ลำปาง เตรียมพร้อมแผนปฏิบัติการอุทกภัยดินโคลนถล่ม
ลำปางเตรียมพร้อมแผนปฏิบัติสถานการณ์อุทกภัยดินโคลนถล่ม ลดการสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้น้อยที่สุด
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมจัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ จัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัย กำหนดบทบาทภารกิจของแต่ละหน่วยงานให้สอดคล้องเหมาะสม พร้อมในการที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ทั้งในระยะก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และภายหลังการเกิดภัยพิบัติ ทั้งนี้เพื่อจะลดการสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้น้อยที่สุด
ล่าสุด ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้เป็นประธานนำทีมหัวหน้าหน่วยงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากหน่วยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่อำเภอวังเหนือร่วมประชุมทำ Workshop กับหน่วยงานท้องถิ่นท้องที่ที่มีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม โดยพื้นที่อำเภอวังเหนือมีพื้นที่เสี่ยงภัยสูงมาก ระดับสีแดงอยู่ในพื้นที่ 3 ตำบล ทั้งตำบลร่องเคาะ วังซ้าย และวังทอง รวม 9 หมู่บ้าน
ในการจัดเตรียมแผนประสบภัยครั้งนี้ ได้เน้นกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของสถานที่กักเก็บน้ำ พนังกั้นน้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ตรวจสอบจุดแจ้งเตือนภัย เตรียมสถานที่ที่จะจัดตั้งเป็นศูนย์บัญชาการเหตุการณ์เมื่อเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติ ทั้งศูนย์ควบคุมสั่งการ และศูนย์อำนวยการหลักในการระดมกำลังพล รวมถึงเตรียมจัดชุดปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนไว้อย่างครอบคลุมรอบด้าน
โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้ลงพื้นที่ร่วมกับตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามการแก้ไขปัญหาอ่างเก็บน้ำแม่เฮียว ในเขตท้องที่ตำบลวังเหนือ อำเภอวังเหนือ ที่เกิดการชำรุด โดยเป็นผลกระทบสืบเนื่องมาจากพายุซินลากู พัดถล่มพื้นที่เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ทำให้เกิดฝนตกหนัก และอ่างเก็บน้ำแม่เฮียว ไม่สามารถรับน้ำได้ไหวจนน้ำล้นทะลักสันเขื่อน กัดเซาะพนังกั้นน้ำเสียหายทำให้ตะกอนดินจำนวนมากไหลเข้าอ่างจนเกิดการตื้นเขินเก็บน้ำได้น้อยลง รวมถึงอาคารควบคุมประตูระบายน้ำเกิดการชำรุดไม่สามารถปิดกั้นน้ำได้สนิท จำเป็นที่จะต้องได้รับการซ่อมแซมแก้ไขปรับปรุง ทั้งในส่วนของแนวสันเขื่อน การขุดลอกเพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ การซ่อมแซมอาคารควบคุมประตูระบายน้ำ รวมถึงปรับปรุงระบบสปริลเวย์กำจัดวัชพืช “ไมยราบยักษ์” ไม่ให้กีดขวางทางน้ำ
เบื้องต้นจะได้ขอความร่วมมือใช้งบประมาณ จากองค์การบริหารส่วนจังหวัด และเทศบาลตำบลวังเหนือ เข้ามาดำเนินแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ผ่านพ้นวิกฤตช่วงฤดูฝนนี้ไปก่อน ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวจะได้ให้หน่วยงานกรมชลประทานเข้ามาดำเนินการสำรวจออกแบบประมาณค่าใช้จ่าย ซึ่งจะเป็นโครงการใหญ่ขอใช้งบประมาณจังหวัดเข้ามาดำเนินการ โดยจะมีการนำเข้าแผนพัฒนาในปี 2567 ต่อไป