มองให้ลึกเรื่อง"ล่วงละเมิดทางเพศ" มุม"ดร.รัชดา ธนาดิเรก" และนักอาชญาวิทยา

มองให้ลึกเรื่อง"ล่วงละเมิดทางเพศ"  มุม"ดร.รัชดา ธนาดิเรก" และนักอาชญาวิทยา

แม้ประเด็น"ล่วงละเมิดทางเพศ" จะถูกพูดถึงบ่อยครั้ง แต่ไม่เคยนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ลองอ่านมุมมอง"ดร.รัชดา ธนาดิเรก" และรศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ พูตระกูล นักอาชญาวิทยา ในเรื่องนี้

เมื่อใดก็ตามที่ผู้หญิงถูก ล่วงละเมิดทางเพศ หากเป็นคดีความ ฟ้องร้องทางกฎหมาย ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในวิทยากรงานสัมมนา "คุกคามทางเพศ คุกคามการเมือง" จัดโดยมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงคำถามแรกที่ผู้หญิงไม่อยากพูด 

"นั่นก็คือคำว่า "ใครจะเชื่อฉัน" และเมื่อนึกถึงการซักปากคำเหยื่อ ยิ่งไม่อยากไปแจ้งความ ทุกอย่างก็เงียบไป บวกกับทัศนคติเดิมๆ ที่เชื่อว่า ไม่มีใครจัดการได้กับปัญหาคนมีอำนาจในหลายองค์กร ที่มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศ และนักการเมืองไม่ดีบางคนใช้ตำแหน่งหน้าที่การงานแสวงหาประโยชน์ทางเพศ และหลุดจากการดำเนินคดี ซึ่งปรากฎให้เห็นทั่วโลก" 

อย่าปล่อยผ่านเรื่องคุกคามทางเพศ

ในมุมของคนทำงานภาครัฐ เธอบอกว่า ประเด็นนี้ (กรณีปริญญ์  พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์)ไม่ใช่ประเด็นเฉพาะกิจที่เกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์องค์กรเดียว 

"ดิฉันเชื่อว่าเป็นปัญหาสังคม ซึ่งเกิดขึ้นได้ทุกที่ ในอเมริกา อังกฤษ ก็มีเรื่องแบบนี้ อย่าให้กรณีพรรคประชาธิปัตย์เป็นเพียงประเด็นที่วิจารณ์ทางการเมืองเท่านั้น ต้องมองให้ลึกจากสิ่งที่เกิดขึ้น องค์กรต่างๆ จะมาช่วยกันทำงานเรื่องล่วงละเมิดทางเพศและคุกคามทางเพศได้ยังไง”

ในฐานะนักการเมืองที่ต่อต้านการคุกคามทางเพศมานาน เธอยอมรับว่า เมื่อมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ในฐานะกรรมการพรรค การลาออกน่าจะเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบ

"ตอนนั้นดิฉันและเพื่อนสส.หญิงรวม 7 คนจะลาออก การที่คนของพรรคถูกกล่าวหา นั่นเป็นความผิดส่วนตัวที่ต้องพิสูจน์ทางกฎหมาย พรรคไม่สามารถปฎิเสธความรับผิดชอบ แต่การลาออกจากพรรค ตอนนั้นคิดทบทวนแล้วว่ามันมีผลต่อการบริหารในพรรค จะเกิดความยุ่งยาก

เราต้องตัดสินใจด้วยความรับผิดชอบ จึงนำมาสู่การแถลงข่าวที่ผ่านมา เรายังทำหน้าที่กรรมการบริหารพรรคต่อไป และเราจะแก้ปัญหาเรื่องนี้"

นักอาชญาวิทยา คนใกล้ตัวนี่แหละอันตราย

ส่วนใหญ่คนที่ก่อเหตุคุกคามทางเพศ ในทางทฤษฎี ผู้ก่อเหตุมาจากคนใกล้ตัว รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการ คณะอาชญาวิทยาฯ มหาวิทยาลัยรังสิต เล่าว่า ถ้าเราไว้ใจใครมากไป อาจเกิดเหตุคาดไม่ถึง เป็นข้อมูลทางวิชาการที่ชี้ชัดเรื่องนี้

"ยิ่งเหยื่อขาดโอกาสทางการศึกษา เป็นคนระดับรากหญ้าไม่มีสถานะภาพทางสังคมที่ดี เชื่อได้เลยไปแจ้งความ โอกาสที่เป็นคดีสืบสวนหาคนผิดยากมาก

มีกรณีล่าสุด ซึ่งเป็นข่าว ผู้หญิงรอรถประจำทาง ตอนตีสี่ครึ่งแถวปทุมธานี ระหว่างนั่งรอ มีคนเอาปืนมาจี้ให้ขึ้นรถกระบะ เมื่อไปแจ้งความ ตำรวจบอกว่า บริเวณนั้นไม่มีกล้องวงจรปิด คดีผ่านไปหลายสิบวัน เมื่อมีการเสนอผ่านสื่อฯ ปรากฏว่าหากล้องวงจรปิดเจอทันที และตามจับตัวผู้ต้องสงสัยได้"

ต้องรอให้เป็นข่าว จึงจะแก้ปัญหา แล้วองค์ประกอบอะไรที่นำไปสู่การคุกคามทางเพศ อาจารย์กฤษณพงศ์ บอกว่า วิชาหนึ่งด้านอาชญาวิทยา เรียกว่าเหยื่อวิทยา มีแนวทางว่า จะทำยังไงไม่ให้เรามีโอกาสตกเป็นเหยื่อ 

"ถ้าต้องไปกับผู้ชายในสถานที่ลับตาสองคน มีความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อ เหยื่อมักมีความไว้ใจคนๆ นั้น

และเมื่อเกิดเป็นคดีความ เวลาถูกสอบปากคำ ก็จะถูกถามว่า ถูกข่มขืนยังไง และสอบปากคำอย่างละเอียด มีการคำถามครั้งที่สองอีก 

ดังนั้นบทลงโทษต้องจริงจัง เด็ดขาด รวดเร็วตามตัวบทกฎหมาย และไม่ว่าคนกระทำผิดจะเป็นใครก็ตาม อำนาจต้องไม่เหนือกฎหมาย ต้องมีมาตรฐานเดียว"

เหตุผลดังกล่าว ถูกขมวดปมว่า ถ้าทำตามที่เสนอได้จริง คนกระทำผิดจะไม่กล้า ต้องรณรงค์จริงจังให้ความรู้ในเรื่องการคุกคามทางเพศ

"ในระยะยาวหน่วยงานภาครัฐต้องทำงานเชิงรุก เวลาคนรากหญ้าเจอปัญหา จะมีหน่วยงานไหนพึ่งพิงได้บ้าง ต้องทำออกมาให้ชัดเจน "