เช็ค 3 ช่องทางตรวจสอบสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.-ส.ก. 4.4 ล้านเสียง 22 พ.ค.65
เปิด 3 ช่องทางตรวจสอบสิทธิเลือกตั้ง "ผู้ว่าฯกทม.-ส.ก." 4.4 ล้านเสียง เข้าคูหาวันอาทิตย์ 22 พ.ค.65 มีที่ไหนบ้าง เช็คที่นี่!
เหลือเวลาไม่ถึง 1 เดือนจะถึงวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.) ในวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค.2565 โดยมีจำนวนตัวเลขผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อยู่ที่ 31 ราย และผู้สมัคร ส.ก.มีทั้งหมด 382 ราย
ขณะนี้ผู้สมัครหลายคนกำลังเร่งเดินหน้าขอคะแนนเลือกตั้งจากคนกรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อายุตั้งแต่ 18-100 ปีขึ้นไปมีจำนวน 4,481,068 ราย โดยกลุ่มอายุ 18-27 ปี (First Time Voter) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้ลงคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งแรกในรอบ 9 ปี 2 เดือน 19 วัน มีจำนวนมากถึง 697,348 ราย แต่กลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีจำนวนมากที่สุด กลับอยู่ที่ช่วงอายุ 28-40 ปี มีจำนวนอยู่ที่ 1,012,386 ราย
อ่านประกอบ : เช็คอายุ! ผู้มีสิทธิ "เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม." กลุ่มวัยไหนมาก วัยไหนน้อย
ขณะเดียวกันจากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 4.4 ล้านราย ขณะนี้สามารถตรวจสอบสิทธิเลือกตั้ง ได้ 3 ช่องทาง ประกอบด้วย
1.เข้าไปที่ https://stat.bora.dopa.go.th/Election/enqelectloc/#/ แล้วกรอกเลขประชาชน 13 หลัก ระบบจะแสดงข้อมูล วันที่เลือกตั้ง, ชื่อ – นามสกุล, สิทธิการเลือกตั้ง, เขตเลือกตั้ง, หน่วยเลือกตั้ง, สถานที่เลือกตั้ง, ลำดับในบัญชีรายชื่อ
2.แอปพลิเคชั่น Smart Vote ซึ่งมีข้อมูลผู้สมัครรับเลือกตั้ง ข้อมูลที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง รวมทั้งข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนผู้ที่ยังไม่มีแอปพลิเคชั่น Smart Vote สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นได้ที่ App Store (https://apps.apple.com/th/app/smart-vote/id1447199802?l=th) และ Google Play (https://play.google.com/store/apps/details?id=com.smartvote&hl=th&gl=US)
3.ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ได้ตามช่องทางปกติ ซึ่งประกอบด้วย ศาลากลางจังหวัด,ที่ว่าการอำเภอ, ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับ ที่เลือกตั้ง, จากเอกสารแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่แจ้งไปยังเจ้าบ้าน
ที่สำคัญการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก.2565 ขอให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะจัดส่งไปให้เจ้าบ้าน หากมีกรณีการย้ายบ้านในส่วนของการใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.จะไม่มีปัญหา เพราะอยู่เขตใดใน 50 เขตครบ 1 ปี สามารถใช้สิทธิได้ที่เขตตามที่มีชื่อในทะเบียนบ้านนั้น
แต่หากย้ายเข้าทะเบียนบ้านจากเขตหนึ่งไปอีกเขตหนึ่งไม่ถึง 1 ปี จะไม่มีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ก.ที่เขตใหม่นั้น แต่ต้องไปแจ้งเพิ่มชื่อที่เขตเดิมที่ย้ายมา เพื่อจะมีชื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ก.ที่หน่วยเลือกตั้งตามทะเบียนบ้านเดิม
ขณะที่การดำเนินการขั้นตอนการตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไปรษณีย์จะจัดส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้านภายในวันที่ 6 พ.ค.2565 หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนใดต้องการเพิ่มชื่อและถอนชื่อ ต้องดำเนินการภายในวันที่ 11 พ.ค.2565
สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ให้ถือเขตของกรุงเทพฯ เป็น 1 เขตเลือกตั้ง ส่วนการเลือกตั้ง ส.ก.ให้ถือเขตของ ส.ก. 50 พื้นที่เป็น 50 เขตเลือกตั้ง ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านเขตเลือกตั้ง ครบ 1 ปี ทำให้ผลการเลือกตั้ง "ผู้ว่าฯกทม.-ส.ก." วันที่ 22 พ.ค.2565 อาจทำให้การเลือกตั้ง 2 หีบ มีจำนวนบัตรลงคะแนนไม่เท่ากันได้
ขณะเดียวกันในกรณีไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งวันที่ 22 พ.ค.2565 ต้องแจ้งเหตุที่อาจไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ก่อนและหลังวันเลือกตั้ง 7 วัน แบ่งเป็น "ช่วงแรก" ก่อนวันเลือกตั้งระหว่างวันที่ 15-21 พ.ค.2565 และ "ช่วงสอง" หลังวันเลือกตั้งระหว่างวันที่ 23-29 พ.ค.2565