ยกระดับข้อมูลผ่านระบบ Thai QM และ TPMAP จัด “เมนูแก้จน” พุ่งเป้าทุกมิติ
กรมการปกครอง ยกระดับข้อมูลผ่านระบบ Thai QM และ TPMAP จัด “เมนูแก้จน” แก้ไขปัญหารายครัวเรือนแบบพุ่งเป้า และตรงตามสภาพปัญหาได้อย่างตรงจุด พุ่งเป้าทุกมิติ มุ่งสร้างชุมชน “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง”
เมื่อเร็วๆ นี้นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้พาสื่อมวลชนเยี่ยมชมวิถีความเป็นอยู่ชาวชุมชนบ้านดูกอึ่ง ต.หนองฮี อ.พิมูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี โดยใช้ฐานข้อมูลจากระบบ Thai QM และ TPMAP สรรสร้าง “เมนูแก้จน” เลือกแนวทางการแก้ไขปัญหารายครัวเรือนแบบพุ่งเป้าและตรงตามสภาพปัญหา (ตัดเสื้อพอดีตัว)
“บ้านดูกอึ่ง” ตำบลหนองบัวฮี อำเภอพิบูลมังสาหาร ชุมชนตัวอย่างในขับเคลื่อนการแก้ปัญหาโดยมี “วัด” เป็นศูนย์รวมจิตใจสร้างความเข้มแข็งให้หมู่บ้าน ตามหลัก “บวร” ล่าสุดได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 "แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง" ของจังหวัดอุบลราชธานี 1 ใน 10 นโยบายขับเคลื่อนโครงการสำคัญของกรมการปกครองปี 2565 (10 Flagships to DOPA All Smart 2022) โดยดำเนินการสร้างความเข้มแข็งระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เพื่อความยั่งยืน
นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากนโยบายสำคัญของกระทรวงมหาดไทยในการ การขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาความยากจน โดยฝ่ายปกครองในพื้นที่ได้เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนช่วยเหลือชาวบ้าน
กรมการปกครอง สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) มาโดยตลอด ภายใต้นโยบาย 10 Flagships to DOPA All Smart 2022 และได้ดำเนินการสร้างความเข้มแข็งระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เพื่อความยั่งยืน ตามแนวทางอุดมการณ์ “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” (หมู่บ้านอยู่เย็น) ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญเร่งด่วนที่ต้องผลักดันให้เกิดผลสำเร็จ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้หมู่บ้าน ด้วยหลักคุณธรรมนำการพัฒนา นำไปสู่การพัฒนาตำบลและอำเภอที่เข้มแข็ง มีคุณธรรม มีความโปร่งใส และพร้อมเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อน การพัฒนาประเทศในทุกมิติ
การแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน หรือ การตัดเสื้อให้พอดีตัว นั้นให้ทุกจังหวัดใช้ข้อมูลจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) หรือ TPMAP เป็นฐานข้อมูลในการขับเคลื่อน ในปี 2565 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเน้นย้ำการแก้ไขปัญหาความยากจนให้เสร็จสิ้นในระดับอำเภอ ซึ่งนายอำเภอต้องมีบทบาทสำคัญในการบูรณาการส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอำเภอแก้ไขปัญหาด้วยการนำแนวทางจากเมนูแก้จน 5 ด้านจาก TPMAP ได้แก่ สุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา ด้านรายได้ และการเข้าถึงบริการภาครัฐ
“ฐานข้อมูลในระบบ Thai QM เป็นการดำเนินการจัดเก็บและบันทึกข้อมูลตามปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ไม่ได้จำกัดแค่มิติใดมิติหนึ่ง แต่ครอบคลุมความเดือดร้อนทุกเรื่อง เพื่อนำมาขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความยากจนของประชาชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและ กรรมการหมู่บ้าน ในฐานะทีมปฏิบัติการ ทีมพี่เลี้ยง ไปขับเคลื่อนเพื่อหมู่บ้านของตนเอง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงวัย ให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด อันเป็นที่มาของ พิบูลโมเดล ขจัดความยากจน พัฒนาคนทุกช่วงวัย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง คุณธรรมนำครรลองปกครองทรัพย์
การประกวดหมู่บ้านเข้มแข็งตามแนวทาง “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” (หมู่บ้านอยู่เย็น) นั้น มีเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานให้แก่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) คณะกรรมการกลางหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) รวมทั้งเพื่อคัดเลือกหมู่บ้านที่มีความเข้มแข็งและมีผลการดำเนินงานดีเด่นในระดับตำบล ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับเขต และระดับภาค นำมาประชาสัมพันธ์แนวคิดและผลงานให้สาธารณชนได้รับทราบ และมอบรางวัลและเชิดชูเกียรติให้แก่หมู่บ้านที่มีผลงานโดดเด่น สามารถเป็นแบบอย่างให้แก่หมู่บ้านอื่นๆ ได้
“แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” เป็นการน้อมนำพระบรมราชปณิธานในพระปฐมบรมราชโองการของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อทรงประกอบ
พิธีบรมราชาภิเษกความว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
โดย “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม” เป็นที่มาของแผ่นดินธรรม และ “เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” เป็นที่มาของ แผ่นดินทอง
แผ่นดินธรรม หมายถึง ดินแดนที่คนมีคุณธรรม โดยยึดหลักธรรมของศาสนาที่ตนนับถือประพฤติปฏิบัติตน อยู่ในศีลธรรม ระเบียบประเพณีอันสง่างาม สงบร่มเย็น
แผ่นดินทอง หมายถึง ดินแดนที่ประชาชนมีเสรีภาพ ขยันประกอบอาชีพ ทำนุบำรุงแผ่นดินให้อุดมสมบูรณ์
อนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้เจริญรุ่งเรืองมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
สืบสานอัตลักษณ์ผ้าไทย บ้านดูกอึ่ง อนุรักษ์ภูมิปัญญาปู่ย่าตายาย เป็นมรดกสู่ลูกหลาน
กลุ่มทอผ้า บ้านดูกอึ่ง อนุรักษ์ภูมิปัญญาของปู่ย่าตายายเพื่อให้ลูกหลานได้สืบทอดผ้าทอมือมัดหมี่ โดยทางกลุ่มได้นำลวดลายผ้าทอสมัยโบราณและลวดลายสมัยใหม่นำมาประยุกต์เข้ากันทำให้ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมีความหลากหลายและสวยงาม
ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มที่โดดเด่นคือ ผ้ามัดหมี่ทอมือ ลายพระราชทานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ประทานลายผ้าพระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ลายดอกบัวแดง ลายดอกบัวขาว ลายต้นสนตีนแดง ผ้าทอมือคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ผ้าขาวม้า ผ้าโสร่ง เป็นต้น
นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครองกล่าวว่า หมู่บ้านดูกอึ่ง แห่งนี้เป็นแม่แบบชุมชนพัฒนาตามหลัก “บวร” ด้วยความเข้มแข็งของคณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านที่ยังดำรงอัตลักษณ์การทอผ้า ลายดูกอึ่ง เศรษฐกิจพื้นฐาน ที่เราเรียกว่าหมู่บ้าน ถ้าหมู่บ้านไหนมีความเข้มแข็งรักสามัคคีกันก็จะเกิดความสงบสุข คำว่า "แผ่นดินธรรม" นั้นเราอยากเห็นหมู่บ้านใช้หลักศาสนามาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต "แผ่นดินทอง" รู้จักใช้ สิ่งที่อยู่ใกล้บ้านมาทำให้เกิดประโยชน์ทำรายได้ให้กับตน โดยเฉพาะหมู่บ้านดูกอึ่ง ที่มีความเชี่ยวชาญการทอผ้าพื้นเมืองดั้งเดิมลายบัวขาว และลายผ้าที่ได้รับพระราชทานจาก "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา" ทำให้เกิดกระแสผ้าไทยขึ้นมา จนทำให้หมู่บ้านดูกอึ่งมีรายได้เข้าสู่ชุมชน อย่างน้อย 400-500 บาทต่อวัน โดยที่ไม่ต้องไปเป็นแรงงานลูกจ้างที่อื่น ทำให้เกิดการรวมกลุ่มและสร้างความสามัคคีภายในชุมชน
โครงการ "แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง" เกิดขึ้นทุกจังหวัดถ้าเกิดมีคณะกรรมการหรือหมู่บ้านที่แข็งแกร่ง นำของดีภายในชุมชนให้เป็นสินค้าโอทอป (OTOP) ดึงดูดนักท่องเที่ยวและเปิดตลาดสินค้าแห่งใหม่ขึ้นมาสร้างรายได้ให้กับชุมชน บ้านดูกอึ่ง เป็นตัวอย่าง ให้ชุมชนหมู่บ้านอื่นๆ สามารถนำมาพัฒนาปรับใช้ส่งเสริมให้หมู่บ้านเข้มแข็งตามแนวทาง “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” โดยยึดหลัก “บวร” นอกจากจะเป็นการส่งเสริม เศรษฐกิจฐานรากในระดับหมู่บ้าน ภายใต้แนวทาง “อำเภอมั่งคั่ง” แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาติ ด้วยการสวมใส่ผ้าไทย ซึ่งสะท้อนผ่านการทำหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้าน ที่มีการส่งเสริมความร่วมมือและ ความเข้มแข็งของคนในหมู่บ้านเพื่อความยั่งยืน
“บวร” บ้าน วัด โรงเรียน พลังขับเคลื่อนอย่างเกื้อกูล
แนวทาง “บวร” หรือ “บรม” เป็นเครื่องมือในการพัฒนาความร่วมมือกันทุกภาคส่วนทั้ง
บ้าน ศาสนา และราชการ ความสำคัญของ “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน มีส่วนในการขับเคลื่อนพัฒนา ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ พึ่งพาอาศัยและดูแลซึ่งกันและกันเรื่อยมา จนเป็นวิถีชีวิตประจำวัน และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาหมู่บ้าน
จะเห็นได้จากการสำรวจข้อมูลปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในหมู่บ้านเป็นรายครัวเรือนผ่านระบบ ThaiQM ปี 2565 ที่กรมการปกครองกำลังดำเนินการ พบนางสาวเบย ตันสิน อายุ 83 ปี เป็นผู้พิการทางการได้ยิน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางและต้องการความช่วยเหลือ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง
ทางคณะกรรมการหมู่บ้าน ภาครัฐ และภาคประชาสังคมได้ร่วมแรงร่วมใจกัน ทั้งกำลังทรัพย์และกำลังคน ช่วยกันสร้างห้องน้ำและที่อยู่อาศัยให้กับนางสาวเบย จากการประสานเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี โดยได้รับเงินสนับสนุนจากและสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 40,000 บาท และประชาชนในหมู่บ้านจากการจัดกิจกรรมนุ่งผ้าไทยใส่บาตรถนนสายวัฒนธรรม “1 ตำบล 1 วัด 1 ถนนสายวัฒนธรรม 1 คลังยาและอาหาร” สานข่ายขยายงาน MOU วัด มหาดไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชน ให้มีความสุขอย่างยั่งยืนโดยหลักบวร ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรข้าวสาร อาหารแห้ง และนมจืด
พร้อมปัจจัยจำนวน 16,489 บาท ณ วัดบัวขาว บ้านดูกอึ่ง เพื่อนำไปสงเคราะห์เกื้อกูลให้กับผู้ยากไร้ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส โดยนำนมไปมอบให้กับโรงเรียนบ้านดูกอึ่งและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อนำไปมอบให้แก่หญิงมีครรภ์และเด็กเล็ก เพื่อส่งเสริมกิจกรรมโภชนาการ “มหัศจรรย์ 1,000 วัน”ตักบาตรถนนสายวัฒนธรรม เพื่อนำเงินและสิ่งของที่ได้รับจากการทำบุญในหมู่บ้านมาช่วยเหลือคนในหมู่บ้าน ซึ่งบ้านนางสาวเบย ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือจากกิจกรรมนุ่งผ้าไทยใส่บาตรถนนสายวัฒนธรรมเช่นกัน
สร้างสรรค์ ขยะรีไซเคิล เสริมทักษะสมอง สอนรักษ์สิ่งแวดล้อม พัฒนาคนทุกช่วงวัย
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจที่ได้ติดตามเยี่ยมชม พิบูลโมเดล ชุมชนต้นแบบในการขจัดความยากจน พัฒนาคนทุกช่วงวัย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นั่นคือ ผลงานการผลิตสื่อการเรียนการสอนจากขยะรีไซเคิล อาทิ ขวดน้ำ ถาดไข่ ช้อน จาน กระดาษ กล่องกระดาษ ฝาครอบพัดลม เป็นต้น
สื่อการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นพัฒนาทั้งทางด้าน ร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เพื่อให้สอดคล้องกับการเรียนการสอนในแต่ละสัปดาห์ โดยผ่านกระบวนการความคิด ดัดแปลงวัสดุเหลือใช้ หรือ ขยะ ได้อย่างสร้างสรรค์ ทั้งยังต่อยอดให้ผู้ปกครองได้เห็นความสำคัญกับเศษวัสดุเหลือใช้ และสามารถขยายโอกาสสู่การจัดการขยะในชุมชนได้ในอนาคต
“เด็กๆ เรียนรู้ผ่านการมอง การจำภาพ ในการผลิตสื่อการเรียนการสอนจากขยะรีไซเคิลแต่ละชิ้น สร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากการลงมือทำด้วยตนเอง นอกจากพัฒนาทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก เพื่อพัฒนาสู่การเขียนหนังสือในอนาคต ความรู้ที่ได้ ไม่ได้จำกัดแค่ในห้องเรียน แต่ความรู้ที่ได้สามารถขยายไปสู่ครอบครัวผ่านการบอกเล่าจากที่ได้ลงมือทำ เพราะปัญหาการจัดการ “ขยะ” เพราะขยะไม่ได้มีเฉพาะในโรงเรียน แต่มีทั่วไปเมื่อเราสามารถสร้างการรับรู้ให้เด็กๆ ซึมซับวิธีการจัดการขยะอย่างสร้างสรรค์ จะสามารถขยายวงกว้างไปสู่ชุมชนให้มีการจัดการปัญหาขยะได้ โดยเริ่มต้นจากเด็กเล็กๆ” นางสาวชฎาภรณ์ บุญเต็ม ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านบัวแดง ตำบลหนองบัวฮี
“บ้าน วัด โรงเรียน เป็นหลักสำคัญที่มีส่วนในการขับเคลื่อนพัฒนาชุมชน ถ้ายึดหลักศาสนาเข้ามาเป็นแนวทางในการยึดเหนี่ยวจะทำให้มีอบายมุขน้อยลง หรือเป็นหมู่บ้านศีล 5 ก็จะกลายเป็นหมู่บ้านที่ มีแต่ คนดีทำให้หมู่บ้านนั้นเกิดประโยชน์สุข หลักศาสนาเป็นหลักสำคัญที่จะช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจ หรือดำเนินชีวิตให้ได้ไปในทางที่ถูกต้อง เมื่อมีสิ่งที่ถูกต้องก็จะเกิดความสงบสุขต่อไป เหมือนคำว่า "ศีลนำมาซึ่งความสุข" อธิบดีกรมการปกครองกล่าว