จ่อหมายจับเพิ่ม นายทุน-ผู้บงการ คดีใช้รถพยาบาลขนยาบ้า ลุยเส้นทางเงิน
ตำรวจจ่อออกหมายจับ 3 คนร้าย ใช้รถพยาบาลขนยาบ้าข้ามจังหวัด พบรับจ้างขนยาชายแดนภาคอีสาน-ภาคกลาง ค่าจ้างสูงถึง 3 แสนบาท เร่งขยายผลนายทุน-ผู้บงการ พร้อมตรวจเส้นทางเงิน ใครเกี่ยวข้องถูกดำเนินคดีหมดรวมถึงคนพาหนีด้วย
จากเหตุการณ์ระทึก รถพยาบาลของอาสากู้ภัยสังกัดมูลนิธิกู้ภัยแห่งหนึ่ง ลักลอบขนยาบ้า เปิดสัญญาณไซเรนเสียงดัง เพื่อเปิดทางหลบหนีตำรวจที่ไล่ล่าระยะประชิดข้ามจังหวัด ตั้งแต่สระบุรี อยุธยา ปทุมธานี ก่อนจะจนมุมจอดรถทิ้งไว้ย่านมีนบุรี พร้อมกับโยนของกลางยาบ้ากว่า 2.25 ล้านเม็ด ทิ้งไว้ในพงหญ้าข้างทาง จากนั้นมีรถกระบะคล้ายรถกู้ภัยขับตามมา คาดช่วยพาหลบหนี
คืบหน้าล่าสุดทางด้าน พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุม นายสมพงษ์ อายุ 23 ปี และนายพิทวัส อายุ 23 ปี ที่ทำหน้าที่ขับรถกระบะตู้ทึบนำทางได้ ส่วนนายจิรายุทธ และ น.ส.ทิพวรรณ 2 สามีภรรยาเจ้าของรถพยาบาล และนายชาญณรงค์ หรือไอซ์ คนขับรถกระบะกู้ภัยที่พาหลบหนี อยู่ระหว่างติดตามตัวจับกุม และรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอศาลออกหมายจับ ทั้ง 3 ราย ซึ่งขณะนี้ ตำรวจตรวจยึดรถที่ใช้พาหลบหนีได้แล้ว ในพื้นที่ สน.จรเข้น้อย กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ เบื้องต้นมีผู้ต้องหาที่ร่วมขบวนการ รวม 5 คน ซึ่งตำรวจจะดำเนินข้อหา เสพติดให้โทษกระทำผิดฐาน "ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้าหรือเมทแอมเฟตามีน) ไว้ครอบครองโดยผิดกฎหมายอันก่อให้เกิดการแพร่กระจายในหมู่ประชาชน 4 ราย ส่วน 1 รายที่พาหลบหนี อยู่ระหว่างพิจารณาข้อหาให้ที่พักพิง สนับสนุนช่วยเหลือผู้ก่อเหตุรุนแรง
"พฤติการณ์ของคนร้าย พบว่า ก่อเหตุมาแล้วหลายครั้ง โดยจะทำหน้าที่เป็นชุดรับจ้างลำเลียงยาเสพติด จากชายแดนภาคอีสาน เข้ามาส่งและจำหน่ายในพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะกรุงเทพ และปริมณฑล ได้ค่าจ้างครั้งละ 1.5-3 แสนบาท ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. นายจิรายุทธ และนางสาวทิพวรรณ 2 ผัวเมีย ได้ขับรถพยาบาลฉุกเฉินข้ามเขต จากกรุงเทพไปรับยาบ้าที่ จ.เลย และมีรถกระบะตู้ทึบ นำทางกลับเข้ากรุงเทพอีกครั้ง"
หลังจากนี้ ตำรวจจะขยายผลไปยังนายทุน หรือผู้บงการที่สั่งการ 2 ผัวเมีย และตรวจสอบเส้นทางการเงิน หากพบใครมีส่วนเกี่ยวข้องก็จะดำเนินการตามกฎหมายทั้งหมด
ขณะเดียวกัน วันนี้ ตำรวจยังได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข ตัวแทนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ผู้บังคับการ 9 จังหวัดในกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 และมูลนิธิกู้ภัย 9 จังหวัด มาวางแนวทางจัดระเบียบรถพยาบาลฉุกเฉิน และรถกู้ภัย เนื่องจากมีบางส่วนที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง สพฉ. ทำให้ไม่สามารถดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในรายละเอียด จะให้แต่ละหน่วยงานเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยมีตำรวจเป็นตัวกลาง เพื่อให้ทุกฝ่ายทำงานประสานสอดคล้อง เป็นแนวทางเดียวกัน