ทำไม่ทัน! อาชีพเผาถ่านขายออเดอร์พุ่ง "ไม้-ขี้เลื่อย" ปรับราคาขึ้น
อาชีพเผาถ่านขายออเดอร์พุ่งทำไม่ทัน ขณะที่ราคาไม้ ขี้เลื่อย มีการปรับราคาขึ้น ทำให้ราคาถ่านต้องปรับตาม
เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 65 สถานการณ์ราคาพลังงานราคาปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะแก๊สหุงต้ม ส่งผลให้ประชาชนทั่วไป รวมทั้งพ่อค้าแม่ค้าและธุรกิจที่ต้องใช้แก๊สหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงต่างปรับตัวหันไปใช้พลังงานจากแหล่งอื่นกันมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และต้นทุนการผลิต ทำให้ธุรกิจเผาถ่านขายกลับมาคึกคักอย่างมาก ทำไม่ทันออเดอร์ที่สั่งเข้ามาจำนวนมาก ที่สำคัญพบว่าบางแห่งเจ้าของเตาถ่าน กลับสู้ต้นทุนการผลิตไม่ได้ เพราะทั้ง ไม้ ขี้เลื่อย และน้ำมันสำหรับเลื่อยไม้มีราคาสูงขึ้น ทำให้ไม่มีเงินทุนมากพอที่จะนำมาหมุนเวียน สำหรับการซื้อวัตถุดิบที่จะนำมาเผาถ่าน ทั้งไม้ และขี้เลื่อยจากโรงงานแปรรูปไม้ยางพารา และลานเทมีการปรับราคาสูงขึ้น แต่ราคาถ่านก็มีการปรับราคาขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งถ่านก้อนเล็ก จากกระสอบละ 380 บาท ปรับขึ้นเป็นกระสอบละ 400 บาท ส่วนถ่านก้อนใหญ่ จากกระสอบละ 400 บาท ปรับเป็นกระสอบละ 440 บาท
โดยที่บ้านควนห้วยนาง หมู่ 1 ต.หนองช้างแล่น อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ของนางสาวสมปอง ศรีตะเขต อายุ 55 ปี ชาวจ.ร้อยเอ็ด ที่มาเช่าพื้นที่สำหรับการทำธุรกิจเผาถ่านขาย ซึ่งมีเตาเผาถ่านอยู่ 2 ประเภท คือ การเผาลาน ราคาค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาท โดยใช้ปีกไม้ยางพาราแปรรูป และขี้เลื่อยเป็นวัตถุดิบหลักในการเผาถ่าน และเผาด้วยเตาอบ ค่าเช่าเดือนละ 10,000 บาท ซึ่งใช้ไม้เบญจพรรณท่อนขนาดใหญ่เป็นวัตถุดิบในการเผา โดยพบว่าคนงานเร่งมืออย่างเต็มที่ในการเผาถ่านรอบใหม่ เพื่อส่งให้ทันตามออเดอร์ของลูกค้าที่สั่งเข้ามาเป็นจำนวนมาก จนทำไม่ทัน
ทางด้านนางสาวสมปอง ศรีตะเขต เจ้าของเตาเผาถ่าน กล่าวว่า ตนเองเป็นคนจ.ร้อยเอ็ด แต่ทำงานเป็นลูกจ้างเตาเผาถ่านมาก่อนเป็นเวลาประมาณ 40 ปี และลาออกมาทำธุรกิจของตนเองมาได้ประมาณ 7 เดือนเท่านั้น แต่ตลาดดีมากหลังจากราคาแก๊งสูงขึ้นโดยยุ้งใหญ่ในกรุงเทพฯโทรศัพท์เข้ามาสั่งถ่านเป็นจำนวนมากรับโทรศัพท์ไม่ทัน แต่ตนเองรับออเดอร์ไม่ได้ ผลิตไม่ทัน โดยแต่ละเดือนละสามารถผลิตได้เต็มที่เพียงประมาณ 3 คันรถบรรทุกสิบล้อเท่านั้น โดยบรรทุกได้คันละ 389 กระสอบ เพราะพื้นที่และเตามีจำกัด ไม่มีเงินทุนจะเพิ่มจำนวนเตา ขณะที่ราคาไม้จากโรงงาน รวมทั้งขี้เลื่อยมีการปรับราคาขึ้นทั้งหมด โดยปีกไม้ ราคาเดิมกก.ละ 50 – 75 สตางค์ หรือตันละ 500 – 750 บาท แต่ขณะนี้ปรับขึ้นเป็นกก.ละ 1 บาทหรือตันละ 1,000 บาท ส่วนไม้ท่อน ราคาเดิมกก.ละ 75 สตางค์ หรือตันละ 750 บาท ขณะนี้ปรับราคาขึ้นมาเป็นกก.ละ 1.20 – 1.40 สตางค์ หรือตันละ 1,200 – 1,400 บาท และถ้าช่วงฝนตกก็จะมีการปรับราคาไม้ขึ้นอีก เพราะเข้าตัดไม้ในแปลงไม่ได้ ส่วนขี้เลื่อยก็ปรับราคาขึ้นเช่นกันเป็นตันละ 1,000 บาท
โดยเจ้าของลานเท และโรงงานบอกจำเป็นต้องปรับราคาเพราะน้ำมันขนส่งแพง โดยทางเตาถ่านก็ยังมีค่าน้ำมันดีเซลที่นำมาใช้เลื่อยไม้ด้วย รวมทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ทำให้มีการปรับราคาขายถ่านด้วย โดยถ่านก้อนเล็กจากไม้ยางพารา จากกระสอบละ 320 บาท ปรับขึ้นเป็นกระสอบละ 400 บาท ส่วนถ่านก้อนใหญ่จากไม้ท่อนขนาดใหญ่ จากเดิมกระสอบละ 400 บาท ปรับเป็นกระสอบละ 440 บาท ซึ่งทั้งนี้ แต่ละวันมีเจ้าของยุ้งจากกรุงเทพฯ โทรเข้ามาต้องการถ่านไม่ขาดสาย รวมทั้งพ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่ แต่ทางเตาผลิตได้จำกัด และไม่สามารถขายปลีกได้ ต้องส่งยุ้งประจำที่กรุงเทพฯเท่านั้น โดยที่ทางยุ้งจะส่งรถบรรทุกมารับด้วยตนเอง ทั้งนี้ หลังจากที่ปัญหาราคาแก๊สเพิ่มสูงขึ้นนั้นทำให้ถ่านเป็นที่ต้องการอย่างมากในท้องตลาด จนทำไม่ทัน เพราะตนเองผลิตได้เต็มที่เพียงเดือนละ 3 คัน รถบรรทุก 10 ล้อ โดยบรรทุกได้คันละ 389 กระสอบ แต่ถ้าความต้องการที่โทรศัพท์เข้ามาสั่งซื้อคิดว่าเดือนละ 10 – 20 คันรถบรรทุก หรือมีเท่าไรตลาดก็เอาทั้งหมด ไม่อั้น ประเภทเต็มออกๆ เพราะกรุงเทพฯต้องการถ่านจำนวนมาก
นางสาวสมปอง กล่าวอีกว่า แต่ทั้งนี้ ปัญหาที่ประสบคือ ไม่มีเงินทุนหมุนเวียน เพราะต้องใช้เงินสดทั้งหมดในการซื้อไม้ ขี้เลื่อย ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก แรกเริ่มตนลงทุนเพียง 300,000 บาท เท่านั้น ทำเตาลาน และเตาอบ และเป็นเงินทุนซื้อไม้ แต่ขณะนี้ถ้ามีเงินทุนหมุนเวียนมากพอ สามารถผลิตได้มาก และมีเงินจ่ายคืนได้แน่นอน เพราะซื้อขายด้วยเงินสด วอนรัฐหากมีแหล่งเงินกู้ขอให้ช่วยธุรกิจประเภทนี้ เพราะช่วยชาวบ้านที่ทำธุรกิจนี้ และช่วยประชาชนประหยัดพลังงานด้วย ซึ่งหากมีแหล่งเงินกู้ก็พร้อมจะกู้มาลงทุนเพิ่ม ซึ่งขณะนี้การทำธุรกิจเผาถ่านไม่มีทางขาดทุนและมีความต้องการเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้ามีทุนจำนวนมากก็สามารถขยายเตาและผลิตได้เป็นจำนวนมาก เพราะตลาดต้องการจำนวนมาก และพบว่าขณะนี้เตาหลายเตาต้องหยุดกิจการ เพราะขาดเงินทุนหมุนเวียน