'ประยุทธ์'เยี่ยมชมโครงการ บพท.ยกระดับเมืองต้นแบบ สร้างเศรษฐกิจฐานดิจิทัล
"ประยุทธ์"หนุนพัฒนาเมืองด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับการบริหารเมืองและสร้างนักลงทุนสตาร์ทอัพใน 5 เมืองต้นแบบของ บพท.กระทรวง อว.โดยมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร่วมผลักดันโครงการ นายกฯยกเมืองแม่เหียะต้นแบบการพัฒนาเมืองด้วยดิจิทัล ส่งเสริมราชการทันสมัย
วานนี้ (29 มิ.ย.)พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานของเทศบาลเมืองแม่เหียะ ต้นแบบท้องถิ่นดิจิทัล และรับฟังความก้าวหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจและการบริหารระดับเมืองด้วยดิจิทัล
ในโอกาสนี้หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) บพท.นำเสนอความก้าวหน้าในการพัฒนาเมืองด้วยดิจิทัลทั้ง 5 เมือง ประกอบด้วย
1.โครงการเมืองต้นแบบการประยุกต์และส่งเสริมการการใช้ Blockchain Digital transformation platform ในการพัฒนาเมือง เมืองต้นแบบแม่เหียะ Maehia Metaverse จ.เชียงใหม่
2.โครงการจาก Startup Project ต้นแบบส่งเสริมการการใช้ Web3 Digital platform ในการพัฒนาเมืองภาคเศรฐกิจ จ.ขอนแก่น
3.โครงการ Startup Project ต้นแบบส่งเสริมการการใช้ Web3 Digital platform ในการพัฒนาเมืองภาคสิ่งแวดล้อม จ.ระยอง
4.โครงการ Startup Project ต้นแบบส่งเสริมการการใช้ Web3 Digital platform ในการพัฒนาเมืองภาคการเกษตร จ.นครราชสีมา
5.โครงการ Startup Project ต้นแบบส่งเสริมการการใช้ Web3 Digital platform ในการพัฒนาเมืองภาคการท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต
นายกิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวว่า บพท.ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจนเกิดบริษัทพัฒนาเมืองขึ้นมาแล้ว 20 เมือง เพื่อพัฒนาเมืองให้ตอบความต้องการของท้องถิ่นให้สอดคล้องกับภูมิสังคมของแต่ละแห่ง ตลอดจนการริเริ่มนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงานจนได้รับการยอมรับ เช่น เทศบาลเมืองแม่เหียะ ซึ่งได้รับรางวัลอย่างต่อเนื่องจนล่าสุดได้รับรางวัลต้นแบบท้องถิ่นดิจิทัล
เทศบาลเมืองแม่เหียะนำดิจิทัลมาใช้ในหลายมิติเช่น แผนที่ 3D Model ซึ่งเป็นชั้นข้อมูลและข้อมูลเปิด (Open Data) ของเทศบาลเมืองแม่เหียะ มีการนำเสนอข้อมูลในแบบแผนที่ 3D มี dashboard เพื่อบริการประชาชน ริเริ่มการใช้ Blockchain ในการบริการสาธารณะ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม บพท.และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เห็นโอกาสในการต่อยอดงานเพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนา เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มการระดมทุนอย่างมีส่วนร่วม การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Transformation) ของเมือง เป็นต้น
“การเข้ามาของยุค Web3.0 ทำให้เกิดโอกาสที่ไม่สิ้นสุดในอนาคต เราเห็นโอกาสที่การใช้ดิจิทัลจะขยายจากการบริหารงานไปสู่การสร้างยูนิคอร์น หรือบริษัทที่มีรายได้เกินพันล้านเหรียญด้วยดิจิทัล ซึ่งเป็นไปได้มากและมีตัวอย่างที่ทำได้แล้วในประเทศ”
ในขณะเดียวกัน บพท.ร่วมกับกระทรวงดิจิทัล ฯ จัดโครงการ “Chiangmai Web3 City and Metaverse เปิดสปอตไลต์ส่องหา UNICORN” ให้เป็นหนึ่งในการต่อยอดการพัฒนาเมืองในเขตเทศบาลเมืองแม่เหียะ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิทั้งด้านตลาด Bitcoin และ นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจนเป็นยูนิคอร์นของไทย มาให้ความรู้ความเข้าใจแก่เทศบาลและท้องถิ่นต่าง ๆที่มาร่วมรับฟัง
“ในตอนนี้เราเห็นว่า มีสามเมือง คือ เชียงใหม่ ภูเก็ตและระยองที่มีความพร้อมก่อน ซึ่ง บพท.ก็จะยกเป็นพื้นที่วิจัยเชิงปฏิบัติงานสนับสนุนการใช้ Blockchain อย่างจริงจังโดยร่วมมือกันกับกระทรวงดิจิทัล ฯ ก่อนที่จะก้าวไปสู่ด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะการส่งเสริมธุรกิจบนฐานดิจิทัลต่อไป”
นายธนกร วังคงบุญชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเยี่ยมชมการดำเนินงาน ด้านดิจิทัลของเทศบาลเมืองแม่เหียะ ซึ่งเป็นหน่วยงานนำร่องระบบบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้เกิดแนวคิดโครงการการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัล ดำเนินการโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมมือกับเทศบาลเมืองแม่เหียะ เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีระบบช่วยในการทำงานและส่งเสริมให้มีระบบบริหารงานในการอำนวยความสะดวก เป็นระบบบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประกอบด้วย 5 ระบบ คือ ระบบบริหารจัดการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (OSS) , ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ E-OFFICE , ระบบขออนุญาตก่อสร้างออนไลน์ , ระบบหนังสือรับรองการแจ้งฯ ออนไลน์ และระบบชำระค่าธรรมเนียมขยะออนไลน์
ทั้งนี้ เทศบาลเมืองแม่เหียะ ได้มีการดำเนินการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับการบริหารในมิติต่าง ๆ อาทิ Dashboard ข้อมูลการให้บริการประชาชนของฝ่ายต่าง ๆ การให้บริการในระบบ Online ระบบข้อมูลสนับสนุนการบริหารงานของผู้บริหาร การจัดทำแผนที่ 3D Model และการดำเนินการของศูนย์บริการเป็นเลิศจนเกิดเป็น “แม่เหียะโมเดล” นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน
ภายหลังรับฟังบรรยายสรุป และเยี่ยมชมผลการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ภายในเทศบาลแม่เหียะนายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชม ยกให้เป็นตัวอย่างความเข้มแข็งของการบริหารส่วนท้องถิ่น ถือเป็นความสำเร็จในการขับเคลื่อนด้านดิจิทัล นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
ทำให้ง่ายต่อการติดต่อราชการ รวมทั้งการเข้าถึงข้อมูลในทุก ๆ ด้าน ขอให้พัฒนาต่อไปให้ครอบคลุม พร้อมกับย้ำให้สร้างการรับรู้ให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ขอให้ท้องถิ่นใช้ทรัพยากรในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยดูแลประชาชน โดยเฉพาะการเข้าถึงสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชน เพราะเป็นส่วนราชการที่ใกล้ชิดกับประชาชนในท้องถิ่นมากที่สุด