ผู้พันเบิร์ด เล่าเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ เผยวิธีทรงงาน "ในหลวง" ปัจจุบัน
"ผู้พันเบิร์ด" ร่วมถ่ายทอดเรื่องราวสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย เผย เราชินกับการทรงงานของ ร.9 เหมือน คนไทยที่ชินกับการทรงงาน ร.5 ในขณะที่ ร.6 เชี่ยวชาญต่อสถานการณ์โลก ส่วน "ในหลวง" ปัจจุบันทรงงานอาจต่างหรือเหมือนกันก็ไม่แปลก ที่สำคัญ เป็นการสืบสานรักษาต่อยอด
พ.อ.วันชนะ สวัสดี รองโฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะจิตอาสา 904 พบปะพูดคุย ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในหัวข้อร่วมกันว่า จิบกาแฟ แลสยาม ที่ ร้านกาแฟ ภักดี โดยระบุถึงรัชกาล 6 กับ ความเชี่ยวชาญต่อสถานการณ์โลกในการแก้ไขข้อเสียเปรียบในสนธิสัญญาที่ไทยเสียเปรียบว่า
ตั้งแต่พิธีบรมราชาภิเษก 2562 จนปัจจุบันก็ผ่านมาเพียง3ปี ถือได้ว่าเป็นช่วงต้นรัชกาล ในขณะที่คนส่วนมากในประเทศไทย คุ้นชินกับการทรงงานที่ที่ยาวนานของรัชกาลที่9 กล่าวได้ว่า เกิดมาจำความได้ ก็เห็นรัชกาลที่9 ทำงานแล้ว ทำให้ตนนึกย้อนกลับไปว่า พระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งที่ทรงงานนานคือ รัชกาลที่5 คนในยุคนั้นก็คุ้นชินเช่นกัน
ดังนั้นในต้นรัชกาลที่6 กับ ต้นรัชกาลปัจจุบันจึงมีความเหมือนกัน ที่เราต่างคุ้นชินกับวิธีทรงงานของรัชกาลก่อน แต่เมื่อมองย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่6 ก็ได้ทราบว่าพระองค์ได้พัฒนาและทำให้สยามเป็นปึกแผ่นมั่นคง ด้วยการทรงงานที่ต่างออกไปจาก ร.5 เพราะสถานการณ์ต่างกัน เช่นเดียวกับปัจจุบันที่การทรงงานของ ในหลวง จึงอาจต่างหรือเหมือนกันก็ไม่แปลก ที่สำคัญ เป็นการสืบสานรักษาต่อยอด
เมื่อกล่าวถึง ร.6 พระองค์จบการศึกษาทางทหารที่ ประเทศอังกฤษ คือ โรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนด์เฮิสต์ (อังกฤษ: Royal Military Academy Sandhurst) หรือชื่อในอดีตคือ ราชวิทยาลัยการทหารแซนด์เฮิสต์ (Royal Military College, Sandhurst)
หลังจากจบการศึกษาพระองค์ไปรับราชการที่กรมทหารราบ ที่เมืองเดอแรม จากนั้นจึงกลับมาไทย ในขณะนั้นก็เกิดสงครามโลกครั้งที่1 ไทยได้ส่งทหารเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในครั้งนั้นด้วย เหตุเพราะ ความเชี่ยวชาญสถานการณ์โลก และการเมืองระหว่างประเทศ ของ ร.6 หลังจากเสร็จสิ้นสงครามฝ่ายสัมพันธมิตรชนะ ไทยจึงยกเลิกสนธิสัญญาที่ทำกับเยอรมนีและออสเตรีย -ฮังการี ซึ่งไทยเสียเปรียบและไทยก็ได้พยายามขอเจรจาข้อแก้ไขสนธิสัญญาฉบับเก่า ซึ่งทำไว้กับอังกฤษ ฝรั่งเศส และ ชาติอื่นๆ ที่ไทยเสียเปรียบด้วย แต่ก็ทำได้ยากและลำบาก กว่าจะเรียบร้อยก็ใช้เวลานานแม้ผ่านรัชกาลแล้วก็ยังไม่เรียบร้อย แต่ก็สานต่อ จากรัชกาลสู่รัชกาลจนเสร็จ
เรื่องแทรกเล็กๆคือ เพื่อนของ ร.6 ที่สมัยเรียนที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนด์เฮิสต์ ก็ไปรบที่ สงครามโลกหลายคน บางคนเสียชีวิต บางคนพิการ ร.6 ได้ส่งเงินส่วนพระองค์ จำนาน 10,000 ปอนด์ไปช่วยเพื่อนและครอบครัวของเพื่อนทหารที่อังกฤษ การช่วยเหลือครั้งนี้ถือเป็นไมตรีระหว่างเพื่อนกับเพื่อน ความทราบไปถึง สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร พระเจ้าจอร์จจึงส่งโทรเลขขอบคุณและส่งชุดทหารของ กรมทหารราบเดอแรมและพระราชทานยศนายพลเอกให้กับ ร.6 แล้วบอก ว่า "ถ้า ร.6 จะใส่ชุดทหาร ก็ขอให้ใส่ชุดนี้ด้วย "
และเมื่อครั้งที่ ร.6 เสด็จเยือนรัฐมลายู ซึ่งตอนนั้นเป็นเมืองขึ้นของสหราชอาณาจักร พระองค์ก็ได้สวมชุด ทหารนี้ด้วย สร้างความประทับใจและสร้างการรับรู้อย่างกว้างขวางถึงความเป็นมิตรที่สนิทกัน ระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรอีกด้วย
กุสโลบายที่แยบยลลึกซึ้งแบบนี้เราจะได้เห็นเป็นประจักจากการทรงงานของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์