นายกฯ สั่งเร่งช่วยเหลือ ปชช. น้ำท่วมโคราช ย้ำทำงานเชิงรุกตาม 13 มาตรการรับมือฝน
นายกฯ ห่วงน้ำท่วมโคราช สั่ง สทนช.บูรณาการหน่วยงานป้องผลกระทบน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนตาม 13 มาตรการ ย้ำทำงานเชิงรุกพร้อมรับมือฝนทุกพื้นที่เสี่ยง พร้อมเร่งให้การช่วยเหลือประชาชน
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 65 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงฤดูฝนนี้ เนื่องจากปริมาณฝนภาพรวมในปีนี้จะมากกว่าค่าเฉลี่ย ดังนั้น ได้สั่งการให้ สทนช.บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เร่งแผนปฏิบัติการตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด รวมถึงอำนวยการและประสานหน่วยงานในพื้นที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือเพื่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุดจากกรณีที่เกิดขึ้นฝนตกหนักในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอดฤดูฝนนี้ โดยปัจจุบันแม้จะพบว่าหลายพื้นที่สถานการณ์ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ยังคงเหลือจังหวัดนครราชสีมาที่เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง ในเขตอำเภอโนนสูงจากฝนตกหนักในพื้นที่ ส่งผลให้มีน้ำท่าไหลหลากลงสู่ลำเชียงไกรตอนล่างปริมาณมาก และมีเกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำประมาณ 100 ไร่ ในขณะเดียวกัน ต้องรับน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน ที่มีปริมาณน้ำเต็มอ่างฯ โดยจะเร่งระบายน้ำดังกล่าวลงสู่แม่น้ำมูลโดยเร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม กอนช.ได้เน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่สภาพที่แข็งแรง หากจำเป็นต้องระบายน้ำเพิ่มขึ้นจากทางระบายน้ำล้น (Spillway) ต้องแจ้งเตือนพื้นที่ท้ายน้ำอย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งเป็นไปตามมาตรการที่ 4 ในเรื่องตรวจสอบสภาพความมั่นคง และซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำ รวมทั้งระบบระบายน้ำ โดย กรมชลประทาน ได้ยืนยันว่าอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง มีความมั่นคงแข็งแรงดี คาดว่าการติดตั้งบานประตูระบายน้ำที่กำลังก่อสร้างอยู่จะแล้วเสร็จภายในต้นเดือนมิถุนายนนี้ และเมื่อติดตั้งบานประตูระบายน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะทำให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกักเก็บน้ำที่ไหลมาจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน อ.ด่านขุนทด ไว้ได้ ช่วยลดและบรรเทาผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มน้ำลำเชียงไกรตอนล่างได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ โครงการชลประทานนครราชสีมาได้ทำหนังสือแจ้งไปยังจังหวัด และประชาชนด้านท้ายอ่าง ให้รับทราบสถานการณ์และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดแล้ว
สำหรับการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ อ.โนนสูง ในพื้นที่ 5 ตำบล ได้แก่ ต.จันอัด ต.เมืองปราสาท ต.ลํามูล ต.บิง และ ต.ดอนชมพู โดยเบื้องต้นพบว่า ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หน่วยทหารในพื้นที่ อปท. ได้นำเครื่องจักรเครื่องมือลดปริมาณน้ำท่วมขัง เร่งระบายน้ำ รวมถึงเข้าสํารวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้วปัจจุบันระดับน้ำลดลงแล้ว ซี่ง กอนช.จะมีการติดตามสถานการณ์ฝน เพื่อแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนรับมือ ป้องกันผลกระทบและให้การช่วยเหลือประชาชนโดยเร็ว ทั้งนี้ กอนช.ได้กำหนดแผนซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ และจำลองสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี วันที่ 27 พ.ค.นี้ และกระจายอีก 3 จุดครอบคลุมทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ จ.พิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี และภาคกลาง จ.ชัยนาท เพื่อซักซ้อมความเข้าใจของทุกหน่วยงานรองรับสถานการณ์วิกฤติในแต่ละพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตลอดฤดูฝนนี้