"หมอยง" เผยข้อควรรู้ "ฝีดาษลิง" ลักษณะตุ่มแตกต่างจาก โรคสุกใส
"หมอยง" เผยข้อควรรู้ "ฝีดาษลิง" ที่กำลังระบาดขณะนี้ พบในเพศชายเกือบทั้งหมด แนะสังเกตลักษณะตุ่มมีความแตกต่างจาก โรคสุกใส
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยข้อควรรู้ โรคฝีดาษวานร หรือ "ฝีดาษลิง" ที่กำลังระบาดในหลายประเทศแถบยุโรปว่า
โรคนี้วินิจฉัยครั้งแรกพบในลิง จึงเรียกว่า "ฝีดาษลิง" (Monkeypox) ผู้ป่วยในมนุษย์ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดไม่ได้ติดจากลิง เคยมีหลักฐานการติดต่อจากสัตว์ตระกูลฟันแทะ จำพวกหนู กระรอก เช่นหนูแกมเบีย (Giant Gambian rat) ที่นำเข้าไปในอเมริกา และมีการติดต่อไปสู่หนูแพรี่ด็อก และคนติดมาอีกทีหนึ่ง
การเรียก "ฝีดาษลิง" จึงไม่ยุติธรรมสำหรับลิง เพราะคนเราจะรังเกียจลิง ลิงที่อยู่ตามวัด ในบ้านเรามีมาก จะขาดแคลนอาหาร เป็นที่เดือดร้อนของชาวลิงอย่างแน่นอน
โรคในตระกูลฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ สมัยก่อนมี ฝีดาษวัว ที่ข้ามมายังมนุษย์ได้และนำมาใช้ทำวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษทำให้โรคนี้หมดไป เพราะการติดฝีดาษวัว จะเป็นตุ่มหนองเฉพาะตรงที่สัมผัสเท่านั้น หรือเรียกว่าขึ้นเฉพาะที่ ส่วนฝีดาษนกหรือไก่ยังไม่มีหลักฐานการข้ามมายังมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ลักษณะตุ่มฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ หรือในตระกูลฝีดาษ
ตุ่มหนอง จะเริ่มจากรอยแดงแล้วเป็นน้ำใส และเปลี่ยนเป็นน้ำขุ่นข้น สีขาวเหลือง ตรงกลางจะมีรอยบุ๋ม ซึ่งต่างกับ โรคสุกใสที่เกิดจากไวรัสต่างกลุ่มกันจะเป็นน้ำใส
- ข้อแตกต่างที่ชัดเจนกับโรคสุกใส
ที่สมัยผมเป็นนักเรียนต้องท่องได้ มีตุ่มของฝีดาษ จะขึ้นพร้อมกันระยะเดียว เหมือนกัน เริ่มจากแดงเป็นตุ่มน้ำและตกสะเก็ดพร้อมๆกัน แต่ของสุกใสจะมีหลายระยะเช่นบางตุ่มเป็นแค่ตุ่มแดงบางตุ่มเป็นน้ำใสแล้ว
การกักตัวผู้ป่วยจึงต้องกักตัวให้แผลทุกแผลตกสะเก็ดหมด จึงจะพ้นระยะติดต่อ สำหรับผู้สัมผัสโรคจะต้องกลับตัวดูอาการ 21 วันตามระยะพักตัวที่มากที่สุด
บริเวณที่ขึ้นตุ่มของสุกใสจะขึ้นบริเวณลำตัวมากกว่า ส่วนของฝีดาษจะขึ้นมากที่แขนขาแล้วค่อยไปลำตัว
- ลักษณะของตุ่มฝีดาษ
จะบุ๋มตรงกลางที่เรียกว่า umbilicated vesicle ส่วนของสุกใสจะเป็นตุ่มน้ำใสหลายระยะ
เป็นที่น่าสังเกตว่า "ฝีดาษลิง" ที่กำลังระบาดและพบอยู่ขณะนี้ พบในเพศชายเกือบทั้งหมด
ฝีดาษวัวป้องกันฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ โดยหลักการแล้วก็น่าจะข้ามมาป้องกัน "ฝีดาษลิง" ได้ แต่ขณะนี้ก็มีการพัฒนาวัคซีนฝีดาษเด็กโดยตรง