ศรชล. ยกระดับ ศูนย์ PIPO แก้ประมงผิดกฎหมาย-ค้ามนุษย์ หวังขยับไทยขึ้นเทียร์ 2
ศรชล. พัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก ( PIPO) ยกระดับแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย-ค้ามนุษย์ หวังขยับไทยขึ้นเทียร์ 2
9 พฤษภาคม 2565 พลเรือเอก เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะเลขาธิการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (เลขาธิการ ศรชล.) เป็นประธานการประชุมหารือการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (Port In Port Out Controlling Center: PIPO) ณ ห้องประชุมกองบัญชาการกองทัพเรือ ชั้น 6 อาคารส่วนบัญชาการกองทัพเรือ พื้นที่วังนันทอุทยาน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย พลตำรวจโท สุรเชษฐ์
หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รศ.ดร.ธนพร ศรียางกูร ดร.อดิศร พร้อมเทพ และผู้แทนหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมฯ
พลเรือตรี อิทธิพัทธ์ กวินเฟื่องฟูกุล โฆษก ศรชล. กล่าวว่า การประชุมหารือการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของศูนย์ PIPO ในวันนี้ จะส่งผลให้เกิดการยกระดับการปฏิบัติงานในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมายฯ (IUU Fishing) และการปราบปรามการค้ามนุษย์ ให้ต่อเนื่องและเป็นมาตรฐาน เพื่อให้การรายงานสถานการณ์ด้านการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (TIP Report) ในภาคกิจกรรมทางทะเลของไทย จากระดับบัญชี 2 กลุ่มประเทศเฝ้าระวังหรือ Tier 2 Watch List เป็นระดับบัญชี 2 หรือ Tier 2
จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 รองนายกฯ ประธานคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ สั่งการให้ ศรชล. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแนวทางการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของศูนย์ PIPO และรายงานผลการปฏิบัติให้คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติทราบ
โดยในที่ประชุมฯ ได้กำหนดแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของศูนย์ PIPO และร่วมพิจารณาร่างคณะทำงานฯ จำนวน 3 คณะ เพื่อให้แนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพฯ ดังกล่าวสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งกำหนดแนวทางการปรับปรุงการปฏิบัติงานของ ศรชล. เพื่อสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถสรุปรายละเอียดสาระสำคัญ ได้ดังนี้
1. แนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของศูนย์ PIPO
1.1 การปรับปรุงคู่มือ PIPO Manual ให้มีความทันสมัย
1.2 การปรับปรุงหลักเกณฑ์ เงื่อนไขในการสั่งตรวจเรือประมงหน้าท่าเทียบเรือ (Rule base) และหลักเกณฑ์การประเมินความเสี่ยง (Risk based)
1.3 การปรับปรุงค่าเป้าหมาย/ระดับการตรวจเรือประมงหน้าท่าเทียบเรือของชุดสหวิชาชีพตรวจเรือประมงหน้าท่า
1.4 การปรับจำนวนชุดสหวิชาชีพตรวจเรือประมงหน้าท่า ให้สัมพันธ์และสอดคล้องกับปริมาณการแจ้งเรือประมงเข้าออกในแต่ละศูนย์ PIPO การเสริมสร้าง/พัฒนา Investigative Mind ให้กับเจ้าหน้าที่ชุดสหวิชาชีพตรวจเรือประมงหน้าท่าและพนักงานเจ้าหน้าที่ศูนย์ PIPO กรมประมง
1.5 การปรับปรุงหลักเกณฑ์การตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ชุดสหวิชาชีพประจำศูนย์ PIPO โดยชุด Flying Inspection Team : FIT
2. ศรชล. จะแต่งตั้งคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของศูนย์ PIPO จำนวน 3 คณะ
2.1 คณะทำงานพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก โดยมี ศรชล. เป็น หัวหน้าคณะทำงาน กรมประมง เป็น รองคณะทำงานศูนย์ยุทธการ ศรชล.เป็น เลขานุการ กรมประมง เป็นผู้ช่วยเลขานุการ คนที่ 1 และสำนักนโยบายและแผน ศรชล.เป็นผู้ช่วยเลขานุการ คนที่ 2
2.2 คณะทำงานปรับปรุงคู่มือการปฏิบัติงานศูนย์ PIPO (PIPO Manual) โดยมี ศรชล. เป็น หัวหน้าคณะทำงาน กรมประมงเป็น รองหัวหน้าคณะทำงาน สำนักนโยบายและแผน ศรชล.เป็น เลขานุการ กรมประมง เป็นผู้ช่วยเลขานุการ คนที่ 1 และ ศูนย์ยุทธการ
ศรชล. เป็น ผู้ช่วยเลขานุการ คนที่ 2
2.3 คณะทำงานปรับปรุงหลักเกณฑ์การสั่งตรวจเรือประมงหน้าท่าเทียบเรือ (Rule based) และหลักเกณฑ์การประเมินความเสี่ยง (Risk based) โดยมี กรมประมงเป็น หัวหน้าคณะทำงาน ศรชล. เป็น รองหัวหน้าคณะทำงาน กรมประมงเป็น เลขานุการ ศูนยย์ยุทธการ ศรชล. เป็นผู้ช่วยเลขานุการ คนที่ 1 และสำนักนโยบายและแผน ศรชล. เป็น ผู้ช่วยเลขานุการ คนที่ 2
3. แนวทางการปรับปรุงการปฏิบัติงานของ ศรชล. เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของศูนย์ PIPO โดยจะดำเนินการในสองส่วนคือ การจัดเจ้าหน้าที่ ศรชล. เข้าช่วยเหลือในการยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของศูนย์ PIPO และยกระดับการประเมินผลการปฏิบัติงานของศูนย์ PIPO ให้ได้มาตรฐาน โดยการปรับปรุงโครงสร้างการปฏิบัติงานของชุด Flying Inspection Team : FIT เพื่อให้เกิดผลผลิตอย่างเป็นรูปธรรมดังนี้
3.1 เพื่อให้การควบคุม กำกับดูแล การปฏิบัติงานศูนย์ PIPO ให้กลับมามีประสิทธิภาพได้โดยเร็ว
3.2 มีการพิจารณา กำหนดมาตรการ ควบคุม กำกับ ดูแล ทบทวน ปรับปรุงการปฏิบัติงานของศูนย์ PIPO ให้คงไว้ซึ่งประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานครบทุกมิติ ทั้งองค์บุคคล องค์วัตถุ และองค์ยุทธวิธี
3.3 มีกรอบการพัฒนากลไกในการกำกับ ดูแล ควบคุมการปฏิบัติงานของศูนย์ PIPO ในทุกระดับ
3.4 มีการกระจายกลไกการควบคุม กำกับ ดูแลการปฏิบัติงานของศูนย์ PIPO ให้สามารถกำกับดูแล การปฏิบัติงานได้ทั่วถึงและรวดเร็ว รวมทั้งถูกตรวจสอบ/ประเมินผลการปฏิบัติมากขึ้น
3.5 สร้างการมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของศูนย์ PIPO ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
โดย โฆษก ศรชล. กล่าวว่า “ศรชล.ทุกนายมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความรัก ความสามัคคี ความวิริยะอุตสาหะ ด้วยสติรู้ตัว ปัญญารู้คิด เพื่อผลประโยชน์ทางทะเลแก่ประชาชน และประเทศชาติอย่างเต็มเปี่ยม”