เผยความหมาย ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง
สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เผยแพร่ภาพและความหมายตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90พรรษา 12 สิงหาคม 2565 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
วันนี้ (14 มิ.ย.65) เพจสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เผยแพร่ภาพและความหมาย ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม2565 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ออกแบบโดย นายเกียรติศักดิ์ สุวรรณพงศ์ จิตรกรชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มจิตรกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ว่า
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเคียงคู่ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชจริยวัตรงดงาม พระองค์ทรงเป็นที่รักและเทิดทูนยิ่งของปวงชนชาวไทย นำมาสู่แรงบันดาลใจในการออกแบบตราสัญลักษณ์ ซึ่งทุกรายละเอียดมีความหมาย
อักษรพระนามาภิไธย ส.ก.อยู่ภายในกรอบรูปหัวใจพื้นสีฟ้า อักษร “ส” สีฟ้าเป็นสีประจำวันพระราชสมภพ อักษร “ก” สีขาว เป็นสีเดชของวันพระราชสมภพ พื้นกรอบสีชมพูลายดอกมะลิ สีชมพูเป็นสีแห่งศรีของวันพระราชสมภพ การให้สีดูละมุนละไม สื่อความเป็นผู้หญิงและพระเมตตา
ดอกไม้มะลิเป็นดอกไม้มงคลสัญลักษณ์วันแม่แห่งชาติ ทรงเป็นแม่ของแผ่นดิน ด้านบนเป็นพระมหามงกุฎภายในประดิษฐานพระแสงจักรและพระแสงตรี สื่อถึงทรงอยู่ในพระบรมราชจักรีวงศ์
ขนาบซ้าย ขวา พระมหามงกุฎด้วยพระสัปตปฎลเศวตฉัตร ฉัตรขาว 7 ชั้น เป็นฉัตรประกอบพระราชอิสริยยศของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
“การนำดอกมะลิมาร้อยเรียงเป็นมาลัยลายเกลียวรูปหัวใจรอบอักษรพระนามาภิไธย ส.ก. สื่อถึงการร้อยเรียงดวงใจอย่างแน่นแฟ้นกลมเกลียวในโอกาสมหามงคล 90 พรรษา ถวายพระผู้ทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจพสกนิกรไทยทั้งชาติ และผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐต่อลูก คือ ชาวไทยทุกหมู่เหล่าให้พ้นทุกข์ยาก
รูปลายหงส์ประคองฉัตร ซ้าย ขวา หมายถึง พระสิริโฉมสง่างามสูงค่าดังหงส์ ลวดลายไทย หมายถึงพระปรีชาด้านศิลปวัฒนธรรม พระราชทานกำเนิดศิลปาชีพ และทรงส่งเสริมเอกลักษณ์ชาติไทยให้แพร่หลายในไทยและต่างประเทศ
เลขไทย ๙๐ ภายใต้มาลัยหัวใจ สื่อถึงเลขมงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 90 พรรษา เป็นความภาคภูมิใจของจิตรกรไทยคนหนึ่งได้ถวายงานอย่างสุดความสามารถ ตราสัญลักษณ์ที่สร้างสรรค์ขึ้นได้นำไปใช้จัดงานเฉลิมพระเกียรติต่าง ๆ ทั้งยังร่วมอนุรักษ์จิตรกรรมไทยโบราณผสมผสานศิลปะสมัยใหม่สู่ตราสัญลักษณ์ที่มีความร่วมสมัย ไม่ละทิ้งเอกลักษณ์ของชาติไทย” นายเกียรติศักดิ์ กล่าว
ข้อมูลจาก นายเกียรติศักดิ์ สุวรรณพงศ์ จิตรกรชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มจิตรกรรม