โคราชเตือน 2 อำเภอเฝ้าระวัง "น้ำท่วม" หลังอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 4 แห่งล้นแล้ว
ด่วนที่สุด! โคราชแจ้งเตือน 2 อำเภอเฝ้าระวัง "น้ำท่วม" หลังอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 4 แห่งล้นแล้ว ขณะที่ ชป.จังหวัด เผย 2 ปีนี้ฝนเปลี่ยนทิศไปตกในพื้นที่อับฝนมากผิดปกติ เร่งรื้อฝายแก้ภัยแล้งปรับโครงสร้างรองรับ
โคราช - เมื่อช่วงเย็นวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 นายภูมิสิทธิ์ วังคีรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ปฏิบัติราชการแทน นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ออกหนังสือด่วนที่สุด ประกาศแจ้งเตือนให้พื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.พิมาย และ อ.ห้วยแถลง เฝ้าระวัง "น้ำท่วม" โดยข้อความในประกาศระบุว่า
ตามที่กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา ได้รับแจ้งจากโครงการชลประทานนครราชสีมา ว่า ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้ออกประกาศแจ้งว่า ช่วงวันที่ 20-24 กรกฎาคม 2565 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น
ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ทำให้พื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำฝน มีปริมาณน้ำท่าไหลลงอ่างเก็บน้ำจำนวนมาก โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำลำฉมวก ตำบลหลุ่งประดู่ อำเภอห้วยแถลง มีปริมาณน้ำท่าไหลลงอ่างฯอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทำให้ปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างฯเกินปริมาตรความจุเก็บกัก หรือมากกว่า 100% ของความจุเก็บกัก จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำออกเพื่อรักษาเสถียรภาพของอ่างเก็บน้ำฯ และเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำฯ เป็นไปตามเกณฑ์ Rule Curve โค้งปฏิบัติการ
ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา จึงส่งโทรสารด่วนที่สุด เลขที่ นม (กปภจ) 0021/ว 190 ถึงนายอำเภอห้วยแถลง และนายอำเภอพิมาย ในฐานะผู้อำนวยการอำเภอ โดยให้อำเภอห้วยแถลง แจ้งเตือนประชาชนในเขตพื้นที่ตำบลหลุ่งประดู่ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำลำฉมวก ให้เฝ้าระวังระดับน้ำในลำน้ำธรรมชาติ "ลำฉมวก" และติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำกับติดตามพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
ส่วนอำเภอพิมาย ให้แจ้งเตือนประชาชนในเขตพื้นที่ตำบลนิคมสร้างตนเอง ตำบลหนองระเวียง และตำบลในเมือง ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำลำฉมวก ให้เฝ้าระวังระดับน้ำในลำน้ำธรรมชาติ "ลำจักราช" และติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ กับติดตามพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ให้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่มีอาคารบังคับน้ำในพื้นที่ลำฉมวกและลำจักราช ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเสริมคันดินกั้นน้ำทั้งสองฝั่งลำน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันน้ำท่วม พร้อมทั้งจัดหาและสนับสนุนกระสอบทรายให้กับประชาชน เพื่อป้องกันน้ำไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่สำคัญ รวมถึงให้แจ้งเตือนพี่น้องประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง และให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของราชการอย่างใกล้ชิดด้วย
ซึ่งกรณีที่ประเมินสถานการณ์แล้วพบว่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ให้สั่งอพยพประชาชนไปยังจุดอพยพที่จัดเตรียมไว้ทันที และหากเกิดสาธารณภัยขึ้นจริง ให้ถ่ายภาพและรายงานสถานการณ์ ความเสียหาย ผลกระทบที่เกิดขึ้น และการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา ทราบทันทีจนกว่าสถานการณ์จะสิ้นสุด
ขณะเดียวกันวันนี้ (21 กรกฎาคม 2565) นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ว่า อ่างเก็บน้ำในพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีทั้งหมด 54 แห่ง โดยแบ่งออกเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 27 แห่ง
ซึ่งจากสถานการณ์ฝนที่ตกลงมาต่อเนื่องระยะนี้ ล่าสุดวันนี้ก็ทำให้อ่างเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำเกินความจุกักเก็บแล้ว จำนวน 4 แห่ง โดยทั้ง 4 แห่งนี้เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยยางพะไล อ.แก้งสนามนาง, อ่างเก็บน้ำห้วยสะกาด อ.พิมาย, อ่างเก็บน้ำลำฉมวก อ.ห้วยแถลง และอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเค็ม อ.บัวใหญ่ ซึ่งขณะนี้ได้มีการประกาศแจ้งเตือนล่วงหน้าไปยังประชาชนที่อยู่ในลุ่มน้ำท้ายอ่าง ให้เฝ้าระวังน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม อาคารระบายน้ำทุกอ่างก็มีการพร่องน้ำไปในปริมาณไม่มากนัก จะเป็นห่วงก็เฉพาะปริมาณน้ำฝนที่ตกแช่ในพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำเท่านั้น
ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว, อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย, อ่างเก็บน้ำลำมูลบน อ.ครบุรี และอ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี ขณะนี้มีปริมาณน้ำกักเก็บรวมอยู่ 522 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 885 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ยังสามารถรองรับน้ำฝนได้อีกมาก
นายกิติกุล กล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้จากข้อมูลปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ตั้งแต่ต้นปีถึงขณะนี้ มีปริมาณฝนตกลงมาแล้วทั้งหมด 646 มิลลิเมตร หรือคิดเป็นปริมาณ 62% ของปริมาณน้ำฝนสะสมตลอดทั้งปี ซึ่งถือว่าไม่มากนัก แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือช่วง 2 ปีหลังมานี้ จะพบว่าทิศทางฝนตกหนักจะเปลี่ยนไปอยู่ในพื้นที่อับฝนในอดีต เช่น บริเวณ อ.บัวใหญ่ อ.ด่านขุนทด และ อ.ห้วยแถลง
ซึ่งปกติแล้วพื้นที่ดังกล่าวจะมีการวางโครงสร้างระบบชลประทานไว้รองรับสำหรับการแก้ปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากเป็นพื้นที่อับฝน จึงมีการสร้างฝายน้ำล้นไว้ตามคลองต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก แต่ช่วง 2 ปีมานี้ปรากฏว่ามีเงาฝนมาก่อตัวอยู่บริเวณดังกล่าว และเกิดฝนตกในปริมาณมากกระจุกตัวอยู่เป็นเวลานาน จึงทำให้น้ำที่ไหลลงสู่คู คลองต่าง ๆ ที่วางโครงสร้างไว้สำหรับรองรับภัยแล้งไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน และก่อให้เกิดน้ำล้นตลิ่งไปท่วมพื้นที่การเกษตร และบ้านเรือนประชาชนที่ตั้งอยู่ในที่ลุ่มบางส่วน
ขณะนี้ทางสำนักงานชลประทานจังหวัดนครราชสีมา ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรื้อฝายน้ำล้นที่ขวางทางน้ำบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำขนาดกลางสำคัญ ๆ เช่น อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน อ.ด่านขุนทด และอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง อ.โนนไทย เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้อย่างคล่องตัวขึ้น เป็นการปรับโครงสร้างจากป้องกันภัยแล้ง เป็นป้องกันน้ำท่วมแทน
ข่าวโดย ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ จ.นครราชสีมา