ม.สงขลานครินทร์ สร้างผู้ประกอบการชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์ “เคอร์คูมา ครีม”
อุทยานวิทย์ ม.สงขลานครินทร์ สร้างผู้ประกอบการชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์ "เคอร์คูมา ครีม" ครีมนวดผิวกายบรรเทาปวด ผ่อนคลาย ใช้สมุนไพรเป็นส่วนประกอบ มีนวัตกรรมการดูดซึมที่ดี ได้รับ อย.แล้ว
เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 65 รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะโฆษก อว. เปิดเผยว่า อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัด อว.ดำเนินโครงการสร้างกำลังคนและทักษะแห่งอนาคตในภูมิภาค เพื่อตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมของประเทศและโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจท้องถิ่นในภูมิภาคด้วยองค์ความรู้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม ซึ่งกำกับดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) ผ่านแผนงานการส่งเสริมการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน โดยมีผลงานเด่นที่สร้างผู้ประกอบการชุมชน คือ น.ส.ปรียาวรรณ มีนุ่น บริษัท แอล ซี เอช ริช จำกัด โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ ได้เข้าไปช่วยเหลือให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพในการทำธุรกิจ การให้ความรู้และแนวทางการจัดทำแผนธุรกิจ โดยที่ปรึกษาทางธุรกิจ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำแผนธุรกิจ โดยแผนธุรกิจ(Business plan) จะเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะใช้ในผู้ประกอบการธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นใหม่ กระทั่งผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ทำธุรกิจมาก่อนแล้วก็ตาม แผนธุรกิจ ก็เปรียบเสมือนการร่างแผนที่ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบมีแนวทางในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น
“การจัดทำแผนธุรกิจ (Business plan) ทางที่ปรึกษาได้จัดให้มีการ Workshop เพื่อนำความรู้ที่ได้ในการอบรม มาจัดทำเป็นแผนธุรกิจสำหรับผลิตภัณฑ์ เคอร์คูมา ครีม เพื่อให้ผู้ประกอบการได้วิเคราะห์ถึงรายละเอียดธุรกิจในตัวแปรที่สำคัญ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ขาย กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรคต่าง ๆ ของธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจมีความเป็นไปได้ มีความสามารถในการแข่งขัน และเกิดการบริหารจัดการที่ดีในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งภายในกิจกรรมผู้ประกอบการจะต้องจัดทำแผนธุรกิจ 1 ฉบับ และมีการติดตามงาน รวมถึงการขอคำปรึกษาเพิ่มเติมจากปรึกษาผ่านทางออนไลน์ เพื่อให้ได้แผนธุรกิจฉบับสมบูรณ์ก่อนจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่พร้อมออกสู่ตลาด” โฆษก อว.กล่าว
ทั้งนี้ ทางโครงการได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากผลิตภัณฑ์ตัวเดิม ที่เป็นแคปซูลเจลขมิ้น ที่บรรเทาอาการปวดข้อเข่า ข้อเข่าอักเสบ แต่ในผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ จะพัฒนามาเป็นครีมนวดผิวกายบรรเทาปวด ซึ่งทำให้ผู้ที่ไม่สามารถรับประทานสารกลุ่มเคอร์คูมินอยได้ เนื่องจากมีโรคที่เป็นข้อห้ามทาน สามารถใช้ผลิตภัณฑ์แทนนี้แทนได้ โดยเปลี่ยนมาใช้การทา ถู นวด แทนการรับประทาน จากนั้นมีการจดแจ้งผลิตภัณฑ์กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) โดยการจดแจ้งนั้นอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางโดยมีชื่อทางการค้าว่า “คามีล่า นูริซซิ่ง มาสสาจ บอดี้ ครีม” “Camela nourishing massage body cream” เลขที่จดแจ้ง 13-1-6400009485 ประเภทเครื่องสำอาง นวด/ผิวกาย/ไม่ต้องล้างออก โดยผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบเน้นการผ่อนคลาย โดยใช้สีเหลืองเพื่อบอกสมุนไพรที่ใช้เป็นส่วนประกอบ มีการบอกถึงการใช้นวัตกรรมการดูดซึมที่ดี ขนาดบรรจุ 50 กรัม โดยขณะนี้ มีการวางจำหน่ายแล้ว
“จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์นั้น ทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้รับความรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง และที่สคัญเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนในท้องถิ่น” รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าว