ทร. ยิงสลุตหลวง 21 นัด เฉลิมพระเกียรติ "ในหลวง" เนื่องในพระราชพิธีฉัตรมงคล
กองทัพเรือ ยิงสลุตหลวง ด้วยปืนใหญ่จำนวน 21 นัด เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่อง ในพระราชพิธีฉัตรมงคล
4 พฤษภาคม 2565 กองทัพเรือ โดยกองรักษาความปลอดภัย ฐานทัพเรือกรุงเทพ ทำการยิงสลุตหลวง ด้วยปืนใหญ่ขนาด 76/40 มม. จำนวน 21 นัด เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธี ฉัตรมงคล ณ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ พระราชวังเดิม กองทัพเรือ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ
วันฉัตรมงคล คือ วันที่รำลึกถึง "พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร" หรือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี และราชอาณาจักรไทย ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดย "วันฉัตรมงคล" จะถูกกำหนดวันขึ้นตามวันบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีนี้ขึ้นในวันที่ 4 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ต่อมามีกำหนดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการ จัดขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งในปีต่อๆ ไป ให้ถือว่าวันดังกล่าวนี้ เป็น "วันฉัตรมงคล" และถือเป็นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
ในการนี้ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ 21 นัด
การยิงสลุต ถือเป็นธรรมเนียมที่ทุกประเทศทั่วโลก ได้ยึดถือสืบทอดกันมาแต่ครั้งโบราณเพื่อเป็นการแสดงความเคารพให้แก่ชาติ หรือธง หรือบุคคล โดยยิงปืนใหญ่ด้วยดินดำ หรือดินไม่มีควันมีจำนวนนัดเป็นเกณฑ์ตามควรแก่เกียรติ หรือสิ่งที่ควรรับความเคารพ โดยคำว่า “สลุต” นั้นมาจากรากศัพท์ของคำว่า “Salutio” ในภาษาลาติน
สำหรับในประเทศไทย การยิงสลุตครั้งแรกเกิดขึ้นที่ ป้อมวิไชยเยนทร์ หรือ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ซึ่งตั้งอยู่ภายใน กองบัญชาการกองทัพเรือพระราชวังเดิม ในปัจจุบัน ซึ่งในขณะนั้นตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากบันทึกของจดหมายเหตุฝรั่งเศสกล่าวถึงเรือรบฝรั่งเศสชื่อ เลอโวตูร์ ที่ได้เดินทางเข้ามาถึงป้อมวิไชยเยนทร์ มองซิเออร์คอนูแอล กัปตันเรือได้มีใบบอกเข้าไปถามทางราชสำนักอยุธยาว่า จะขอยิงสลุตให้เป็นเกียรติแก่ชาติสยาม ทางราชสำนักจะขัดข้องไหม สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงมีรับสั่งให้ออกพระศักดิ์สงคราม (มองซิเออร์คอม เดอร์ ฟอร์แบงก์ นายทหารชาวฝรั่งเศส) ผู้รักษาป้อมในขณะนั้น อนุญาตให้ฝรั่งเศสยิงสลุตได้ ต่อมาเมื่อสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์แล้ว พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่คือ สมเด็จพระเพทราชา ทรงไม่โปรดปรานฝรั่งเศส จึงทำให้ธรรมเนียมการยิงสลุตได้ถูกยกเลิกไป
ธรรมเนียมการยิงสลุต ได้เริ่มกลับมารื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวที่ต้อนรับ เซอร์จอห์น เบาวริ่ง ราชทูตอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.2398
ต่อมาในปี พ.ศ.2448 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการตราข้อบังคับว่าด้วยการยิงสลุต ร.ศ.125 แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- การยิงสลุตหลวง
- การยิงสลุตเป็นเกียรติแก่ข้าราชการ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชกำหนดการยิงสลุตขึ้นใหม่ คือ การยิงสลุต ร.ศ.131 (พ.ศ.2455) กำหนดให้มีจำนวนปืนไม่ต่ำกว่า 4 กระบอก แบ่งประเภทการยิงสลุตไว้ 3 ประเภท คือ
- สลุตหลวง แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
- สลุตหลวงธรรมดา มีจำนวน 21 นัด
- สลุตหลวงพิเศษ มีจำนวน 101 นัด
- สลุตข้าราชการ
- สลุตนานาชาติ
พระราชกำหนดยิงสลุต ร.ศ.131 ได้ถูกยกเลิกไปเมื่อ พ.ศ.2483 จนกระทั่งเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ทางราชการจึงรื้อฟื้นประเพณียิงสลุตขึ้นมาใหม่ เริ่มเป็นครั้งแรกในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2491 เนื่องในพระราชพิธีวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยกำหนดข้อบังคับไว้โดยสรุปดังนี้
- กำหนดให้มีจำนวนปืนไม่ต่ำกว่า 4 กระบอก มีขนาดลำกล้องไม่เกิน 120 มิลลิเมตร
- ห้ามยิงตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ตกไปแล้วจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น
- แบ่งประเภทการยิงสลุตไว้ 3 ประเภท เช่นเดียวกับพระราชกำหนดยิงสลุต ร.ศ.131
หลักเกณฑ์การยิงสลุต
หลักเกณฑ์การยิงสลุตในปัจจุบัน หากเป็น
- งานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา งานพระราชพิธีฉัตรมงคล หรือวันพระราชสมภพสมเด็จพระบรมราชินี หรือสมเด็จพระยุพราช รวมถึงงานต้อนรับพระมหากษัตริย์หรือประมุขแห่งรัฐ ยิงสลุตจำนวน 21 นัด
- ถ้าเป็นระดับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ที่เป็นทหาร) ผู้บัญชาการทหารเรือ จอมพลเรือ และเอกอัครราชทูต ยิงสลุต 19 นัด
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ที่เป็นพลเรือน) พลเรือเอก และเอกอัครราชทูตพิเศษ ยิงสลุต 17 นัด
- พลเรือโท และอัครราชทูต ยิงสลุต 15 นัด
- พลเรือตรี และราชทูต ยิงสลุต 13 นัด
- (สามเหล่าทัพยศเท่ากัน ยิงสลุตเท่ากัน) ยิงสลุต 11 นัด
- อุปทูตยิงสลุต 9 นัด กงสุลใหญ่