ตร.รวบแก๊งจีนไต้หวัน หลอกตุ๋นเหยื่อลงทุนเงินดิจิทัล
ตำรวจ PCT ร่วมกับ สตม. รวบแก๊งจีนไต้หวัน หลอกตุ๋นเหยื่อลงทุนเงินดิจิทัล ใช้ไทยเป็นฐานปฏิบัติการ ผู้เสียหายชาวจีนไต้หวันกว่า 50 ราย
วันที่ 31 พ.ค. 2565 เวลา 10.00 น. พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT: Police Cyber Taskforce, พล.ต.ท.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. รอง ผอ.PCT, พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธ์ ผบช.สตม., พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.ภ.8 /หน.ชุดปฎิบัติการที่ 1 PCT พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.ธนิต ไทยวัชรามาศ ผบก.สส.สตม. รอง หน.ชุดปฏิบัติการที่ 1 PCT ร่วมแถลงผลการจับกุมรวบแก๊งจีนไต้หวัน หลอกลงทุนคริปโตเคอเรนซี ใช้ไทยเป็นฐานปฏิบัติการ ผู้เสียหายชาวจีนไต้หวันกว่า 50 ราย
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. สั่งการให้เร่งปราบปรามอาชญากรรมทางออนไลน์ ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน รวมทั้งกลุ่มคนต่างชาติที่เข้ามาแฝงตัวก่ออาชญากรรมในประเทศไทย คดีนี้ ชุดปฏิบัติการที่ 1 PCT นำโดย พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.ภ.8 ร่วมกับ พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.ธนิต ไทยวัชรามาศ ผบก.สส.สตม. ตรวจพบชาวจีนไต้หวันกลุ่มหนึ่งมีพฤติการณ์น่าสงสัย จากการตรวจสอบข้อมูลทราบว่า ในกลุ่มคนดังกล่าวมีบุคคลที่มีหมายจับจากต่างต่างประเทศ จำนวน 2 คน ในความผิดฐาน "ฉ้อโกงประชาชนผ่านโทรศัพท์และระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หรือ คอลเซ็นเตอร์”
ชุดสืบสวนเฝ้าติดตามจนทราบว่า คนกลุ่มนี้พักอาศัยอยู่ตึกแถว ในเขตประเวศ กรุงเทพฯ โดยจะเก็บตัวอยู่แต่ภายในตึกทั้งวันทั้งคืนไม่ออกไปไหนเป็นที่น่าสงสัย
ต่อมา วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ได้นำหมายค้นศาลอาญาพระโขนง เข้าตรวจค้นพบตัวผู้กระทำความผิดพร้อมของกลาง ดังนี้
1. ผู้ต้องหา จำนวน 6 ราย (เป็นบุคคลตามหมายจับจีนไต้หวัน จำนวน 2 ราย)
2. คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก จำนวน 7 เครื่อง
3. โทรศัพท์มือถือ 45 เครื่อง
รอง ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบข้อมูลในคอมพิวเตอร์โน๊ตบุคและโทรศัพท์มือถือพบว่า กลุ่มผู้ต้องหามีพฤติการณ์ร่วมกันหลอกลวงผู้อื่น (คนจีนไต้หวัน) ในรูปแบบหลอกให้ร่วมลงทุนเหรียญสกุลเงินดิจิทัล และรับแลกเปลี่ยนเงินผิดกฎหมาย มีการแบ่งหน้าที่กันทำและใช้บัญชีธนาคารสัญชาติจีนเป็นเส้นทางการเงินในการกระทำความผิด จึงได้จับกุมตัวผู้ต้องหาที่ 1-4 ในความผิดฐาน “เป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต” ผู้ต้องหาที่ 5 กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และผู้ต้องหาที่ 6 ถูกเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร นำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ด้าน พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ ผบช.สตม. กล่าวว่า หลังจากผู้ต้องหาทั้งหมดคดีถึงที่สุดแล้ว สตม. จะทำการเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร และผลักดันออกนอกประเทศ รวมถึงจะบันทึกข้อมูลบุคคลต้องห้ามไม่สามารถเข้ามาในราชอาณาจักรได้อีกต่อไป
พล.ต.ท.กิตติ์รัฐ ผู้ช่วย ผบ.ตร. และหัวหน้าคณะทำงานสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ กล่าวด้วยว่า สถิติคดีออนไลน์ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ ผบ.ตร. สั่งให้มีศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.- 29 พ.ค.65 พบว่า มีผู้เสียหายแจ้งความแล้ว 30,029 ราย แบ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับ 1.ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า 10,603 คดี 2.หลอกให้ทำงานออนไลน์ (เช่น ให้รีวิวสินค้า,กดไลท์ Tiktok, กดไลท์สินค้า) 3,666 คดี 3.หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน 2,993 คดี 4.ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว (Call Center) 2,299 คดี 5. หลอกให้รักแล้วลงทุน (Hybrid scam) 1,371 คดี 6. หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ 1,235 คดี 7. ปลอมโปรไฟล์เพื่อหลอกยืมเงิน 912 คดี 8. แชร์ลูกโซ่ 813 คดี 9. ซื้อสินค้าแต่ได้ไม่ตรงตามโฆษณา (ไม่ตรงปก) 440 คดี 10. หลอกให้รักแล้วโอนเงิน 294 คดี เห็นได้ว่าสถิติคดีออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงอยากฝากให้ประชาชน ติดตามจาก เพจ PCT Police เพื่อรู้ทันความคิดของคนร้าย ซึ่งคณะทำงานจะผลิตสื่อหรือคอนเท้นท์เตือนภัยในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนรู้ทันและไม่ตกเป็นเหยื่อ
รอง ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใย สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งปราบปรามอาชญากรรมทางออนไลน์ ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั้งคนไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้หากพบเบาะแสสามารถแจ้งได้ที่สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ ศูนย์ PCT 081-8663000 หรือ 191 ทั่วประเทศ ผู้เสียหายสามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่ www.thaipoliceonline.com