ETDA เร่งเครื่อง ‘ดิจิทัล ไอดี’ ในไทย ยึดหลัก 3 ประโยชน์สร้างคุณค่าผู้ใช้งาน
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA เดินหน้าเต็มกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในไทยด้วย ‘ดิจิทัล ไอดี’ ยึดหลัก 3 ประโยชน์ ‘ประชาชน-เอกชน-หน่วยงานรัฐ’ เพิ่มช่องทางและโอกาสให้กับธุรกิจในการให้บริการทางดิจิทัลรูปแบบใหม่ มุ่งเป้าหมายก้าวสู่ ‘สังคมไร้รอยต่อ’ ในอนาคต
ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA เปิดเผยว่า ETDA ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินงานเพื่อยกระดับชีวิตคนไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลได้เดินหน้าส่งเสริม Ecosystem เพื่อการพัฒนา “ดิจิทัล ไอดี” หรือ Digital ID มาอย่างต่อเนื่องในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา โดย ดิจิทัล ไอดี (Digital identity หรือ Digital ID) คือ การระบุคุณลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคลซึ่งมี “ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล” ในมาตรฐานที่กำหนดเอาไว้ ผู้ใช้งานที่มี “ดิจิทัล ไอดี” จะสามารถใช้ในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้ ไม่ต่างกับ “บัตรประชาชน” ที่ทุกคนใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่จะมีความสะดวก ลดขั้นตอนการเดินทาง และค่าใช้จ่าย
ในส่วนของการทำงานเพื่อให้เกิดการใช้งาน “ดิจิทัล ไอดี” ในไทย ETDA ได้ให้ความสำคัญกับ 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. การผลักดันกฎหมายตลอดจนมาตรฐานหรือแนวทางเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือสำหรับผู้ใช้งาน 2. ผสานความร่วมมือในกลุ่มภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดการใช้งาน “ดิจิทัล ไอดี” ในไทยให้มีจำนวนที่มากขึ้น และ 3. การสร้างความรู้ความเข้าใจในข้อดีและประโยชน์ของการนำ “ดิจิทัล ไอดี” ไปใช้งานในชีวิตประจำวัน ทั้งในส่วนของประชาชน ภาคธุรกิจ และหน่วยงานของรัฐ
ด้าน พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ โดยเพิ่มเรื่องธรรมาภิบาล และอีกฉบับคือ พ.ร.บ. การบริหารงาน และการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล ให้หน่วยงานของรัฐมีระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล โดยมีความคืบหน้าอย่างมาก ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบและอนุมัติในหลักการการพัฒนาระบบรองรับ “ดิจิทัล ไอดี” ด้วยการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล หรือ Face Verification Service (FVS) ซึ่งหากมีการประกาศใช้จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น
พร้อมกันนี้ได้สร้างความร่วมมือในกลุ่มภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันผลักดัน ขับเคลื่อนให้เกิดการใช้งาน “ดิจิทัล ไอดี” ในทุกบริการดิจิทัลของไทย ได้แก่ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID) ที่เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่วันนี้มีผู้ลงทะเบียนใช้งานแล้ว 4.3 ล้านราย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นอีกหน่วยงานที่ประกาศความพร้อมที่จะประสานข้อมูลผ่านแพลตฟอร์มพิสูจน์และยืนยันตัวตน รวมถึงกรมการปกครอง ที่เปิดใช้งาน
“ดิจิทัล ไอดี” ได้จาก D.DOPA แอปพลิเคชันที่เชื่อมโยงกับบัตรประชาชนช่วยให้การติดต่อหน่วยงานราชการสะดวกและง่ายขึ้น อีกทั้งเป็นการลดต้นทุนทั้งเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปติดต่อในที่ตั้งของหน่วยงาน
“หน่วยงานราชการบางส่วนที่มีความพร้อมจะเริ่มเปิดให้ใช้งาน ดิจิทัล ไอดี เพื่อให้บริการกับประชาชน ในขณะที่หน่วยงานบางส่วนอาจต้องรอให้พร้อม ซึ่งเชื่อว่าในที่สุดแล้ว หน่วยงานราชการต่าง ๆ จะพัฒนาไปสู่การใช้ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อให้บริการประชาชนในยุคที่ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล”
ในส่วนของการสร้างความรู้ความเข้าใจ “ดิจิทัล ไอดี” ที่มากขึ้นนั้น ทาง ETDA ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งแคมเปญ MEiD มีไอดี “บริการไทย…ไร้รอยต่อ” เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทาง ETDA ทำขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ “ดิจิทัล ไอดี” ให้เกิดขึ้นกับสังคม รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการใช้งาน Digital ID ผ่านกลไก Sandbox ทั้งเรื่องการเปิดบัญชีออนไลน์ การทดสอบในการประชุมผู้ถือหุ้น หรือการประชุมนิติบุคคลอาคารชุด
ดร.ชัยชนะ กล่าวว่า ตลอดการทำงานที่ผ่านมาได้มีการกระตุ้นเพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับ “ดิจิทัล ไอดี” ในไทย โดยมีเป้าหมายให้เกิดประโยชน์กับ 3 กลุ่มผู้ใช้งาน ได้แก่ ประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ สำหรับในส่วนของประชาชนกับสถาบันการเงิน จะสามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน ได้ทั้งฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงิน ซึ่งได้ช่วยลดขั้นตอนที่ยุ่งยากในการทำธุรกรรมการเงิน รวมถึงเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้นกว่าเดิม เช่น การขอรับสินเชื่อแบบออนไลน์ ได้ช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว และความปลอดภัยในการทำธุรกรรม รวมถึงช่วยลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก จากการที่ต้องไปยืนยันตัวตนที่สาขาและจุดบริการ เป็นต้น
ในขณะที่ ประชาชนกับประชาชนด้วยกันเองจะเป็นเรื่องการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่เมื่อมี “ดิจิทัล ไอดี” เข้ามาจะช่วยให้เกิดความโปร่งใส เพิ่มความปลอดภัยของการชำระเงินออนไลน์ และลดปัญหาโกงในแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ได้ดีขึ้น หรือแม้แต่ ภาคธุรกิจที่ต้องติดต่องานกับหน่วยงานรัฐ เช่น การทำเรื่องขอเปิดธุรกิจร้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งจากนี้ทุกอย่างจะทำผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งในมิติของการให้บริการหน่วยงานราชการกับประชาชนจะเกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ด้านราชการสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วมากขึ้น ส่วนประชาชนสามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐได้ผ่านทางออนไลน์ ไม่จำกัดเวลา ลดขั้นตอน ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปติดต่อที่หน่วยงาน และสามารถมีสิทธิในการเข้าถึงเอกสารสำคัญของตัวเองได้อย่างสะดวกสบายผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้การทำธุรกรรมต่าง ๆ มีความปลอดภัยและยากต่อการปลอมแปลงมากขึ้น นอกจากนี้ ในบางประเทศ การมี “ดิจิทัล ไอดี” ยังผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ซึ่งส่งผลให้กระบวนการเลือกตั้งมีความรวดเร็วและโปร่งใสมากยิ่งขึ้น
“ทุกฝ่ายจะเกิดประโยชน์อย่างมากจากการใช้งาน “ดิจิทัล ไอดี” ซึ่งทุกอย่างจะเริ่มขยับเข้าสู่การเชื่อมโยงข้อมูลกันได้อย่างไร้รอยต่อ โดยเป็นการตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ที่ใช้งาน อี-เซอร์วิส และ โมบายล์ แอปฯ มากขึ้น
พร้อมกันนี้ จากการสำรวจล่าสุดพบ คนส่วนใหญ่มองว่า ดิจิทัล ไอดี ทำให้สะดวก ลดความเสี่ยง มีกฎหมายมาดูแล และปลอดภัยเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล แต่หากเจาะลึกลงไปในช่วงอายุของผู้ที่ให้ความเห็น อายุ 42-56 ปี อยากให้มีการใช้งาน “ดิจิทัล ไอดี” เพราะเป็นกลุ่มคนที่ทำธุรกิจ และมองเห็นถึงความเสี่ยงและความเสียหายจากการทำธุรกิจออนไลน์ ขณะที่ กลุ่มเจนแซด (Gen Z) ที่คิดว่าเป็นประโยชน์ แต่ยังให้ความสำคัญน้อยกว่า ซึ่งอาจเป็นเพราะอาจจะยังไม่เชื่อมั่นและรู้สึกว่าอาจจะมีความเสี่ยงจากการยืนยันตัวตนในโลกออนไลน์” ดร.ชัยชนะ กล่าว