"สนธิรัตน์" แนะทางออก "ราคาน้ำมันดีเซล" รัฐต้องเสียสละ อย่ามุ่งแต่เก็บภาษีตามเป้า
"สนธิรัตน์" แนะรัฐต้องเสียสละ ไม่ดึงเงินออกจากกระเป๋าประชาชน หลังพรุ่งนี้ "ราคาน้ำมันดีเซล" ปรับขึ้นเป็น 32 บาท/ลิตร ซัดอย่ามุ่งแต่เก็บภาษีให้ได้ตามเป้า ฝากไว้ให้คิด "รัฐบาลอยู่ได้ แต่ประชาชนอยู่ไม่ได้"
วันนี้(30 เมษายน 2565) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ข้อความลงในเพจเฟซบุ๊กระบุถึงกรณี "ราคาน้ำมันดีเซล" ว่า ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ รัฐไม่ควรทำอะไรที่ดึงเงินออกจากกระเป๋าประชาชนครับ
อย่างที่ทุกท่านทราบว่า พรุ่งนี้ 1 พฤษภาคม 2565 "ราคาน้ำมันดีเซล" หน้าปั๊มจะขึ้นเป็น 32 บาทต่อลิตร สิ่งที่ตามมาแน่ๆ คือ เราต้องควักเงินออกจากกระเป๋าสตางค์เพิ่มขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น ราคาข้าวของก็จะสูงขึ้น เพราะต้นทุนการผลิต การขนส่ง ที่ปรับตัวตาม "ราคาน้ำมัน"
ในเวลาที่ประชาชนลำบากอย่างนี้ รัฐต้องเสียสละ อย่าไปมุ่งอยู่กับเป้าของการเก็บภาษีให้ได้ตามเป้า การที่น้ำมันดีเซลราคาขึ้นก็เพราะต้นทุนน้ำมันจากราคาตลาดโลกที่คุมไม่ได้ บวกกับโครงสร้างภาษีและอื่น ๆ ที่เป็นสูตรเฉพาะของเรา ผมขอเสนอว่าเรื่องภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล รัฐควรต่ออายุการลดออกไปอีก รัฐต้องยอม ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ต้องมาช่วยอุ้มประชาชน
และโครงสร้างต้นทุนราคาน้ำมันคืออีกหนึ่งคำตอบ คือทางออกของเรื่องนี้ครับ
วันนี้กองทุนน้ำมันติดลบครับ บัญชีน้ำมันติดลบประมาณ 24,000 กว่าล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG ติดลบประมาณ 31,000 กว่าล้านบาท
การช่วยเหลือจากกองทุนน้ำมัน ด้วยการไปหาเงินกู้มาใส่ในกองทุน จึงเหมือนเป็นการพายเรือในอ่าง เพราะการไม่ลดการเก็บภาษี แต่สุดท้ายก็ไปกู้เงินมา เพื่อมาพยุงราคา จริง ๆ แล้วก็คือ เงินไม่มีพอทั้งคู่ แต่ไม่ไปดูไปลดที่โครงสร้างภาษีน้ำมัน
เราสามารถกลับไปดูการแก้ไขที่เคยพูดว่าในภาวะวิกฤติ เราสามารถกลับไปดูเรื่องต้นทุนน้ำมันและบริการจัดการเฉพาะกิจ
ผมเคยพูดเรื่องการอิงราคาหน้าโรงกลั่น ว่าให้เปลี่ยนจากการคิดราคาอ้างอิงแบบเก่าจากการอ้างอิงราคาโรงกลั่นจากสิงคโปร์ มาเป็น การคิดอิงต้นทุนจริง ซึ่งทำได้ เอาจริง ๆ วันนี้มีข่าวเรื่องค่าการกลั่นของโรงกลั่นในประเทศได้ราคาดี ถ้าลดลงมาหน่อยในช่วงที่เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ก็น่าจะได้ครับ
การคุยกับภาคเอกชน บริษัทน้ำมัน โรงกลั่น ว่าลดต้นทุนได้ทางไหนอย่างไร ค่าการตลาดลดได้ไหมชั่วคราว ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง
การบริหารงานในภาวะวิกฤติ กับ ภาวะปกติทั่วไป ต่างกัน รัฐบาลต้องโฟกัสที่ความเดือดร้อนของประชาชนครับ รัฐบาลจะมาบอกว่าเรื่อง "ราคาน้ำมัน" นี่จะให้ประชาชนมาช่วยแบกคนละครึ่งแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ไม่เช่นนั้นรัฐบาลอยู่ได้ ประชาชนอยู่ไม่ได้ครับ
ที่มา FB : สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์