ครม.ไฟเขียว แผน "ประมงทะเล" ปี63–65 วงเงิน 2,970 ล้านบาท

ครม.ไฟเขียว แผน "ประมงทะเล" ปี63–65 วงเงิน 2,970 ล้านบาท

ครม.เห็นชอบแผนบริหารจัดการ "ประมงทะเล" ปี 2563 – 2565 วงเงิน 2,970 ล้านบาท ขับเคลื่อนประมงไทยต่อเนื่องทุกมิติ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ว่า ครม. เห็นชอบแผนการบริหารจัดการ "ประมงทะเล" ของไทย พ.ศ.2563 – 2565 วงเงิน 2,970 ล้านบาท

โดยใช้งบประมาณของแต่ละหน่วยงานในการดำเนินการ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ซึ่งเป็น แผนการดำเนินงานต่อเนื่องจากแผนการบริหารจัดการ "ประมงทะเล" ของไทย พ.ศ. 2558 - 2562 โดยมีเป้าประสงค์ 5 ด้าน ดังนี้

1.ทรัพยากรประมงฟื้นคืนสู่ระดับที่เหมาะสมและขยายการทำประมงอย่างยั่งยืน โดยมีมาตรการ อาทิ

  • ควบคุมจำนวนเรือประมงและใบอนุญาตอย่างเข้มงวด และจัดสรรจำนวนวันทำการประมงของเรือให้เหมาะสม
  • กำหนดขนาดตาอวนที่เหมาะสมเพื่อลดการจับลูกสัตว์น้ำ
  • สร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลอย่างต่อเนื่อง
  • ดำเนินโครงการธนาคารสัตว์น้ำ


2.การประมงที่ปลอดจากการทำการประมง IUU (การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated (Fishing)) โดยมีมาตรการ อาทิ

  • ทบทวนความก้าวหน้าแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำการประมง IUU (Thailand NPOA-IUU)
  • เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการติดตาม/การตรวจสอบย้อนกลับ
  • ร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์การบริหารจัดการประมงระดับภูมิภาค เป็นต้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

3.แหล่งอาศัยของสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมมีความสมบูรณ์ โดยมีมาตรการ อาทิ

  • ป่าชายเลน แหล่งหญ้าทะเล และแนวปะการังได้รับการฟื้นฟู
  • บริหารจัดการทรัพยากรประมงเชิงระบบนิเวศน์สำหรับชุมชนชายฝั่งและจัดตั้งพื้นที่อนุรักษ์ 
  • นำขยะทะเลคืนฝั่งและจัดตั้งธนาคารขยะทะเล
  • ลดการใช้ถุงพลาสติกในเรือประมงพาณิชย์และประเมินปริมาณขยะที่พื้นท้องน้ำอ่าวไทย


4.การปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมงพื้นบ้านและชุมชนประมงชายฝั่ง โดยมีมาตรการ อาทิ

  • สร้างความเข้มแข็งให้กับคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด
  • จัดทำระบบบันทึกจำนวนเรือประมงพื้นบ้าน
  • ให้สิทธิการทำประมงตามความเหมาะสมและเป็นธรรม
  • ปรับปรุงกระบวนการหลังการจับสัตว์น้ำอย่างต่อเนื่อง เช่น การเพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำ เพิ่มช่องทางการตลาด การลดการเกิดของเสีย เป็นต้น


5.ศักยภาพในการบริหารจัดการประมง อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีมาตรการ อาทิ

  • พัฒนาระบบการจัดการข้อมูลประมงที่เชื่อมโยงแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อใช้ในการประเมินกลุ่มประชากรสัตว์น้ำ
  • ฝึกอบรมและสร้างเสริมประสบการณ์ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารจัดการการประมง

นางสาวรัชดากล่าวด้วยว่า จากผลการดำเนินงานตามแผนการบริหารจัดการ "ประมงทะเล" ของไทย พ.ศ. 2558 – 2562 ที่ผ่านมา ทำให้สถานการณ์ของการประมงทะเลของไทยมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นหลายประเด็น เช่น การบังคับใช้กฎหมายสำหรับการทำประมง IUU มีความเข้มแข็งขึ้น มาตรการในการควบคุมเรือประมงที่ผิดกฎหมายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ความหลากหลายทางชีวภาพถูกฟื้นฟูให้มีความสมบูรณ์ขึ้น เป็นต้น