พระประวัติ ม.จ.ภีศเดช รัชนี พระอนุวงศ์อาวุโสที่เป็นที่เคารพในราชสำนักไทย

พระประวัติ ม.จ.ภีศเดช รัชนี พระอนุวงศ์อาวุโสที่เป็นที่เคารพในราชสำนักไทย

พระประวัติ ม.จ.ภีศเดช รัชนี พระอนุวงศ์อาวุโส ภายหลังจากที่ หม่อมเจ้าภีศเดช สิ้นชีพิตักษัยแล้วเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2565 เวลา 03.00 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช สิริชันษา 100 ปี

หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี สิ้นชีพิตักษัยแล้วเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2565 เวลา 03.00 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช สิริชันษา 100 ปี ทรงเป็นพระอนุวงศ์อาวุโสที่เป็นที่เคารพยิ่งในราชสำนักไทยมาเป็นเวลานาน จากที่เคยถวายงานสนองพระเดชพระคุณมาแต่รัชกาลก่อนๆ ท่านภีฯ ทรงเป็นเจ้านายฝ่ายหน้าของไทยที่ทรงเจริญชันษาขึ้นหลักร้อยพระองค์แรกในรอบทศวรรษ และยังเป็นพระอนุวงศ์สายบวรราชสกุลพระองค์สุดท้าย

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

- ม.จ.ภีศเดช รัชนี อดีตประธานมูลนิธิโครงการหลวง สิ้นชีพิตักษัย

 

หม่อมเจ้าภีศเดช (ประสูติ 20 มกราคม 2465) ทรงเป็นพระโอรสในพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ โดยทรงเป็นพระนัดดาในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) พระองค์สุดท้ายแห่งสยาม พระมารดาคือหม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ วรวรรณ พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ท่านภีฯ จึงทรงเป็นพระราชปนัดดาในทั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระเชษฐภคินีร่วมครรภ์โภทรคือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต

 

เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ และวชิราวุธวิทยาลัยในช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนเสด็จไปศึกษาที่ดัลลิช คอลเลจ กรุงลอนดอน และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ช่วงเจริญพระชนม์นั้น ท่านภีฯได้พบพานเหตุการณ์ต่างๆที่ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงพระองค์เองเพื่อความอยู่รอด ทั้งเรื่องการประทับอยู่ต่างแดน และการปรับพระองค์ในช่วงสงคราม ทรงรับบทมาหลากหลายรูปแบบ ทั้งทหาร ชาวบ้าน และสายลับให้กองทัพอังกฤษ

 

เมื่อช่วงที่ไทยต้องเข้าร่วมกับญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้สถานะพลเรือนและเจ้านายไทยในต่างแดน โดยเฉพาะชาวไทยที่อาศัยอยู่ทั้งในสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ซึ่งอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับญี่ปุ่น ประสบปัญหาในการดำรงชีวิตอยู่

 

กระทั่งช่วงเวลาหนึ่งที่ชาวไทยจำนวนหนึ่งรวมตัวกันเข้าร่วมกับกองทัพอังกฤษ เพื่อร่วมแสดงจุดยืนการเป็นปฏิปักษ์กับกองทัพฝ่ายอักษะ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการไทยเสรี (หรือที่เรียกกันต่อมาว่า “เสรีไทย”) ท่านภีฯ ก็ทรงร่วมกับกลุ่มขบวนการเพื่อเข้ากับกองทัพอังกฤษ ทรงผ่านการฝึกจนช่ำชองและได้โอกาสคืนถิ่นสู่ดินแดนไทยครั้งแรก หากแต่ในฐานะ “นายมั่น” ชาวบ้านธรรมดา

 

นายมั่นและพรรคพวกร่วมสอดแนมและส่งข้อมูลของการดำเนินการทางทหารของกองกำลังญี่ปุ่นให้กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นอย่างดี กระทั่งสงครามโลกสิ้นสุดเนื่องจากญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามจากการถูกทิ้งระเบิดปรมาณูโดยสหรัฐอเมริกา ขบวนการเสรีไทย มีอำนาจต่อรองว่าไทยเองไม่เคยเป็นศัตรูเฉกเช่นญี่ปุ่น ทำให้ไทยรอดพ้นชะตากรรมแบบผู้แพ้สงครามอย่างญี่ปุ่นมาได้

 

หลังสงคราม ทรงศึกษาต่อด้านนิติศาสตร์ก่อนเปลี่ยนไปศึกษาต่อด้านประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ที่วิทยาลัยทรินิตี มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กระทั่งสำเร็จการศึกษาและเสด็จนิวัติประเทศไทย ทรงทำงานในบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย ในแผนกขายต่างจังหวัด ก่อนดำรงตำแหน่งผู้จัดการด้านโฆษณา ในปี 2491 ท่านภีฯ เสกสมรสกับหม่อมราชวงศ์ดัชรีรัชนา วรวรรณ (ธิดาในหม่อมเจ้านิตยากร วรวรรณ กับหม่อมแก้ว เอี่ยมจำนงค์ และเป็นพระนัดดาในเสด็จในกรมนราธิปประพันธ์พงศ์เช่นกัน) มีธิดา 2 คน และโอรส 1 คน

 

ท่านภีฯ ทรงมีความสนิทสนมกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 กับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งประทับอยู่ต่างประเทศ ซึ่งได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และเข้าเฝ้าบ่อยครั้ง กระทั่งเมื่อสมเด็จฯเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นสืบราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ท่านภีฯ จึงทรงเป็นอีกพระองค์หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญกับการขับเคลื่อนพระราชกรณียกิจ รวมไปถึงพระชนม์ชีพส่วนพระองค์ด้วย

 

ในด้านการสนับสนุนพระราชกรณียกิจ และพระบรมราโชบายในการดำเนินโครงการในพระราชดำริเพื่อพัฒนาประเทศในยุคนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริในการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขา เพื่อเป็นการหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น ท่านภีฯ จึงก้าวเข้าสู่บทบาทการเป็นประธานโครงการหลวง และคอยถวายงานและตามเสด็จตามพื้นที่ท้องถิ่นตลอดหลายสิบปีในภัทรมหาราชาสมัย

 

นอกจากนี้ ด้วยประสูติในครอบครัวนักเขียน ทรงเจริญรอยตามพระบิดา พระมารดา และพระเชษฐภคินี ในฐานะนักเขียนที่มีผลงานหนังสือนิพนธ์ โดยทรงใช้นามปากกาว่า ภ.ณ ประมวญมารค ตามอย่างพระเชษฐภคินีที่ทรงใช้นามปากกา "ว. ณ ประมาญมารค"

 

หม่อมเจ้าภีศเดช ได้รับการถวายรางวัล ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรผู้ทรงภูมิปัญญาและมีคุณูปการต่อภาคการเกษตรไทย ปี 2554 จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากที่ทรงมีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ในระดับประเทศและระดับนานาชาติ และมีคุณูปการต่อภาคการเกษตรไทย โดยส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่เกษตรกรบนพื้นที่สูง ทดแทนการปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งส่งผลให้ลดการทำลายธรรมชาติลง และเป็นการรักษาผืนดินให้อุดมสมบูรณ์ได้