"บัตรประชาชนหมดอายุ" เลือก "ผู้ว่า กทม." ได้ไหม? รวมข้อสงสัยก่อนไปเลือกตั้ง
"บัตรประชาชนหมดอายุ" ใช้บัตรอะไรแทนได้ในการเลือตั้งผู้ว่าฯ กทม. ? หากไม่ไปใช้สิทธิ์จะถูกตัดสิทธิ์อะไรบ้าง? รวมข้อสงสัยก่อนไปเลือกตั้งผู้ว่าฯ และ ส.ก. ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้
เลือกตั้งผู้ว่า วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ใกล้จะมาถึง และหนึ่งในข้อสงสัยที่ใครกำลังคาใจอยู่คือ “บัตรประชาชนหมดอายุ” สามารถใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ไหม เพราะมีหลายคนบัตรหมดอายุ และยังไม่สะดวกไปทำใหม่เพราะโควิด-19
ประเด็นนี้จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ชี้แจงว่า หากบัตรประชาชนหมดอายุ สามารถใช้บัตรประชาชนที่หมดอายุได้ และยังสามารถใช้เอกสารอื่น ๆ แทนบัตรเลือกตั้งได้ด้วย ได้แก่
- บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้)
- บัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน
- บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ
- ใบขับขี่
- หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)
ใช้สิทธิ์เลือกตั้งไม่ได้ทำอย่างไร?
สำหรับผู้มีสิทธิ์ที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้นั้น กกต.ชี้แจงว่าหากมีเหตุอันสมควร ให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยทำเป็นหนังสือซึ่งต้องระบุเลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง สามารถแจ้งด้วยตัวเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นไปยื่นแทน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ซึ่งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ได้แก่
- มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
- เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
- เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
- เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
- มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
- ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง
- มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่ กกต. กำหนด
กรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แจ้งเหตุไว้แล้ว หากในวันเลือกตั้งเหตุดังกล่าวได้สิ้นสุดลง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งได้
ถ้าวันที่ 22 พ.ค. ไม่ว่าง เลือกตั้งล่วงหน้าได้มั้ย?
ไม่ได้ เพราะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภากรุงเทพฯ (ส.ก.) ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า
ภาพจาก สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ไม่ไปเลือกตั้ง ถูกจำกัดสิทธิอะไรบ้าง?
สำหรับผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะถูกจำกัดสิทธิ ดังนี้
- สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือ ส.ถ. หรือ ผ.ถ. หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.
- สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
- เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอน ส.ถ. หรือ ผ.ถ.
- ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
- ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
- ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และเลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น
- การถูกจำกัดสิทธิ กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง