสัตว์ในน้ำขึ้นมา
ที่ผาท่าล้งนี่ละครับ ที่มีข่าวเมื่อ 6-7 ปีก่อนมีหินหน้าผาก้อนใหญ่ถล่มพังลงมา จนเป็นข่าวโด่งดัง แต่ผมก็ไม่รู้นะว่า ตรงไหนแน่ที่พังลงมา
จากตรงร่องเขาที่เป็นร่องห้วยนี้ มีทางเดินขึ้นไปบนหน้าผาได้ เลาะหน้าผาไปทางขวามืออีกไม่ไกลก็จะเป็นผาโสกที่โด่งดัง เดินต่อไปตามหน้าผาอีก ก็จะเจอผาเมย ต่อจากผาเมยก็ผาเจ้ก และถึงน้ำตกสร้อยสวรรค์นั่นเอง นี่มันเชื่อมโยงกันแบบนี้
บ้านท่าล้งในช่วงฤดูฝน
บ้านท่าล้ง นี้ก็เหมือนกับหมู่บ้านย่านนี้อื่นๆ ที่ทำการประมง จับปลาใน แม่น้ำโขง นั่นแหละ เราจึงเห็นเรือประมงลำเล็กๆ จอดอยู่ริมหาดทรายตรงท่าเรือของหมู่บ้าน
ผาท่าล้ง
น้ำตกตาโสก ตรงร่องห้วยท่าล้ง
ถ้ำท่าล้ง ใต้เพิงผาท่าล้ง ปัจจุบันเป็นสำนักสงฆ์
หมู่บ้านฝั่งลาวที่ตรงข้ามบ้านท่าล้ง
บรรยากาศบนลานหินทรายใกล้ถ้ำท่าล้ง ช่วงกันยายน
ท่าเรือนี้ ก็มีพี่น้องทางลาวข้ามมาเอาสินค้ามาแลกเปลี่ยน ซื้อขายกัน แต่ทางฝั่งลาวนั้นไม่ใช่ชุมชนใหญ่อะไร จึงเป็นการไปมาหาสู่กันเล็กๆ โดยใช้ท่าเรือ บ้านท่าล้ง นี่เองเป็นประตูไปมาหาสู่กัน
วิถีชีวิตของผู้คนและธรรมชาติ ในสถานที่ที่ไม่ใช่ย่านท่องเที่ยวโดยตรง แต่ลงมาดูเพราะอยากเห็นว่าเขาอยู่กันอย่างไร ทำไมหากินอะไร กับผู้คนที่อยู่ใต้หน้าผาสูง และอยู่ริมน้ำโขง
หาบอะไรมาจนไม้คานแอ่น
เม็ดกะบกที่ชาวบ้านไปหามาแล้วเอามาผ่าก่อนจะคั่ว รสชาติเหมือนกินถั่ว
ทุ่งนาเล็กๆของหมู่บ้านเลียบโขง เมื่อมองจากดบนผาแต้ม
แอ่งน้ำผาโสก ขึ้นจากบ้าท่าล้งแล้วเดินอีกไม่ไกล
สินในแม่น้ำโขง จากชาวประมงเรือเล็ก สู่ตลาดโขงเจียม
ได้ลงมาเห็นจึงรู้ จึงเข้าใจ การท่องเที่ยวไม่ใช่แค่ไปเสาะหาที่เซลฟี่มาอวดกันในสื่อโซเชียลเท่านั้น หากแต่ไปให้รู้ ให้เข้าใจกันและกัน เห็นอกเห็นใจ เผื่อแผ่เมื่อมีความเดือดร้อน
นี่สิ...จึงจะเป็นการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง....
(ขอแถมท้ายสักนิด ตอนนี้ผมไปทำคลิปท่องเที่ยวลงในช่องยูทูป ท่านผู้อ่านสามารถค้นหาในช่องค้นหาของยูทูป ด้วยคำค้น 'เมืองไทยที่หนึ่ง' ก็จะได้พบกันอีกหนึ่งช่องทาง มีแหล่งท่องเที่ยวแปลกใหม่มากมายในนั้น อย่าลืมไปให้กำลังใจกันครับ)