มทร.อีสาน โชว์รถไฟฟ้าต้นแบบ ดันขอนแก่นเมืองนวัตกรรมขนส่งไร้น้ำมัน
มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่นจับมือบริษัท ช.ทวี เปิดตัวรถรางไฟฟ้าแอลอาร์ที และบัสไฟฟ้า ที่เน้นการสร้างจากวัสดุและฝีมือคนไทย พร้อมผลักดันขอนแก่นให้เป็นต้นแบบเมืองนวัตกรรมระบบราง
เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 65 ที่อาคารปฏิบัติการซ่อมบำรุงรถไฟ หรือ เดปโป ตั้งอยู่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ได้โชว์นวัตกรรมระบบขนส่งที่เป็นผลงานการวิจัยของมหาวิทยาลัย มีทั้งรถรางไฟฟ้าแอลอาร์ทีต้นแบบ และรถบัสไฟฟ้า ที่เป็นฝีมือการออกแบบและผลิตโดยคนไทย
สำหรับรถบัสไฟฟ้าดร.ไพวรรณ เกิดตรวจหัวหน้าโครงการวิจัยอาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น กล่าวว่า รถบัสไฟฟ้าคันนี้ เป็นผลงานการวิจัยที่ได้รับงบประมาณจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่ต้องการให้การสนับสนุนนักวิจัยได้สร้างผลงานอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และต่อยอดยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดขอนแก่น ที่ต้องการให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายการเดินทางในเขตเมือง หันมาใช้บริการรถสาธารณะ ลดปัญหาการจราจรในเขตเมืองและช่วยลดมลพิษทางอากาศ โดยฝีมือคนไทย
“รถบัสไฟฟ้าคันนี้เป็นไมโครซิตี้บัสชนิดพื้นต่ำ ระบบกักเก็บพลังงานเป็นแบบไฮบริด จึงทำให้สามารถทำระยะทางได้มากกว่าการใช้แบตเตอรี่อย่างเดียว จากการทดสอบเป็นไปตามที่ทางคณะวิจัยได้ออกแบบไว้ คือ ทดสอบเส้นทางวงแหวนรอบเมือง สามารถทำความเร็วได้ที่ 250-300 กิโลเมตรต่อการชาร์ท 1ครั้ง โดยรถบัสไฟฟ้าคันนี้ถูกออกแบบให้ใช้บริการขนส่งในเขตเมือง เชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นๆทั้งสนามบิน บขส. ข้อดีคือไม่มีเครื่องยนต์ จึงทำให้ไม่มีมลพิษ บรรทุกผู้โดยสารได้ประมาณ 30 คนต่อ 1 เที่ยว มีการออกแบบประตูให้มีขนาดกว้าง มีทางลาดให้สะดวกกับการขึ้นลงของผู้โดยสารทุกคน” ดร.ไพวรรณ กล่าว
ด้าน ดร.ศุภฤกษ์ ชามงคลประดิษฐ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มีงานวิจัยที่เกี่ยวกับระบบขนส่งที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง มีอาคารปฎิบัติการซ่อมบำรุงรถไฟ หรือที่เรียกว่า เดปโป เป็นอาคารเรียนที่รวมแหล่งความรู้ระบบขนส่ง ตั้งอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น จุดประกายให้เกิดการสร้างระบบขนส่งแบบรางเป็นการเดินรถไฟฟ้า ที่ใช้เป็นโมเดลทางธุรกิจของจังหวัดขอนแก่น ต่อยอดมาเป็นรถรางไฟฟ้าแอลอาร์ที ที่ใช้ระบบไฟฟ้าและแบตเตอรีในการเดินรถ ต้นแบบแห่งแรกของประเทศ โดยฝีมือคนไทย ออกแบบและผลิตในอีสาน โดยได้รับการสนับสนนุงบประมาณณจากรัฐบาลไปแล้วกว่า 130 ล้านบาท พร้อมผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมระบบรางขึ้น ถือเป็นการยกระดับ รวมถึงทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ขึ้นในระยะยาวด้วย