ตรวจนโยบาย "สวน 15 นาที" คืออะไร ทำไม "ชัชชาติ" ใช้หาเสียง "ผู้ว่าฯกทม."
ตรวจนโยบาย "สวน 15 นาที" คืออะไร วางเงื่อนไขระยะทางเข้าถึงแค่ไหนให้คนกรุงเทพฯ ทำไม "ชัชชาติ" เลือกใช้หาเสียง "ผู้ว่าฯกทม."
"ผมเป็นคนกรุงเทพฯ ตั้งแต่เกิด ใช้ชีวิตและพบเจอปัญหาเช่นเดียวกัน ผมมั่นใจว่าจะสามารถสร้างความร่วมมือร่วมใจ ร่วมกันทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับ ทุกคน"
หนึ่งในประโยคหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. สำหรับ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ซึ่งประกาศไว้ในเว็ปไซต์ www.chadchart.com
แต่หลังจากนั้น 22 พ.ค.2565 "ชัชชาติ" ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ก็ไม่ทำให้ชัชชาติเว้นวรรคการลงพื้นที่ เพื่อรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการ แต่ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.รายนี้ ยังลงพื้นที่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสำรวจพื้นที่สวนสาธารณะ และพื้นที่รกร้างในกรุงเทพฯ
ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีทั้งหมด 40 สวนสาธารณะอยู่ในเขตต่างๆ อาทิ เขตตลิ่งชัน จตุจักร ลาดพร้าว บางพลัด ดอนเมือง มีเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ไปจนถึง 500 ไร่ โดยสวนสาธารณะใกล้บ้านของ "ชัชชาติ" เป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียง ตามแนวคิดกรุงเทพ 15 นาที ซึ่งเป็นนโยบายที่คนกรุงเทพฯ พูดถึงในอันดับต้นๆ
สำหรับ "กรุงเทพ 15 นาที" ถูกกำหนดไว้ใน 214 นโยบายใช้เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. โดยพื้นที่สวนบางกอกใหญ่ ซึ่ง กทม.เช่าพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ในการสร้างสวนสาธารณะ กลายเป็นพื้นที่จุดแรกๆ ที่ "ชัชชาติ" ลงไปสำรวจภายหลังได้รับการเลือกตั้ง
หากตรวจสอบไปที่นโยบายในหัวข้อ "สิ่งแวดล้อมดี" ในหมวด "สวน 15 นาทีทั่วกรุง" นั้น "ชัชชาติ" ได้ระบุถึงสิ่งที่คนกรุงเทพฯ จากนโยบายนี้ว่า ได้พื้นที่สาธารณะที่ทำกิจกรรมได้กระจายตัวอยู่ทุกที่ และสามารถเข้าถึงได้ด้วยการเดินภายใน15 นาที โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ปัจจุบันการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะเปิดโล่ง (outdoor public space) หรือที่ทำกิจกรรมออกกำลังหรือพักผ่อนหย่อนใจได้มีอยู่อย่างค่อนข้างจำกัด ทั่วทั้งกรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะหลัก 40 แห่ง
นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สีเขียวอื่นๆ ที่ใช้งานได้กระจายอยู่บ้าง อย่างไรก็ตามปรากฏข้อมูลไม่แน่ชัดเนื่องจาก กทม.ทำฐานข้อมูลพื้นที่สีเขียวโดยจัดกลุ่มเป็นสวน 7 ประเภท ได้แก่ สวนเฉพาะทาง สวนชุมชน สวนถนน สวนระดับเมือง สวนระดับย่าน สวนหมู่บ้าน สวนหย่อมขนาดเล็ก สวนไม่ได้ระบุประเภท รวมพื้นที่ 41,327,286.489 ตร.ม.
การจัดกลุ่ม "พื้นที่สีเขียว" ในลักษณะนี้ไม่สามารถแยกได้ว่าสวนไหนใช้งานได้หรือไม่ได้ เช่น สวนถนน นับรวมสวนไหล่ทางสวนเกาะกลาง หรือสวนหมู่บ้าน ซึ่งประชาชนอาจไม่สามารถเข้าใช้ได้หรือเข้าใช้ได้น้อย แต่มีพื้นที่รวมกันมากถึง 18,602,682.9 ตร.ม. คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่สีเขียวทั้งหมด
เพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่พักผ่อนได้ใกล้บ้าน กทม. จึงมีนโยบายทำให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สาธารณะเปิดโล่งได้ด้วยการเดิน ดังนี้
• การเพิ่มพื้นที่ใหม่
- กำหนดเป้าหมายการเข้าถึงของประชาชนภายในระยะ 800 เมตร หรือระยะการเดิน 10-15 นาที
- หาพื้นที่พัฒนา pocket park ขนาดเล็กในแต่ละพื้นที่โดยศึกษาพื้นที่ของทั้ง ราชการ และเอกชน อาทิ สถานที่ราชการ แปลงที่ดินว่าง พื้นที่รอการพัฒนา พื้นที่รกร้างซึ่งติดขัดข้อกฎหมาย พื้นที่จุดบอดต่าง ๆ ของโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่ระยะถอยร่นพื้นที่ว่างหน้าอาคารขนาดใหญ่ รวมถึงการเปิดให้ประชาชนร่วมเสนอพื้นที่ศักยภาพน่าพัฒนา
- อาศัยกลไกทางภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจูงใจให้เอกชนมอบที่ดินให้ กทม.พัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่องดเว้นการเสียภาษี
- เปิดพื้นที่นอกอาคารของสถานที่ราชการ อาทิ โรงเรียน สำนักงานต่างๆ ให้ประชาชนเข้าใช้ได้บางเวลา
- ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สาธารณะบนที่ดินเอกชน (privately owned public space: POPS) ผ่านมาตรการลดหย่อนภาษีจากการสร้างสาธารณประโยชน์ การหาภาคีในการร่วมพัฒนาพื้นที่ หรือการกำหนดข้อตกลงในเชิงการบริหารจัดการเช่น ดูแลต้นไม้และทำความสะอาดพื้นที่โดย กทม. หรือการให้บริการสาธารณูปโภคโดยภาครัฐ เป็นต้น
ควบคู่กับการเพิ่มจำนวนสวน กทม.จะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของสวน โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลและจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมเพื่อการพักผ่อนและการสันทนาการของประชาชน
• การพัฒนาพื้นที่เดิม
- พัฒนาลานกีฬาทั้ง 1,034 แห่งให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เนื่องด้วยเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีการกระจายตัวมากที่สุด และกระจายตัวเข้าไปในแหล่งชุมชนอยู่เดิมแล้ว
- เพิ่มมิติด้านสิ่งแวดล้อมให้กับพื้นที่เดิมเช่นลานกีฬา ด้วยการเพิ่มไม้พุ่ม ไม้ประดับ หรือสวนแนวตั้ง เพื่อเพื่มมิติการใช้งานและสภาพแวดล้อมที่ร่มรื่น
• การพัฒนาฐานข้อมูล
- ปักหมุดทำฐานข้อมูลสวน 15 นาที โดยเป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมสวนที่ประชาชนสามารถใช้งานได้จริง และเปิดเป็น open data