"ฝีดาษลิง" การติดต่อจากคนสู่คน ชี้เป็นไปได้ ควรรู้ ติดยาก-ง่ายแค่ไหน?
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น "ฝีดาษลิง" หลังเริ่มพบในหลายประเทศ ชี้ ไม่ใช่โรคใหม่ เผยข้อมูลการติดต่อจากคนสู่คน ชี้เป็นไปได้ ติดยาก-ง่ายแค่ไหน?
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น "ฝีดาษลิง" หลังเริ่มพบในหลายประเทศ ชี้ ไม่ใช่โรคใหม่ พร้อมเปิดเผยข้อมูลการติดต่อจากคนสู่คนว่าแพร่ระบาดได้ยาก-ง่ายมากแค่ไหน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "โรคฝีดาษลิง" ติดจากสัตว์สู่คนได้ เช็กข้อมูลกรมควบคุมโรค พร้อมแนะวิธีการป้องกัน
- "โรคฝีดาษลิง" น่ากลัวแค่ไหน? อาจารย์เจษฎ์ชี้สาเหตุ-อาการของโรค-วิธีรักษา
- สหรัฐ-อังกฤษ-โปรตุเกส พบผู้ป่วยฝีดาษลิง
โดย หมอยง พูดถึงโรค "ฝีดาษลิง" ระบุว่า "ฝีดาษวานร" การเรียกชื่อฝีดาษวานร อยากให้เป็นเกียรติและระลึกถึงท่านศาสตราจารย์นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้ตั้งชื่อโรคนี้ในประเทศไทย ฝีดาษวานร ไม่ใช่โรคใหม่ พบครั้งแรกในลิงปี 2501 และพบในคนตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 ในแอฟริกาตอนกลาง และแอฟริกาตะวันตก
ฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) คล้ายกับโรคฝีดาษในมนุษย์ แต่ความรุนแรงและการแพร่ระบาดได้น้อยกว่าผีดาษมาก การติดต่อทราบกันดีว่า คนจะติดมาจากสัตว์ เช่น ลิง สัตว์ตระกูลฟันแทะ กลุ่มหนูในแอฟริกาและกระรอก แหล่งระบาดจะอยู่ในแอฟริกาตะวันตก และแอฟริกากลาง
การพบนอกแอฟริกา ส่วนใหญ่เป็นผู้เดินทางมาจากแอฟริกา และหรือสัมผัสกับสัตว์ที่นำมาจากแอฟริกา
การติดต่อระหว่าง คนสู่คนเป็นไปได้ แต่ต้องสัมผัสอย่างใกล้ชิด เช่น สัมผัสกับน้ำใส ตุ่มหนองหรือสารคัดหลั่ง ใช้เสื้อผ้าร่วมกัน นอนเตียงเดียวกัน การเลี้ยงสัตว์ต่างถิ่นที่เป็นพาหะโรคนี้อยู่
ในอดีตที่ผ่านมายังไม่พบการระบาดใหญ่ พบเป็นกลุ่มในแอฟริกา และพบเป็นรายๆ ในยุโรปและอเมริกา เคยมีรายงานผู้ป่วยในสิงคโปร์ ในอังกฤษครั้งนี้ มีการตั้งข้อสงสัยการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ยังต้องรอการยืนยัน
เชื้อไวรัสเป็นกลุ่มเดียวกับโรคฝีดาษ จึงเชื่อว่าวัคซีนป้องกันฝีดาษ น่าจะป้องกันโรคนี้ได้ คงต้องรอการพิสูจน์
การปลูกฝี มีประสิทธิภาพในการป้องกันฝีดาษสูงมาก จึงทำให้โรคฝีดาษหมดไป และประเทศไทยเลิกปลูกฝีตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 ใครที่เกิดก่อนปี 2517 จะมีแผลเป็นจากการปลูกฝี ผมเองก็มี
ฝีดาษวานร ไม่เคยพบในประเทศไทย ไม่มีอะไรต้องตื่นตระหนก การติดต่อแพร่กระจายต้องสัมผัสอย่างใกล้ชิด การเฝ้าระวังเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากแอฟริกาตะวันตก และแอฟริกากลาง รวมทั้งการนำสัตว์ต่างถิ่นเข้าสู่ประเทศไทย
CR เฟซบุ๊ก หมอยง